กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เอาจริงปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ชายแดนใต้ ลุยสางปมค่าบริการขนส่งสินค้าราคาสูงกว่าจังหวัดอื่น เรียก 2 บริษัทต่างชาติแจง พร้อมสนับสนุนการรถไฟฯจับมือไปรษณีย์ไทย สร้างช่องทางโลจิสติกส์นำร่องช่วยขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารทะเล
หลังจากคณะอนุกรรมาธิการ (อนุกมธ.) เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ได้ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค.63 และได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ธุรกิจเอกชนที่ให้บริการรับส่งสินค้าซึ่งกำลังเฟื่องฟูมากนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 เป็นต้นมา ได้คิดค่าบริการเพิ่มเติมอีก 40-50 บาทต่อครั้งเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งทำให้ทั้งกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคในพื้นที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าประชาชนคนไทยทั่วประเทศ
ในครั้งนั้น รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธาน กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า เห็นว่า สามจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษ และ 2 ใน 3 จังหวัดติดอันดับความยากจนสูงสุดของประเทศ สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมมากกว่า (อ่านประกอบ : สังศิต พิริยะรังสรรค์ : ความไม่เป็นธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้)
ล่าสุด ช่วงก่อนสิ้นเดือน ส.ค. อนุกมธ.ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการบริหารจัดการด้านการขนส่งพัสดุภัณฑ์ และการขนส่งสินค้าเกษตร เข้าชี้แจง เพื่อหาแนวทางให้เกิดการกระจายสินค้าของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
รศ.ดร.สังศิต กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับจากในพื้นที่ พบว่าบริษัทที่ให้บริการจัดส่งสินค้าที่เป็นบริษัทของต่างชาติ 2 แห่งเป็นผู้กำหนดราคาขึ้นมา ตนเห็นว่าโดยหลักการแล้วพฤติกรรมการทำธุรกิจลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะ 2 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดที่ยากจนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 และ 3 ของประเทศไทย การกำหนดราคาแบบนี้นอกจากจะทำให้ธุรกิจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังทำให้คนในพื้นที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการสั่งสินค้าแต่ละครั้งแพงกว่าคนไทยทั้งประเทศอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการของอนุกมธ. จึงได้ไปทำเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เและทาง สคบ.ได้เชิญบริษัททั้ง 2 แห่งกับนายภาณุไปชี้แจง
อย่างไรก็ดี อนุกมธ.ไม่ได้รอคำตอบจาก สคบ.แต่เพียงด้านเดียว เพราะในอีกด้านหนึ่ง อนุกมธ.ได้ทำงานควบคู่กันไปด้วย โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมปรึกษาหารือ ซึ่งประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด, เกษตรจังหวัดยะลา , เกษตรจังหวัดปัตตานี, เกษตรจังหวัดนราธิวาส, ผู้บริหารตลาดกลางการเกษตรจังหวัดชายแดนใต้, สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส, บริษัทรุสกี ซัพพลาย อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด และบริษัท ซันโฟรเซ่น ฟรุ้ต จำกัด
ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการด้านการขนส่งพัสดุภัณฑ์ และการขนส่งสินค้าการเกษตร โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระจายสินค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ผลการหารือได้ข้อสรุปเป็น 3 ประการ คือ
1. การขนส่งสินค้าการเกษตรและการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีห้องเย็นในการขนส่ง โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการที่จะสนับสนุนการขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยใช้ห้องเย็น ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ ปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยให้มีการขนส่งพ่วงมากับรถไฟโดยสารสาธารณะในรูปแบบบรรทุกหีบห่อวัตถุข้ามคืน
แต่ที่เป็นความหวังอย่างเป็นรูปธรรมคือ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยในเดือน ก.ย.63 บริษัทไปรษณีย์ไทยจะมีรถบริการขนส่งเป็นรถห้องเย็นจำนวน 10 คัน เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายผลไม้เพิ่มขึ้น และในการขนส่งผลไม้รวมทั้งการรับสินค้า ไปรษณีย์ไทยจะให้บริการรับและส่งถึงสวนผลไม้ และจัดส่งผลไม้ให้ถึงบ้านผู้ซื้อ ในระยะแรกจะทดลองวิ่งในบางเส้นทางก่อน และจะขยายผลต่อไป
ที่ประชุม อนุกมธ.มีข้อสังเกตว่าการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ควรมีการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร โดยการรวมกลุ่มเป็นศูนย์คัดแยกผลไม้ของชุมชน โดยการคัดแยกเกรดผลไม้ให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน การบรรจุหีบห่อ และการเชื่อมโยงกับตลาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค โดยบริษัทไปรษณีย์ไทยได้ยอมรับประเด็นเรื่องการลดราคาค่าขนส่งให้แก่เกษตรกรในพื้นที่สามจังหวัดเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ราคาค่าขนส่งสินค้าของไปรษณีย์ไทยสามารถแข่งขันกับธุรกิจเอกชนได้
เรื่องนี้ อนุกมธ.จะได้ประสานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้รับเป็นเจ้าภาพในการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันกับเกษตรจังหวัดในพื้นที่ และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ต่อไป ตนคิดว่านี่เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่เราจะได้ส่งเสริมให้บริษัทของคนไทยสามารถแข่งขันกับบรรษัทข้ามชาติได้
2. ในการบริหารจัดการด้านการขนส่งพัสดุภัณฑ์ อนุกมธ.จะได้หารือกับบริษัทเอกชนให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งมายังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในกรณีการขนส่งจากภาคใต้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผลไม้และอาหารทะเลของพี่น้องเกษตรกรและประมงทั้งที่เป็นพาณิชย์และประมงพื้นบ้านได้มีโอกาสขยายตลาดของพวกเขาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
และ 3. ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าควรมีการส่งเสริมตลาดกลางการเกษตรจังหวัดชายแดนใต้ให้มีการใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดยเป็นทั้งพื้นที่ในการรวบรวมผลผลิตและเป็นตลาดขายส่งและขายปลีก แต่ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือสหกรณ์การเกษตรที่ทำหน้าที่บริหารตลาดประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้กรมธนารักษ์ยังสูงจนเกินกว่าสหกรณ์การเกษตรจะแบกรับได้ เพราะผลผลิตทางการเกษตรมีจำนวนน้อยและผลไม้มีเป็นฤดูกาล ดังนั้นพื้นที่เช่าจึงยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
เรื่องนี้ อนุกมธ.เสนอให้สหกรณ์การเกษตรทำเรื่องหารือกับ ศอ.บต. และอนุกมธ.จะหยิบยกเรื่องนี้เพื่อหารือกับศอ.บต.ในเดือนหน้า
ที่ประชุมยังมีข้อเสนอแนะว่าในพื้นที่ตลาดกลางฯ ควรมีอาคาร ร้านค้าให้เกษตรกรสามารถมาเช่าเพื่อทำธุรกิจได้ด้วย นอกจากนี้ตลาดกลางฯ ควรเป็นพื้นที่สำหรับกระจายสินค้าการเกษตรให้มากกว่าปัจจุบันและควรมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ยิ่งกว่านั้นตลาดกลางฯควรมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ให้ต่อเนื่องและแพร่หลาย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในทุกช่องทาง
"เราจะค่อยๆ แก้ปัญหาทีละเปลาะ เราจะไม่มีวันลืมคำมั่นสัญญาและจะไม่มีวันทอดทิ้งพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" รศ.ดร.สังศิต กล่าวทิ้งท้าย