เครือข่ายรักษ์โตนสะตอ และภาคีเครือข่ายชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดพัทลุง ปักหลักกางเต็นท์หน้ากระทรวงเกษตรฯ รอคำตอบยกเลิกโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว หลังยกระดับการเรียกร้องจากชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด นั่งรถไฟมากรุงเทพฯ พร้อมยื่นเรื่องผ่าน กมธ.งบฯ พรรคก้าวไกล ชงตัดงบกรมชลประทานสกัดการก่อนสร้าง
ตลอดสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ส.ค.63 (17-21 ส.ค.) เครือข่ายรักษ์โตนสะตอ และภาคีเครือข่ายชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดพัทลุง ปักหลักชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เรียกร้องให้กรมชลประทานยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง โดยยื่นหนังสือพร้อมเหตุผลการคัดค้าน 5 ข้อผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด และขีดเส้นว่าต้องมีคำตอบภายในวันศุกร์ที่ 21 ส.ค. (อ่านประกอบ : 5 เหตุผลคนพัทลุงต้านเขื่อนเหมืองตะกั่ว - กรมชลฯชูเสริมน้ำต้นทุนใช้หน้าแล้ง) แต่เมื่อถึงกำหนดก็ไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งยังมีหนังสือจากทางจังหวัดขอให้ทางกลุ่มที่เคลื่อนไหวออกจากพื้นที่ศาลากลางจังหวัดด้วย
ระดมคนเดือดร้อนจากโครงการกรมชลฯร่วมชุมนุม
นายเดชา เหล็มมาด ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์โตนสะตอ เมื่อเจตนารมณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานความมั่นคงภายในเป็นแบบนี้ ถือว่าเป็นการท้าทายต่อพลังการเรียกร้องของประชาชนที่กระทำตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ พวกตนในฐานะคนพัทลุงมีศักดิ์ศรีพอที่จะประกาศว่า
1. เราจะไปชุมนุมปักหลักค้างแรมที่กรุงเทพฯ โดยการชุมนุมครั้งนี้จะยืดเยื้อจนกว่าโครงการจะยกเลิก
2. ขอเชิญพี่น้องทั่วประเทศที่เดือดร้อนจากโครงการของกรมชลประทาน มาชุมนุมโดยพร้อมเพรียงกัน
3. การรักษาทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญของโลก ขอประชาชนทุกคนอย่าปล่อยให้ขบวนการหากินกับความหายนะของแผ่นดินดำเนินการต่อไป พวกตนพบเหตุการณ์ในหลายพื้นที่ว่า การสร้างเขื่อนเป็นขบวนการคอร์รัปชั่นมากที่สุดโครงการหนึ่งในประเทศนี้ โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการส่วนกลาง และอาจรวมถึงกลุ่มบุคคลอื่น
4. เราทราบดีว่ากลุ่มอิทธิพลที่อยู่ในขบวนการสร้างเขื่อนโกรธเคืองต่อเหตุการณ์นี้มาก ขอให้ประชาชนจับตาว่าจะมีการข่มขู่คุกคามต่อคนที่ลุกขึ้นมาคัดค้านการสร้างเขื่อน ขอประชาชนทุกคนมารวมตัวกันเพื่อการปกป้องทรัพยากร และขจัดขบวนการหากินกับการสร้างเขื่อนให้หมดไปจากประเทศไทย
จากนั้นทางเครือข่ายรักษ์โตนสะตอได้เปิดรับบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนการต่อสู้ และพร้อมใจกันขึ้นรถไฟจากพัทลุงมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ส.ค. โดยคาดว่าจะสามารถระดมคนที่เดือดร้อนจากโครงการของชลประทานเข้าร่วมชุมนุมให้ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน
"ส.ส.ก้าวไกล" รับลูก ชง 3 เหตุผลตัดงบฯ-ล้มโครงการ
ต่อมาวันจันทร์ที่ 24 ส.ค. เครือข่ายรักษ์โตนสะตอได้เดินทางไปที่อาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการอนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง โดยมี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า กมธ.กำลังจะพิจารณางบประมาณในส่วนของแผนบูรณาการ โดยมีแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำเป็นหนึ่งในแผนที่จะเข้าสู่การพิจารณา และโครงการการก่อสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วก็เป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานบูรณาการด้วย
จากการตรวจสอบเเละศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่า การก่อสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วมีปัญหาใน 3 ประเด็น
ประเด็นเเรก คือ ไม่มีความพร้อมในการก่อสร้าง เนื่องจากยังจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งเเวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE (Initial Environmental Evaluation)ไม่เสร็จสิ้น และกรมชลประทานยังไม่ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อจัดทำรายงาน ซึ่งจากข้อมูลนี้ทาง กมธ.สามารถถอนชื่อโครงการออกจากเอกสารชี้เเจงงบประมาณครั้งนี้ได้ทันที
ประเด็นที่ 2 พบว่าในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อน ภายในรัศมี 10 กิโลเมตร มีอยู่ประมาณ 3 เขื่อน 3 อ่างเก็บน้ำ โดยจากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ พบว่าไม่ได้มีความขาดแคลนน้ำทั้งในด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค
ประเด็นที่ 3 ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการทำประชาพิจารณ์จริงจัง
"ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่จะต้องทักท้วงโครงการนี้ ไม่ให้อนุมัติงบประมาณให้กรมชลประทานในการก่อสร้างโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
เครือข่ายรักษ์โตนสะตอยันชาวบ้าน 80% คัดค้าน
นายเดชา เหล็มมาด ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์โตนสะตอ กล่าวว่า ชุมชนในพื้นที่ไม่เคยมีการขาดเเคลนน้ำตามที่กรมชลประทานกล่าวอ้าง การกระทำของกรมชลประทานไม่มีความโปร่งใส ไม่ชัดเจน เพราะเหตุใดจึงต้องเร่งรัดงบประมาณในการก่อสร้างเขื่อน ที่อ้างว่าผู้คัดค้านกับผู้เห็นด้วยมีจำนวนเท่ากันนั้น ไม่เป็นความจริง ข้อมูลจริงคือมีประชาชนในพื้นที่คัดค้านกว่า 80% ส่วนผู้ที่เห็นด้วยมีเพียงกลุ่มแกนนำ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น และโครงการนี้ทำให้เกิดความขัดเเย้งในชุมชน
นอกจากนั้น รายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 31 ส.ค.58 ก็ระบุว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อน และขอให้หน่วยงานระดับจังหวัดหารือกับชุมชนเพื่อหาวิธีอื่นในการจัดการน้ำ
"ธนาธร" ร่ายยาวสอนมวยกรมชลฯ
วันเดียวกัน ในที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปรจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ได้มีการพิจารณางบประมาณในส่วนของแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษา กมธ. ได้อภิปรายและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว (เขื่อนเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง) โดยระบุตอนหนึ่งว่า ในปี 64 มีการตั้งงบประมาณของกรมชลประทานสำหรับโครงการนี้ 130 ล้านบาท แต่เป็นงบผูกพันทั้งหมดตั้งแต่ปี 2564-2566 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 650 ล้านบาท
โครงการนี้มีปัญหาหลายประการ อาทิ กสม.ได้ออกรายงานการตรวจสอบระบุว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่โครงการยังไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE ก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับมาของบประมาณ
นอกจากนี้บริเวณโดยรอบของโครงการที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ ก็มีอ่างเก็บน้ำอีกถึง 3 แห่ง คือ แห่งแรกห่างไปอีก 2 กิโลเมตรมีที่กักเก็บน้ำคลองสะตอ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ชำรุดและไม่มีการดูแลรักษา รวมถึงไม่มีการใช้ประโยชน์น้ำที่กักเก็บไว้ แห่งที่ 2 ห่างไปอีก 3 กิโลเมตร มีอ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน ปัจจุบันโครงการสร้างเสร็จแล้ว แต่มีปัญหาคือไม่ได้วางระบบส่งน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ และแห่งที่ 3 ห่างไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร มีฝายคลองท่ายูง สภาพทั่วไปชำรุดและขาดการดูแลรักษา
ขณะเดียวกันยังมีอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง ห่างออกไปประมาณ 14 กิโลเมตร ซึ่งสภาพของอ่างเก็บน้ำแห่งนี้แม้จะสร้างเสร็จแล้ว แต่ระบบส่งน้ำยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จะเห็นได้ว่าในพื้นที่มีแหล่งเก็บน้ำอื่นๆ อยู่แล้วแต่ไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดีให้สามารถนำอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งชาวบ้านแถบนั้นไม่ได้มีความต้องการน้ำเพิ่ม สภาพพื้นที่ปลูกสวนผลไม้ สวนปาล์ม สวนยางพารา ที่มีการขุดแหล่งน้ำใช้เอง มีน้ำใช้ตลอดปี และพื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหรือเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ขณะที่การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเหมืองตะกั่วที่ใกล้น้ำตกโตนสะตอ ทำให้มีความเสี่ยงในการสูญเสียแหล่งน้ำ สูญเสียพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ถึง 468 ไร่ด้วย
ในตอนท้ายของการอภิปราย นายธนาธร กล่าวว่า ขอเสนอให้ตัดโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เนื่องจากไม่มีความจำเป็นในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแห่งใหม่ในพื้นที่นี้
----------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากเครือข่ายรักษ์โตนสะตอ และพรรคก้าวไกล