"Not only must Justice be done; it must also be seen to be done."
"ไม่เพียงแต่ความยุติธรรมเท่านั้นที่ต้องทำ แต่ต้องทำให้เห็นว่ายุติธรรมด้วย"
นี่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "วาทะ-คำคม" ที่รับรู้กันในหมู่นักกฎหมาย แปลความง่ายๆ ตามประสาบ้านๆ อย่างเราๆ ท่านๆ ก็คือ ความยุติธรรมนั้นไม่ใช่แค่ทำให้ถูกระเบียบ-กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้คู่ความ สังคม และประชาชนเห็นว่ายุติธรรมจริงๆ ด้วย
ตรงตามองค์ประกอบของคำว่า "ยุติธรรม" ที่หมายถึง "ยุติ" หรือ "จบ" อย่างเป็นธรรม
ฉะนั้นเมื่อเหลียวไปดูคดี "บอสรอดทุกข้อหา" จึงชัดเจนว่าเรื่องนี้ "ยังไม่ยุติธรรม" เพราะแม้ตำรวจและอัยการจะพยายามอ้างว่า บุคลากรในหน่วยงานของตนปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย ทั้งการรับพิจารณาเรื่องร้องขอความเป็นธรรมจากฝั่งนายบอส (ผู้ต้องหา) การสอบพยานเพิ่มเติม รวมไปถึงการสั่งคดีก็ตาม
แต่คำถามสำคัญที่ต้องตอบก็คือ "ข้อเท็จจริงในคดี" ไม่ได้เสกสรรปั้นแต่ง มีความสมเหตุสมผล และปราศจากข้อสงสัยจริงหรือไม่ ถ้าหากไม่จริงแล้วจะอ้างกระบวนการถูกต้องบนข้อเท็จจริงกลับไปกลับมาได้หรือ?
4 ส.ค.63 คณะทำงาน 7 อรหันต์ของอัยการ แถลงผลตรวจสอบกรณีคำสั่งไม่ฟ้อง "บอสรอดทุกข้อหา" ปรากฏว่าภายหลังการแถลง มีเสียงวิจารณ์อึงมี่ พร้อมสารพัดคำถามพุ่งกลับไปที่อัยการและตำรวจ เช่น
- นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ผู้ที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง "บอสรอดทุกข้อหา" จะถูกดำเนินการอะไรหรือไม่ เพราะคำแถลงของอัยการเหมือนสรุปว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และจะไม่ถูกสอบสวนต่อ
- ในอดีตเคยมีคดีใดบ้างที่อัยการสั่งฟ้องแล้ว ตอนหลังกลับคำสั่งเป็น "ไม่ฟ้อง" เพราะตัวอย่างที่อัยการยกมาตอนแถลงข่าว เป็นคำสั่งไม่ฟ้องตอนแรก แล้วเปลี่ยนเป็นสั่งฟ้องในภายหลัง ซึ่งทำได้ปกติถ้ามีหลักฐานใหม่ แต่การเปลี่ยนคำสั่งจาก "ฟ้อง" เป็น "ไม่ฟ้อง" อัยการคนที่สั่งภายหลังใช้อำนาจใดลบล้างคำสั่งของอัยการคนแรก ทั้งๆ ที่ฝ่ายอัยการอ้างเองว่าดุลยพินิจของอัยการแต่ละคนเป็นอิสระ ไม่ก้าวล่วงกัน
- มีคำถามถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะทำอย่างไรต่อไป หลังอัยการแฉว่าหลักฐานสำคัญ (ความเร็วรถกว่า 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ไม่ได้ถูกใส่ในสำนวนการสอบสวน ฯลฯ
จากสารพัดคำถามที่สังคมยังคงคาใจ อาจอนุมานรวมๆ ได้ว่าเป็นการตั้งคำถามกับ "กระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นก่อนฟ้อง" สะท้อนถึงความไม่เชื่อถือ ไม่เชื่อมั่นศรัทธาต่อการทำหน้าที่ของคนในกระบวนการยุติธรรม คนทั่วไปเชื่อว่าคดีนี้ "มีนอกมีใน" ทำให้คนรวยไม่ต้องติดคุก ขับรถชนคนตายก็ไม่มีความผิด ไร้มลทิน แต่หากเป็นคนจน คนหาเช้ากินค่ำ ป่านนี้เข้าซังเตไปนานแล้ว
หลายคนถึงขนาดบ่นว่า "เป็นแบบนี้แล้วบ้านเมืองจะอยู่กันอย่างไร..."
นี่คือคำถามสำคัญของประเทศ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพราะหากเหลียวไปมองสถานการณ์ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพบปัญหาคล้ายๆ กันนี้มานานเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยที่นั่นไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอำนาจพิเศษตาม "กฎหมายพิเศษ" ที่มอบให้ฝ่ายทหารมีอำนาจสอบสวนไม่ต่างจากตำรวจ มีอำนาจจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหมายจับ
และทุกครั้งที่เกิดปัญหา เช่น ข้อร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมาน หรือการเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัว ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็มักจะออกมาอ้าง "กระบวนการ" ว่าดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมาย
แต่คำถามของชาวบ้านที่ดังเซ็งแซ่ไม่ต่างจากคำถามของสังคมไทยที่มีต่อคดี "บอสรอดทุกข้อหา" ก็คือ "ข้อเท็จจริง" ที่นำไปสู่การควบคุมตัวมีมากน้อยแค่ไหน หรือว่าใช้วิธีเหวี่ยงแห ใครอยู่แถวๆ ที่เกิดเหตุก็กวาดจับเอาไว้ก่อน
กฎหมายพิเศษที่ว่านี้ คือ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เชิญตัว ซักถาม และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่ต้องมีหมายจับจากศาล ไม่ต้องแจ้งข้อหา เป็นเวลาถึง 30 วัน
จริงๆ แล้วทุกฝ่ายเข้าใจความจำเป็นของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เนื่องจากเหตุรุนแรงและคดีความมั่นคงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักไม่มี "พยานบุคคล" สาเหตุเป็นเพราะความหวาดกลัวของชาวบ้านทั่วไปที่มีต่ออิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธ และยังมีเครือข่าย รวมถึงมีลักษณะเป็น "องค์กรลับ" ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐอีกด้วย
แต่ปัญหาก็คือ นับจากปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีการใช้กฎหมายพิเศษมาแล้วถึง 15 ปี "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" กลายเป็นกฎหมายถาวรในพื้นที่นี้ แต่เหตุใดเจ้าหน้าที่ถึงยังใช้วิธีการเดิมคือ กวาดจับหรือเหวี่ยงแหเอาไว้ก่อน จนมีเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นระยะๆ ตลอดมา
ข้อมูล ณ ปี 2559 หรือ 12 ปีไฟใต้ (ปัจจุบัน 16 ปี) มีการออกหมาย พ.ร.ก. หรือที่เรียกว่า หมาย ฉฉ. ไปแล้ว 6,258 หมาย จับกุมได้ 4,643 หมาย แสดงว่ามีคนที่เคยถูกจับกุมตามกฎหมายพิเศษไม่ต่ำกว่าครึ่งหมื่น และมีจำนวนไม่น้อยที่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ปล่อยตัว
ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวเพราะไม่มีความผิด รัฐต้องจ่ายเงินเป็นค่าเยียวยาจิตใจ รายละ 30,000 บาท และชดเชยการขาดไร้รายได้เพราะถูกควบคุมตัวอีกวันละ 400 บาท ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีอดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 199 คนออกมาเรียกร้องเงินในส่วนนี้ เพราะไม่เคยได้รับเลย ซึ่งคาดว่านี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น และสุดท้ายรัฐก็ต้องจ่าย
นี่คือผลกระทบต่อเนื่องไปถึงงบประมาณที่ต้องสูญเสียเพิ่มเติมจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษแบบเหวี่ยงแห ทั้งๆ ที่สถานการณ์ยืดเยื้อมานานถึง 16 ปีแล้ว ฝ่ายความมั่นคงน่าจะมีเป้าหมายและการข่าวที่ชัดเจนแม่นยำกว่านี้หรือไม่
สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วประชาชนจะเชื่อมั่น "กฎหมายพิเศษ" ได้อย่างไร เพราะใช้มานานแต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม...
ยังมีอีกหลายเรื่องที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะสิ่งที่ฝ่ายบ้านเมืองอ้างว่าเป็น "การบังคับใช้กฎหมาย" แต่กลับบั่นทอนความเชื่อมั่นในกฎหมายลงไปเรื่อยๆ เช่น การดำเนินคดีกับเจ้าของบ้านที่มีกลุ่มติดอาวุธหรือแนวร่วมก่อความไม่สงบไปพักอาศัย จนเกิดการปิดล้อมและยิงปะทะกัน ระยะหลังๆ เจ้าหน้าที่มักดำเนินคดีกับเจ้าของบ้านด้วย ทั้งๆ ที่บางคนเป็นคนเฒ่าคนแก่ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีฐานะยากจน
เจ้าของบ้านเหล่านี้ถึงจะรู้ดีว่าคนที่มาขออาศัยเป็นกลุ่มติดอาวุธ เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ แล้วชาวบ้านมีสิทธิ์ปฏิเสธหรือเปล่า การมุ่งบังคับใช้กฎหมาย "อย่างเคร่งครัด" กับคนกลุ่มนี้ ทำให้เกิดคำถามว่ามีความเป็นธรรมมากพอหรือไม่ และยิ่งทำให้ประชาชนถอยห่างจากรัฐมากขึ้นหรือไม่ เพราะมีโทษถึงจำคุก แม้ศาลจะปราณีเว้นโทษจำ แต่ก็โดนปรับเป็นเงินหลายหมื่นบาท
กลายเป็นสถานการณ์ที่ชาวบ้านบ่นกันว่า ทำอะไรก็โดน อยู่บ้านดีๆ ก็โดนจับ โดนค้น ออกไปนอกบ้านก็เจอด่าน เจอตรวจ ฯลฯ
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "ความอยุติธรรม" หรือพูดให้ชัดคือ "ความไม่เป็นธรรมทางความรู้สึก" เป็นปัญหารากฐานสำคัญปัญหาหนึ่งที่ปะทุบานปลายกลายเป็นสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะแม้ฝ่ายรัฐจะอ้างระเบียบกฎหมายอย่างไร แต่เมื่อชาวบ้านไม่เชื่อถือเสียแล้ว ก็จะมีความรู้สึกไม่เป็นธรรมและต่อต้าน
ในห้วงเวลาที่สถิติการก่อเหตุรุนแรงลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสาเหตุหลักน่าจะมาจากการเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ของกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐมาใช้การพูดคุยเจรจาแทนการใช้อาวุธ สิ่งสำคัญที่เป็นเงื่อนไขบนโต๊ะเจรจา คือ "ความยุติธรรม" และ "กระบวนการยุติธรรม"
หากรัฐไทยสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นไม่ได้ ก็ยากที่ดินแดนแห่งนี้จะพบกับความสงบสุข และยังเสี่ยงเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิการพูดคุยเจรจาอีกต่างหาก โดยเฉพาะถ้าในอนาคตการพูดคุยถูกยกระดับ และมีฝ่ายที่สามเข้ามาแทรกแซง