พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กลายเป็นว่าที่ ส.ส.คนใหม่ ในช่วงที่การเมืองกำลังเข้าไต้เข้าไฟ รัฐบาลใกล้จะถูกรุกฆาตจากปัจจัยทั้งในและนอกสภา เหมือนหมากรุกบนกระดานที่ถูกม้า โคน เรือ โอบล้อมจนเกือบหมดตาเดิน
การก้าวเข้าสภาในฐานะผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของ พ.ต.อ.ทวี เป็นการขยับทางยุทธศาสตร์แน่นอน เพราะเขาเข้าไปทำหน้าที่แทน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค ซึ่งเป็น ส.ส.รุ่นลายคราม และผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง รวมถึงตำแหน่งอันทรงเกียรติสูงสุดอย่างประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร
จังหวะก้าวของ พ.ต.อ.ทวี และพรรคประชาชาติจึงนับว่าน่าสนใจ เพราะ นายวันมูหะมัดนอร์ ไม่ได้วางมือทางการเมือง และยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ เพียงแต่ส่งไม้ต่อให้ พ.ต.อ.ทวี เข้าไปมีบทบาทในสภาแทน (อ่านประกอบ : "วันนอร์" ประกาศทิ้งเก้าอี้ ส.ส. ดัน "ทวี" ผงาดลุยเกมสภา)
"ทีมข่าวอิศรา" สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.ป้ายแดง ถึงพันธกิจนับจากนี้ในฐานะผู้แทนราษฎร
O ตั้งใจอะไรไว้บ้างกับการที่จะเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา?
หวังว่าจะทำหน้าที่ที่รับผิดชอบทุกหน้าที่ให้ดีที่สุด การที่ท่านอาจารย์วันนอร์ได้ลาออกจาก ส.ส. บอกตรงๆ ว่าผมไม่เคยพูดกับอาจารย์ในเรื่องนี้เลย ผมคิดว่าท่านอาจารย์ได้ทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาอย่างดีที่สุด ไม่ได้เป็นแค่หัวหน้าพรรคประชาชาติ ผมคิดว่าท่านเป็นครูผู้ให้กับ ส.ส.ที่เป็นฝ่ายค้านทุกคน เท่าที่สัมผัสทั้งในสภาและนอกสภา เวลา ส.ส.มีปัญหาก็จะมาปรึกษาท่านอาจารย์ รวมทั้ง ส.ส.พรรครัฐบาลบาลด้วย ส่วนใหญ่ก็จะให้ความเคารพและท่านเป็นตัวอย่างที่ดี
ท่านอาจารย์ทำมาตรฐานไว้สูง ผมคิดว่าผมจะทำให้สำเร็จเหมือนกับท่านอาจารย์วันนอร์คงยาก พรรคประชาชาติเราไม่ยึดติดที่ตัวบุคคล แต่พรรคเราโชคดีที่ได้หลอมรวมผู้มีอุดมการณ์ และเราก็ต้องการจะทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทำให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดีมีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรของพรรคประชาชาติ เราจะได้ร่วมมือกันทำงานทั้งในสภาและนอกสภา โดยพรรคประชาชาติจะเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะการทำตามเจตนาที่จะสร้างพรรคตามอุดมการณ์ที่ได้ประกาศเอาไว้
O มองสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้อย่างไร?
ก็ต้องยอมรับว่าวันนี้ประเทศเราประสบปัญหาค่อนข้างมาก และปัญหาหนึ่งคือปัญหาประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาล และรัฐบาลมีความชอบธรรมน้อย การใช้อำนาจถ้าไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เสื่อม ยิ่งใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาก ยิ่งเสื่อมมาก เราก็จะเห็นว่าวันนี้มีกระแสที่ไม่ยอมรับทั้งในสภาและนอกสภา บทบาทของพรรคฝ่ายค้านโดยเราเป็นตัวแทนให้ประชาชน เราก็ต้องสะท้อนว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศนโยบายไว้ว่าจะทำให้ประชาชนนั้น จริงๆ ได้ทำหรือไม่ ถ้าเขาไม่ทำ เราก็ต้องไปบอกให้รัฐบาลทำ
ความอยู่รอดของพี่น้องประชาชนย่อมสำคัญกว่าความอยู่รอดของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลอยู่รอดแต่ประชาชนเกิดความลำบากและเห็นความแตกต่างได้ชัด อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พวกเราต้องทำหน้าที่ทั้งในและนอกสภา ต้องบอกรัฐบาล และที่สำคัญขณะนี้มีเรื่องเฉพาะหน้าเกิดขึ้น ก็คือเราจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ
O ตอนนี้ทุกฝ่ายเป็นห่วงปัญหาเศรษฐกิจ คิดว่าการเข้าไปทำหน้าที่ ส.ส.ในสภา จะช่วยขับเคลื่อนอะไรได้บ้าง?
แน่นอนว่าการทำหน้าที่ ส.ส.ที่สำคัญที่สุดคือดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ คิดว่าบทบาทของ ส.ส.ทั้งในสภาและนอกสภาจะต้องพูดความจริง การทำงานในสภาและหน้าที่ของ ส.ส.ต้องไม่คิดว่าเราเป็นคนของเขตไหน จังหวัดไหน พรรคไหน แต่เราเป็นของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
O ในฐานะที่พรรคประชาชาติเป็นตัวแทนของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะได้รับความไว้วางใจมากที่สุดเหนือกว่าทุกพรรค มีนโยบายอะไรเกี่ยวกับภาคใต้ที่จะเข้าไปผลักดันบ้าง?
ในภาคใต้ก็มีปัญหาหนักอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่านอกจากกฎหมายพิเศษในเรื่องความมั่นคงแล้ว เรายังมีกฎหมายพิเศษในเรื่องการพัฒนา แต่ยิ่งพัฒนาไป คุณภาพชีวิตของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับถอยลงๆ วันนี้ถ้าเอาปัญหาของประชาชนเป็นที่ตั้ง บทบาทของสภาก็ต้องทำหน้าที่ให้เยอะขึ้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ จังหวัดต่างๆ ก็มีกฎหมายทั่วไป แต่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราก็จะมีกฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) เจตนารมณ์ของ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) คือบูรณาการงานของทุกหน่วยมาอยู่ด้วยกันเพื่อความเป็นเอกภาพ แต่จู่ๆ รัฐบาลก็มีแผนบูรณาการมาบูรณาการซ้อน ศอ.บต.อีก
คือสิ่งที่เขาบูรณาการ เขาไม่ได้บูรณาการความทุกข์ของประชาชน แต่เขาไปบูรณาการเงิน ไม่ได้บูรณาการความลำบาก พอมีกฎหมายบูรณาการก็มีกฎหมาย กอ.รมน.เรื่องความมั่นคงอีก (หมายถึงพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ไปเขียนบูรณาการขึ้นมาอีก และยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้มาอีก แล้วก็จะมีเขตอะไรต่างๆ ซึ่งอันนี้มันเป็นความซ้ำซ้อนและขาดเอกภาพในการแก้ปัญหา
ที่สำคัญก็คือคนที่รู้ปัญหาจริงคือท้องถิ่น คือองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่กลับไม่ได้รับการดูแล ที่ผ่านมาทุกคนอาจไม่ค่อยไว้ใจองค์กรท้องถิ่น แต่เขาอยู่กับชาวบ้าน เขาจะรู้เลยว่าปัญหาของหมู่บ้านเป็นอย่างไร แต่รัฐบาลกลับไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุน คิดว่าในบทบาทการทำงานในสภา ถ้าเราหาจุดสำคัญให้เจอ ก็คือเรื่องส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็จะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ สิ่งแรกก็หนีไม่พ้นต้องกระจายงบประมาณและกระจายอำนาจ
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรามีองค์กรต่างๆ เยอะมาก แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ทำไมไม่ส่งให้ท้องถิ่นดูแล เช่น ในเรื่องการศึกษาพื้นฐาน เรื่องสาธารณสุข เรื่องผู้สูงอายุ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน อันนี้คือตัวอย่าง เราจะต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้ความจริง และประชาชนต้องลุกขึ้นมา เราจะต้องทำให้ประชาธิปไตยไม่ได้อยู่แค่กระดาษสวยงาม แต่ต้องทำให้ประชาธิปไตยอยู่ในพื้นที่ อยู่ใกล้ประชาชน ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง ต้องมีความเสมอภาค ไม่ต้องมาสงสาร ขอให้มีโอกาสเท่ากัน
O ปัญหาความเหลื่อมล้ำดูจะยังเป็นปัญหาใหญ่ ไม่เฉพาะในภาคใต้ แต่เป็นทั้งประเทศ?
เราต้องแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำอันหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่มาก คือที่ดินทำกิน เป็นปัญหาใหญ่ของทั้งประเทศ โจทย์ก็คือรัฐจะทำอย่างไรให้เอาที่ดินมาเป็นทรัพยากรของชุมชน แล้วให้ชุมชนดูแลให้ได้ การดูแลไม่ใช่การไปทำให้ป่าหมด แต่อาจจะเพิ่มพื้นที่ป่าขึ้นมาก็ได้ ตรงนี้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรหรือคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ ถ้าเราผลักดันตรงนี้ได้เราจะช่วยชาวบ้านได้เยอะ
วันนี้เราทำให้ประชาชนกลับบ้าน แต่พอเขากลับบ้านก็ไม่มีงานให้เขาทำ พอเขากลับบ้านเขาไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งปัญหาแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถ้าเอางบประมาณที่ใช้อยู่ แล้วปรับเปลี่ยนไปดูแลความมั่นคงของมนุษย์ คือความมั่นคงของพี่น้องประชาชนแทนที่จะเป็นความมั่นคงของหน่วยงานรัฐ น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น
เช่น กอ.รมน.มีงบข่าวหลายร้อยล้าน แล้วก็ไปเอาข่าวที่ไปจ้างชาวบ้านตามหมู่บ้าน บางทีอาจจะทำให้คนแตกแยกกันก็ได้ และเนื่องจากหน่วยงานด้านการข่าวไม่มีกำลังพล ก็ไปใช้ทหาร ขณะที่ทหารก็มีเงินเดือนอยู่แล้ว ก็เอาไปทบให้ทหารอีก ซึ่งงานของทหารคืองานการข่าวอยู่แล้ว เอาเงินไปให้ตำรวจ ตำรวจก็ทำหน้าที่การข่าวอยูู่แล้ว ถ้าเรามาตั้งหลักให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไปดูว่าคุณภาพชีวิตของหมู่บ้านต่างๆ เป็นอย่างไร ชาวบ้านน่าจะได้ประโยชน์กว่า และเจ้าหน้าที่ก็จะได้ข่าวด้วย เพราะเข้าไปในพื้นที่
นอกจากนั้นเราต้องมีมิติแก้ปัญหายาเสพติดทั้งประเทศใหม่ เพราะการแก้ปัญหายาเสพติดที่ผ่านมา ยิ่งแก้ยาเสพติดยิ่งแพร่ระบาด ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเราอย่าไปคิดเอง เราต้องฟังเสียงประชาชน และเอาเสียงประชาชนมาขับเคลื่อน เสียงทุกเสียงมีคุณค่า
O เหมือนกับที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทุกวันนี้ ก็เป็นเสียงที่รัฐบาลต้องฟัง?
เขาออกมาสู้เพื่ออนาคต เนื่องจากเขามองไม่เห็นอนาคตจากการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน เราจะเห็นว่านักศึกษานั้น วิธีคิดเขาอาจจะต่างกันกับเรา เช่น คนรุ่นเก่าๆ อาจจะมองยศว่ามีความเป็นใหญ่ แต่นักศึกษาไปมองที่เรื่องความรู้และศักยภาพ คือวันนี้เราอย่าไปด้วยค่าความเป็นนักศึกษา ถ้าเราเห็นว่าเขาเสมอภาค เราต้องไปดูข้อเรียกร้องของเขาว่าถูกต้องไหม
ส่วนตัวถือว่าเป็นประชาธิปไตย และเป็นสิ่งที่ควรจะฟัง ข้อเสนอของนักศึกษาหลายๆ ข้อ นักการเมืองยังตามไม่ทัน เพราะเขาศึกษาจริง และเขารู้ชะตากรรมของเขา ถ้าเขาอยู่ในสังคมลักษณะนี้ต่อไป เขาไม่มีอนาคต
การเข้ามารับราชการหลายหน่วยก็เป็นระบบอุปถัมภ์ อย่างในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการจากการเปิดรับแบบภายในเยอะ ซึ่งการรับภายในก็เป็นลูกหลาน ทหารเข้าเยอะ เข้าโดยคนที่เรียนหนังสือเสมอกัน ถ้าไม่มีเส้นเข้าไม่ได้ อย่างนี้คือระบบที่เป็นอยู่ พอนักศึกษาเขาได้เห็น เขาก็ออกมาเรียกร้อง เราต้องฟังเขา และเราต้องให้กำลังใจเขาด้วย เพราะถ้าไม่มีนักศึกษา รัฐบาลก็ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง