เยาวชนชายแดนใต้จัดกิจกรรม "ชู 3 นิ้ว" ไล่ลุงตู่ รวมพลหน้ามัสยิดกรือเซะขานรับข้อเรียกร้อง "เยาวชนปลดแอก" ทั้งแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน แกนนำประกาศเปลี่ยนกระสุนเป็นบัตรเลือกอนาคต ขณะที่หัวหน้าศูนย์ก้าวไกลร่วมสังเกตการณ์
ช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 2 ส.ค.63 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของเทศกาลรายออิดิ้ลอัฎฮา หรือ รายอฮัจยี มีเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียกตัวเองว่า "เยาวชนปาตานี" แต่งชุดรายอซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม รวมตัวกันที่หน้ามัสยิดกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อชู 3 นิ้วแสดงเจตนารมณ์การขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
การชุมนุมครั้งนี้เป็นการนัดหมายผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ Persatuan Pemuda Patani (แปลว่า รวมเป็นหนึ่ง เยาวชนปาตานี) เรียกร้องให้กลุ่มเยาวชนคนปัตตานีแต่งชุดรายอ รวมตัวกันที่มัสยิดกรือเซะ ระหว่างเวลา 16.00-18.00 น. เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเยาวชนปลดแอกคือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.นายกฯต้องประกาศยุบสภา ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ก็มีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษามาแล้วที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (อ่านประกอบ : ม.อ.ปัตตานีพรึ่บ! ไล่นายกฯลามต้านนิคมจะนะ - ป้ายเอกราชปาตานีโผล่ร่วมวง)
แกนนำที่ขึ้นเวทีปราศรัย ประกอบด้วย นายอาเตฟ โซ๊ะโก, นายอารีฟีน โสะ และ นายสูไฮมี ดูละสะ ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นอดีตประธานเปอร์มัส (PerMAS) หรือ สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
นายสุไฮมี กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชักชวนกันมา ไม่มีเจ้าภาพชัดเจน ด้วยเจตนาที่ว่าความเป็นคนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมืองเหมือนกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยเป็นการแสดงออกตามหลักการประชาธิปไตย อยู่ในกรอบของฝ่ายปกครองและเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่ นายอารีฟีน โสะ กล่าวว่า ต้องร่วมกันเปลี่ยนกระสุนเป็นบัตรเลือกอนาคต เปลี่ยนพลรบเป็นผู้มีสิทธิทางการเมือง นี่คือสันติวิธี นี่คือการยุติความรุนแรงที่ยั่งยืน
สำหรับเนื้อหาการปราศรัย ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล ความขัดแย้งจากการพยายามขับเคลื่อนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่ช่วงก่อนหน้านี้ โดยมี นายประเสริฐ ราชนิยม หัวหน้าศูนย์ก้าวไกล ของพรรคก้าวไกลประจำ จ.ยะลา มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
เยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมมีทั้งชายและหญิง จำนวนประมาณ 200-300 คน เยาวชนหญิงคนหนึ่งมาจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี บอกว่า เป็นสิทธิ์ของทุกคนที่สามารถแสดงออกทางความคิดและการปฏิบัติได้ตามหลักประชาธิปไตยและไม่ขัดกับกฏหมาย ขอให้เยาวชนได้แสดงออกและมีพื้นที่บ้าง เพราะทุกคนมาชุมนุมกันโดยสงบ ไม่มีใครมีอาวุธ
ช่วงหนึ่งของการชุมนุม เยาวชนได้พร้อมใจกันตะโกนคำว่า "เอาตูปะ ไม่เอาตู่ป่ะ" ความหมายของประโยคนี้คือการเล่นคำ โดย "ตูปะ" หรือ "ตูป๊ะ" หมายถึงข้าวเหนียวต้มห่อใบกะพ้อที่มักทำกันในเทศกาลฮารีรายอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วน "ตู่ป่ะ" เป็นภาษาไทยวัยรุ่น หมายถึงไม่เอาลุงตู่ใช่มั้ย
ขณะที่เยาวชนจำนวนหนึ่งชูป้าย "คนหาย" หรือ บุคคลที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหาย (ถูกอุ้มหาย) โดยลักษณะของป้ายที่ใช้เป็นสีเหลือง คล้ายคลึงกับที่คณะก้าวหน้าที่นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ เคยจ้ดทำออกมารณรงค์หลังมีการสร้างกระแส นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายต้วระหว่างพำนักอยู่ในประเทศกัมพูชา
นายเจ๊ะอุเซ็ง เจ๊ะสาแม กำนัน ต.ตันหยงลุโละ เจ้าของพื้นที่ซึ่งรับผิดชอบบริเวณมัสยิดกรือเซะด้วย กล่าวว่า ไม่ได้เห็นด้วยกับการรวมตัวกันในช่วงที่ต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่าเป็นการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยที่ทุกคนมิสิทธิ์ ก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็ได้อำนวยความสะดวกตามหลักมาตรฐาน มีการลงทะเบียน คัดกรอง วัดอุณหภูมิ เพื่อระวังไวรัสโควิด และขอให้ชุมนุมตามเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยและสงบเรียบร้อย
พ.ต.อ.ญาณพงค์ อุบลบาล ผู้กำกับการ สภ.เมืองปัตตานี กล่าวว่า ขอให้การจัดชุมนุมและการร่วมกิจกรรมทำกันอย่างสงบเรียบร้อย อย่าจาบจ้วงสถาบัน และขออย่ามีอาวุธ ที่สำคัญขณะนี้ยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การเฝ้าระวังโควิด-19 จึงต้องมีการคัดกรองไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และหากมีการกระทำใดๆ ที่ฝ่าฝืนกฏหมาย จะมีการบันทึกภาพและเสียเอางไว้ โดยผู้กระทำอาจถูกดำเนินคดีตามกฏหมายได้ในภายหลัง