เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปิดล้อม-ยิงปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ในพื้นที่บ้านบือแนจือแล หมู่ 2 ต.กอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ไม่ได้จบลงแค่การเสียชีวิตถึง 7 ศพของสมาชิกกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น
เพราะยังมีการติดตามจับกุม "ผู้สนับสนุน" ที่มีพฤติการณ์ให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่พยายามหลบหนีและยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่อย่างดุเดือดยืดเยื้อถึง 3 วันด้วย คือระหว่างวันที่ 14-16 ส.ค.63 จนมีการขนานนามว่า "ปฏิบัติการ 3 วัน" หรือ "ยุทธการพิทักษ์กอลำ"
โดยหลังจากการปะทะสิ้นสุดลง และกู้ศพ 7 ศพออกมาชันสูตร รวมทั้งส่งให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนาเป็นที่เรียบร้อย ด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่ชุดพิสูจน์หลักฐานได้เข้าไปตรวจสอบ "ที่พักชั่วคราว" ในป่าละเมาะกลางทุ่งนา ซึ่งกลุ่มติดอาวุธใช้ซ่อนตัวและปักหลักยิงสู้กับเจ้าหน้าที่ พบหลุมที่ถูกขุดเอาไว้ฝังเสื้อผ้า อุปกรณ์ดำรงชีพในป่า และอุปกรณ์ประกอบระเบิด มากถึง 9 หลุม
ทำให้สรุปได้ว่าจุดที่ยิงปะทะครั้งนี้ไม่ใช่แค่ "ที่พักชั่วคราว" แต่เป็น "ฐานที่มั่นกึ่งถาวร" ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวในเขต "ปัตตานีตะวันตก" เลยทีเดียว (อ่านประกอบ : แนวป่าจุดปะทะยะรัง ที่แท้ฐานปฏิบัติการกึ่งถาวร "ปัตตานีตะวันตก")
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับไม้ต่อจากฝ่ายทหาร เพื่อติดตามจับกุม "กลุ่มผู้สนับสนุน" ที่คอยให้ความช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธที่ยิงสู้กับเจ้าหน้าที่ โดยหนึ่งในนั้นคือ "น.ส.ม๊ะซง" (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
ตำรวจ สภ.บ้านโสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 รับหน้าที่ไปเชิญตัว "ม๊ะซง" จากบ้าน ภายหลังสืบทราบว่าเป็นผู้จดทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือให้กับหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ
เรื่องของเรื่องก็คือ เจ้าหน้าที่ไปพบซิมการ์ดอันนี้ในกระเป๋าเสบียงของ นายอาหามะ จาจ้า หนึ่งในผู้เสียชีวิต จึงสืบสวนหาข้อมูลกระทั่งทราบว่า "ม๊ะซง" เป็นผู้จดทะเบียนซิมการ์ดอันนี้ จึงนำกำลังเข้าไปเชิญตัวมาสอบปากคำ
จากการซักถามเบื้องต้น "ม๊ะซง" ยอมรับว่า เธอเป็นภรรยาของ อาหามะ จาจ้า สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบคนสำคัญ ซึ่งมีหมายจับในคดีความมั่นคง 12 หมาย กับหมาย ฉฉ. (ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) อีก 2 หมาย และ "ทีมข่าวอิศรา" ยังตรวจสอบพบว่า นายอาหามะ จาจ้า ติดโผ "75 มือปืนเมืองไทย" ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดตามตัวมากที่สุดด้วย โดยเขามีชื่อตามประกาศอยู่ในลำดับที่ 24 (อ่านประกอบ : เปิดประวัติ อาหามะ จาจ้า 1 ใน 7 ถูกวิสามัญฯ ติดโผมือปืนระดับประเทศ)
จากการซักถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สภ.ทุ่งยางแดง พื้นที่บ้านของ "ม๊ะซง" เธอยอมรับเพิ่มเติมว่า ได้แต่งงานอยู่กินฉันท์สามีภรรยากับ นายอาหามะ จาจ้า ตั้งแต่ปี 53 และมีบุตรด้วยกัน 1 คน แต่เสียชีวิตด้วยอาการป่วยเมื่ออายุได้ 1 ปี 8 เดือน
เรื่องราวชีวิตของ "ม๊ะซง" ที่เธอยอมเล่าให้เจ้าหน้าที่ฟัง คือวิถีแห่งการเป็นภรรยาของบุคคลที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบที่ตัดสินใจต่อสู้กับรัฐโดยใช้อาวุธ
เธอเล่าว่า สามีต้องหนีออกจากบ้าน เพราะเริ่มมีการนำรูปของสามีมาติดบริเวณใกล้บ้าน คล้ายๆ เป็นป้ายประกาศจับ แต่แม้สามีจะออกจากบ้านไปแล้ว ก็ยังติดต่อกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ!
"ม๊ะซง" ยังยอมรับกับเจ้าหน้าที่ว่า คอยให้การสนับสนุนสามี ด้วยการส่งของ ซื้อซิมการ์ด และสิ่งของอื่นๆ ให้ตลอดเวลา และบางครั้ง นายอาหะมะ ได้เดินทางมานอนที่บ้านประมาณ 2-3 วันแล้วก็ไป โดยจะเลือกเดินทางมาช่วงเที่ยงๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่พักรับประทานอาหารกลางวัน
เธอเล่าอีกว่า ราวๆ สิ้นเดือน พ.ค.63 ได้ซื้อซิมการ์ด และส่งให้กับนายอาหะมะ บริเวณพื้นที่เขตรอยต่อระหว่าง ต.ลุโบะยิไร อ.มายอ กับ ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี และใช้ซิมการ์ดนี้ติดต่อกันเรื่อยมา โดยได้คุยกับสามีครั้งสุดท้ายเมื่อคืนวันที่ 13 ส.ค.63 ก่อนเกิดเหตุปะทะ จากนั้นอีกหลายวันต่อมาจึงทราบว่าสามีเสียชีวิต โดยเห็นจากภาพที่มีการแชร์ในสื่อออนไลน์ ซึ่งเธอจดจำสามีได้เป็นอย่างดี และได้ไปร่วมรับศพ รวมทั้งร่วมพิธีฝังศพนายอาหะมะด้วย
"ม๊ะซง" เคยให้สัมภาษณ์สั้นๆ กับ "ทีมข่าวอิศรา" ระหว่างไปรับศพสามีที่โรงพยาบาลยะรัง
"ได้คุยกันครั้งล่าสุดก่อนที่เขาจะตาย ก็ถือว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาแบบบนี้ ที่เกิดขึ้นกับเราและเขา"
ภายหลังรับศพและร่วมพิธีฝังศพนายอาหามะแล้ว "ม๊ะซง" เดินทางกลับบ้านที่ทุ่งยางแดง และถูกเจ้าหน้าที่เชิญตัวไปซักถาม เมื่อเธอยอมรับว่าเป็นผู้ซื้อซิมการ์ดส่งให้สามี จึงถูกดำเนินคดีฐานให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 และกระทำการฝ่าฝืนประกาศของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เรื่องการจดทะเบียนซิมการ์ด
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 บัญญัติว่า ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโสร่ง นำตัว "ม๊ะซง" ส่งอัยการ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานี ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 10 เดือน ปรับ 30,000 บาท แต่ "ม๊ะซง" ยอมรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 5 เดือน ปรับ 15,000 บาท สำหรับโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
แม้ว่า "ม๊ะซง" ได้กลับบ้าน แต่ก็ต้องไปรายงานตัวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามเงื่อนไขรอลงอาญาที่ศาลกำหนด และยังต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 15,000 บาท
คดีให้ความช่วยเหลือผู้ก่อความไม่สงบจากเหตุปะทะที่ ต.กอลำ นี้ ยังมีผู้ต้องหาอีก 2 คนที่ตำรวจกำลังทยอยนำตัวส่งฟ้องต่ออัยการ แต่ทั้งคู่ไม่ได้มีสถานะเป็นภรรยาคู่ชีวิตของคนตายเหมือน "ม๊ะซง"
นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวบุคคลเป้าหมายอีกอย่างน้อย 4-5 คน ส่งเข้ากระบวนการซักถาม และบันทึกประวัติ บางรายเจ้าหน้าที่ซักถามเสร็จแล้วจึงปล่อยตัวกลับบ้าน แต่บางคนก็ยังอยู่ระหว่างการควบคุมตัว
ทั้งหมดนี้คือควันหลงหลังเหตุการณ์ปะทะจนมีผู้เสียชีวิต 7 ศพที่กอลำ ยะรัง สะท้อนว่าสถานการณ์ความไม่สงบไม่ได้จบแค่สิ้นเสียงปืน และทุกคนที่อยู่ในวงจรนี้ ทั้งตัวผู้ก่อเหตุเองและคนรอบกาย...ล้วนมีวิถีที่เลือกแล้วแห่งตน!