ในช่วงที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล กำลังเดินสายพบปะผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น เพื่อร่วมรับฟังข้อเสนอแนะสำหรับเดินหน้ากระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 นั้น
ปรากฏว่าประธานองค์การพูโล นายกัสตูรี่ มาห์โกตา ซึ่งเคยร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำ "มารา ปาตานี" ได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่งผ่านข้อเสนอเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุย ซึ่ง กัสตูรี่ ใช้คำว่า "กระบวนการเจรจา"
ข้อความจากประธานพูโล ระบุเอาไว้แบบนี้...
"สวัสดีทุกๆ ท่าน เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศ สถานการณ์ และสภาพความเป็นจริงของกระบวนการแก้ปัญหาในปาตานีที่เริ่มต้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็ยังไม่ปรากฏสัญญาณใดๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม แม้ว่าจะดำเนินไปอย่างราบรื่นก็ตาม
ดังนั้นผมคิดว่าสมควรที่จะต้องคิดค้นการเปลี่ยนแปลงขึ้น บังเอิญกระบวนการนี้นำโดยผู้อำนวยความสะดวก (ตันศรี ราฮิม นูร์ ; หมายถึงผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลมาเลเซีย ชุดที่มี ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี) อีกครั้ง จึงสมควรที่จะมีการคิดการสร้างแบรนด์และการปรับโครงสร้างด้วยแนวทางและวิธีการใหม่ๆ ที่แตกต่างจากก่อน เพื่อ "ชุบตัวใหม่" และค้นหาแรงผลักดันใหม่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งดีและไม่ดี ซึ่งจะเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ในการกำหนดขั้นตอนต่อไปที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืนในที่สุด
สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ : -
1. เลือกประเด็นพื้นฐานเพื่อเริ่มการเจรจา
2. ค้นหากลไกที่ชัดเจนที่องค์กรเคลื่อนไหวทั้งแนวร่วมทุกฝ่าย และองค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งนักการเมืองและนักวิชาการชาวมลายูปาตานี เข้าร่วมในกระบวนการเจรจา
3. ให้เปลี่ยนชื่อกระบวนการเจรจาเสียใหม่ที่สามารถช่วยทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาอย่างครอบคลุม
4. กำหนดโครงสร้างใหม่ของกระบวนการเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างจะได้มีส่วน (ในกระบวนการเจรจา) ให้มีความหมาย (และประสิทธิภาพ) ยิ่งขึ้น
หวังว่าด้วยการพิจารณาของทุกๆ ท่านในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เราจะสามารถก้าวไปสู่การก่อตัวของระบบการปกครองปาตานีที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรืองที่อยู่ภายใต้การดูแลของภาคีระหว่างประเทศและท้องถิ่น"
ในวันเดียวกับที่ นายกัสตูรี่ โพสต์ข้อความ ได้มีเพจเฟซบุ๊กในเครือข่ายโพสต์ภาพธงพูโล เป็นรูปเสี้ยวจันทร์ และดาว 4 ดวง พร้อมเขียนข้อความว่า PATANI TETAP MERDEKA หมายความว่า ปัตตานีเอกราชแน่นอน!
ถอดรหัส "สารจากกัสตูรี่"
สำหรับนัยระหว่างบรรทัดที่ประธานพูโลพูดถึงทั้งหมดนี้ ถอดรหัสได้ว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขกำลังจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง โดยมีผู้อำนวยความสะดวกคนเดิม คือ ตันสรี อับดุลราฮิม บิน โมฮาหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของมาเลเซีย ฉะนั้นในห้วงของการเริ่มต้นใหม่นี้ จึงควรจัดองค์ประกอบของคณะพูดคุยเสียใหม่ โดยเฉพาะฝ่ายผู้เห็นต่าง ให้เปลี่ยนชื่อกระบวนการเจรจา กำหนดโครงสร้าง รวมทั้งหากลไกที่จะดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมพร้อมเลือกประเด็นพื้นฐานเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจา
โดยนายกัสตูรี่ อ้างเหตุผลว่า เพื่อให้กระบวนการเจรจาแก้ไขปัญหาปาตานีมีความคืบหน้ามากกว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา
เป็นที่น่าสังเกตว่า นายกัสตูรี่ เป็นหนึ่งในแกนนำ "มารา ปาตานี" ซึ่งกลุ่มมาราฯ มีสถานะเป็น "องค์กรร่ม" ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ตัดสินใจเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 58 ในรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงต้นปี 62 ก่อนที่กระบวนการจะหยุดชะงักไป โดยคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะ 1 ครั้ง จาก พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ (อ่านประกอบ : "สุกรี ฮารี" ไขก๊อกหัวหน้าคณะพูดคุยฯฝั่ง "มาราฯ" จับตารื้อสองฝ่าย)
แต่โต๊ะพูดคุยที่ได้เปิดขึ้นใหม่ช่วงต้นปี 63 คู่เจรจาไม่ใช่ "มารา ปาตานี" แต่เปลี่ยนเป็น "บีอาร์เอ็น" นำโดย อุสตาซ หีพนี มะเร๊ะ หรือ Mr.Anas Abdulrahman โดยองค์ประกอบของคณะพูดคุยฯฝั่งผู้เห็นต่างฯ ล้วนเป็นตัวแทนจากบีอาร์เอ็น ไม่มีกลุ่มอื่นร่วมด้วยเลย (อ่านประกอบ : "พล.อ.วัลลภ" นำทีมเปิดโต๊ะพุดคุยตัวแทนบีอาร์เอ็นที่มาเลย์, เปิดเส้นทางโต๊ะพูดคุยสันติสุขรอบใหม่ ใครเป็นใครในคณะ BRN)
ฉะนั้นการออกมาขยับตัวแสดงท่าทีของนายกัสตูรี่ อาจหมายถึงการส่งสัญญาณขอมีส่วนร่วมในโต๊ะพูดคุยรอบใหม่ที่จะมีขึ้นหลังผ่านวิกฤตการณ์โควิด โดยประธานพูโลอยากให้มีภาคีระหว่างประเทศร่วมรับรอง
"บิ๊กลภ"เดินสายรับฟังผู้นำศาสนา-ท้องถิ่น
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ได้เดินสายเข้าพบผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุย และแนวทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจรับฟังข้อมูลจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐผ่านทางกลุ่มผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.ย.63 ได้เข้าพบ นายสะมะแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา โดยมีกรรมการอิสลาม และผู้นำศาสนาในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาเป็นผู้ที่ประชาชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ให้ความเคารพ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน และทราบปัญหาของคนในพื้นที่อย่างดีที่สุด โดยท่านได้เสนอปัญหาและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ทั้งเรื่องการศึกษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการสร้างความเข้าใจทั้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเอง และระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่คณะพูดคุยฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะต้องการทราบถึงปัญหาทุกข์สุขของประชาชน เพื่อจะได้ประมวลปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาทางออก อันจะนำไปสู่การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
จากนั้นคณะพูดคุยฯ ได้เดินทางไปยังศูนย์ฝึกกองกำลังประจำถิ่นท่าสาป ต.ท่าสาป อำเภอเมือง จ.ยะลา เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้กำลังใจการปฏิบัติงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นจาก จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา
นายนิอับดุลเลาะ ตูวี เลขาธิการสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดยะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯลงมาพบปะและรับฟัง ถือว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของการแกไขปัญหาในพื้นที่ และเป็นตัวแทนของประชาชนที่ร่วมสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น
ใต้ยังป่วนเผากล้องวงจรปิด
สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงมีเหตุก่อกวนสร้างความปั่นป่วนเกิดขึ้นประปราย โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา รับแจ้งจากฝ่ายทหารว่ามีเหตุคนร้ายลอบเผาและโจรกรรมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี จำนวน 3 จุด 9 ตัว ได้แก่
จุดที่ 1 หน้ามัสยิดบ้านกาโสด หมู่ 5 บ้านกาโสด ต.บันนังสตา กล้องซีซีทีวีแบบโซลาร์เซลล์ (พลังงานแสงอาทิตย์) เสียหาย 1 ตัว
จุดที่ 2 หมู่ 6 บ้านบือซู ต.บันนังสตา บริเวณแยกบ้านเตี๊ย กล้องซีซีทีวีถูกโจรกรรมไป 4 ตัว
จุดที่ 3 หมู่ 6 บ้านบือซู ต.บันนังสตา แยกกลาบอ เผากล้องซีซีทีวี 4 ตัวได้รับความเสียหาย
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการสร้างสถานการณ์ก่อกวน และอาจเตรียมก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่
---------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 นายกัสตูรี่ กับธงพูโล (ขอบคุณ ภาพจากเฟซบุ๊ค นายกัสตูรี่)
2 พล.อ.วัลลภ ขณะเข้าพบประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา (ขอบคุณ ภาพจากคณะพูดคุยฯ)
3 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจเหตุเผาทำลายกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ขอบคุณ ภาพจากเจ้าหน้าที่)