ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ลดระดับลงอย่างชัดเจน ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่า สถิติเหตุรุนแรงในรอบปี 63 ลดลงถึง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้มีการทยอยยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 5 อำเภอ และมีแผนจะยกเลิกเพิ่มเติมอีก 4 อำเภอ จากทั้งหมด 33 อำเภอ ทำให้ผลกระทบจากการใช้อำนาจพิเศษของรัฐที่มีต่อประชาชนน่าจะมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ
ตลอดมาหน่วยงานภาครัฐได้พยายามลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยากรณีที่การบังคับใช้กฎหมายพิเศษไปกระทบกับผู้บริสุทธิ์ หรือบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย จนถูกควบคุมตัวจนขาดไร้รายได้ จึงมีการออกระเบียบเพื่ออุดบรรเทาปัญหาในส่วนนี้
ระเบียบที่ว่านี้ชื่อ ระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ระเบียบ กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555
ในข้อ 7(5) ระบุถึงค่าช่วยเหลือเยียวยาแก่บุคคล ผู้ต้องหา จําเลย หรือผู้ต้องขัง กรณีผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกคุมขัง ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และผลการดําเนินงานพบว่าเจ้าพนักงานปล่อยตัวโดยไม่มีความผิด หรือพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง หรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง
พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษทุกฉบับ แล้วต่อมาไม่พบหลักฐานการกระทำความผิด หรือผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับตาม ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) แต่ภายหลังตำรวจหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง ทั้งหมดนี้ถ้าเป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.บต. (ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สงขลา สตูล) ต้องได้เงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ
อัตราการช่วยเหลือเยียวยา ระบุไว้ใน (5) รายการแนบท้ายระเบียบฉบับเดียวกัน กล่าวคือ ให้จ่ายเงินเยียวยาด้านจิตใจ เป็นจํานวนเงิน 30,000 บาท และค่าชดเชยตามจํานวนวันที่ถูกควบคุมตัวในอัตราวันละ 400 บาท
นี่คือระเบียบที่รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมารองรับเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ข้อมูล ณ ปี 2559 ในวาระ 12 ปีไฟใต้ พบว่า ฝ่ายความมั่นคงมีการออกหมาย พ.ร.ก. หรือที่เรียกว่า "หมาย ฉฉ." ไปแล้ว 6,258 หมาย จับกุมได้ 4,643 หมาย แสดงว่ามีคนที่เคยถูกจับกุมตามกฎหมายพิเศษไม่ต่ำกว่าครึ่งหมื่น และมีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ปล่อยตัว
คนที่เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวเพราะไม่มีหลักฐาน หรือเข้าสู่กระบวนการซักถามแล้วพบว่าไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตลอดจนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็จะต้องได้รับเงินเยียวยา แต่ที่ผ่านมาก็พบปัญหาความล่าช้า จนต้องมีการ "เก็บตก" ตามจ่ายย้อนหลังกัน
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ศอ.บต. โดย นางอาดีลา บูเดียะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารงานยุติธรรมและอำนวยความเป็นธรรม ก็ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ กพต. ครั้งที่ 2 จำนวน 199 ราย (ไม่ปรากฏว่าครั้งที่ 1 มีจำนวนกี่ราย) แยกเป็น ผู้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจาก จ.ยะลา 48 ราย จ.ปัตตานี 10 ราย จ.สงขลา 82 ราย และ จ.นราธิวาส 59 ราย
แต่ก่อนจะนำมาสู่การจ่ายทั้ง 199 ราย ปรากฏว่าอดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเหล่านี้ ซึ่งมีสถานะเป็น "ผู้เสียหาย" ได้มีการทวงถามและเรียกร้องไปยังหลายหน่วยงาน หลายครั้ง จนเกือบจะท้อ...
นายรอมซี (นามสมมุติ) อดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงจาก จ.ยะลา เล่าให้ "ทีมข่าวอิศรา" ฟังว่า ตนและเพื่อนหลายสิบคนถูกเจ้าหน้าที่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง โดยถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 61 แต่จนถึงปี 63 ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาตามที่รัฐบอกว่าจะให้
"ตอนออกจากค่ายทหาร ก็นรีบไปยื่นเอกสารที่อำเภอ เพราะตอนที่ทหารปล่อยตัวออกมา เขาได้ย้ำตลอดว่าอย่าลืมไปทำเรื่องขอเงินช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิ์ ฉะนั้นพอออกมาก็ไปเลย เพื่อนๆ หลายคนก็ไป แต่ไปยื่นเรื่องแล้วก็ไม่ได้ กระทั่งผ่านมากว่า 1 ปีแล้วก็ยังไม่ได้ เคยไปสอบถามที่ ศอ.บต. เจ้าหน้าที่บอกว่ากำลังดำเนินการให้ แต่ก็เงียบหายไปนานมาก" รอมซี เล่าย้อนไปถึงช่วงที่วิ่งวุ่นติดตามเงินเยียวยา กระทั่งล่าสุดเพิ่งได้รับแจ้งว่าเงินออกแล้ว หลังจากรอมานานข้ามปี
รอมซี เล่าอีกว่า ยังมีเพื่อนที่โดนแบบเดียวกัน และไปทำเรื่องหลายรอบจนเจ้าหน้าที่แจ้งว่าหมดอายุ จึงอยากให้ช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ด้วย บางคนถูกจับรอบแรกไม่ได้ มาได้รอบ 2 อยากให้หน่วยงานรัฐเห็นใจ เนื่องจากตอนที่ถูกจับ ครอบครัวได้รับความลำบากมาก
"เพื่อนผมโดนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกรอจนหมดอายุการเยียวยา มาได้ตอนรอบ 2 อยากให้รัฐช่วยดูแลให้ทั่วถึงและรวดเร็ว พราะตอนที่ถูกจับ แฟนต้องไปเยี่ยม มีค่าใช้จ่าย ทั้งค่ารถ ค่าอาหาร และพอเราถูกจับก็ไม่ได้ทำงานเลย ลูกต้องเรียน ทุกอย่างต้องมีค่าใช้จ่าย ก็ต้องไปยืมเงินเพื่อนบ้าน ตั้งใจว่าได้เงินเยียวยาก็จะไปคืน แต่ รอมาเป็นปีๆ ก็ยังไม่ได้ ทำให้เดือดร้อน" รอมซี กล่าว
ในมุมของ ศอ.บต. ยืนยันว่าได้เร่งรัดดำเนินการอย่างเต็มที่ และการช่วยเหลือเยียวยาก็ไม่ได้มีแค่ตัวเงิน แต่มีการติดตามดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิต ติดตามพบปะเยี่ยมเยียนผู้ได้รับผลกระทบตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป
ขณะที่ นพ.สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและมีความจริงใจในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะการให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่รัฐบาล และศอ.บต.เดินหน้าช่วยเหลือเยียวยาทุกมิติ จึงขอให้ผู้เข้ารับการช่วยเหลือเยียวยาช่วยสื่อสารแก่ประชาชนที่มั่นใจว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถูกภาครัฐเอาเปรียบรังแก หรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อประสานงานหรือขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต. อีกทั้งขอให้ช่วยกันสอดส่องบุตรหลาน ป้องกันไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะอาจจะถูกชักชวนให้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านรัฐได้ง่าย
"ในนามของรัฐบาล ต้องขอโทษผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ที่ถูกเชิญตัวมาพูดคุย สอบสวน ทำให้เสียเวลา เสียรายได้ และหวาดกลัว ซึ่งการถูกเชิญตัวไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้ร่วมขบวนการเสมอไป จึงต้องขอโทษในนามของรัฐบาลมา ณ ที่นี้ด้วย" ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าว
ผลกระทบและความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายพิเศษผิดพลาด หรือเกินความจำเป็น เกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้เกิดเฉพาะกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต้องกลายเป็นผู้ถูกจับกุม คุมขังเท่านั้น แต่ยังกระทบกับเงินงบประมาณซึ่งมาจากภาษีอากรของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศด้วย
อย่างกรณีการจ่ายเยียวยาตามระเบียบ กพต.ครั้งที่ 2 จำนวน 199 คนนี้ คิดตัวเลขกลมๆ เฉพาะเยียวยาจิตใจคนละ 30,000 บาท ไม่รวมค่าชดเชยการถูกควบคุมตัวอีกวันละ 400 บาท ก็ต้องใช้งบประมาณกว่า 6 ล้านบาทเลยทีเดียว!
---------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : บอสรอดทุกคดี? ใต้โดนทุกคดี?