ภาพเด็กๆ และวัยรุ่นมุสลิมที่ชายแดนใต้พร้อมใจกัน "ชูสามนิ้ว" ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ไม่ใช่สัญลักษณ์ของการขับไล่เผด็จการ หรือปกป้องสถาบันหลักของชาติ เหมือนที่กลุ่มเยาวชนปลดแอก และอาชีวะช่วยชาติ ใช้เป็นสัญลักษณ์ระดมมวลชนของกลุ่มพวกตน
แต่การ "ชูสามนิ้ว" ของเด็กๆ ที่ชายแดนใต้ในเสื้อผ้าสีฉูดฉาด เป็นการป่าวประกาศให้ทุกคนได้รู้ว่า เทศกาล "รายอฮัจยี" หรือการเฉลิมฉลองให้กับมุสลิมทั่วโลกที่ไปประกอบพิธีฮัจย์นั้น ทุกๆ ปีจะมี 3 วัน ส่วนใครจะฉลองหรือทำกิจกรรมล่วงเลยไปถึงวันที่ 4 หรือ 5 ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
ถือเป็นการ "ชูสามนิ้ว" เพื่อแสดงอัตลักษณ์ของพี่น้องมลายูมุสลิม โดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง
รายอฮัจย์ หรือ รายอฮัจยี มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "เทศกาลฮารีรายออิดิ้ลอัฎฮา" ปีนี้เป็นปีฮิจเราะห์ศักราช 1441 ตรงกับวันศุกร์ที่ 31 ก.ค.2563 บรรยากาศของเทศกาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างคึกคัก สดใส ท่ามกลางมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวด การ์ดไม่ตก
ตั้งแต่เช้ามืด พี่น้องมุสลิมพาครอบครัวไปที่สุสาน หรือ กุโบร์ เพื่ออ่านคัมภีร์อัลกูรอานและสวดดุอาขอพรให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จากนั้นก็บริจาคเงินให้เด็กๆ ก่อนจะเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดในหมู่บ้าน ซึ่งทุกมัสยิดจะมีบรรยายธรรมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม ทำความดีละเว้นความชั่ว และร่วมสร้างสังคมให้เกิดความสันติสุข
เมื่อออกจากมัสยิด มุสลิมจะ "สลาม" หรือกอดกันเพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน จากนั้นก็แยกย้ายไปทำ "กุรบ่าน" หรือ "เชือดสัตว์พลีทาน" เพื่อบริจาคให้กับคนยากจนและด้อยโอกาส
ในทุกๆ ปี เทศกาลรายอฮัจย์ จะตรงกับวันที่มุสลิมทั่วโลกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่นครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย แต่ปีนี้เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจำกัดจำนวนผู้ที่ไปประกอบพิธี และอนุญาตให้เฉพาะมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบียเท่านั้น ทำให้พี่น้องมุสลิมจำนวนมากที่เตรียมการเดินทางเอาไว้แล้ว ต้องขยับแผนไปเป็นปีหน้า
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวเนื่องในโอกาสรายอฮัจย์ว่า ขอพระจากอัลลอฮ์ให้พี่น้องมุสลิม พี่น้องชาวไทยทั้งมวล สามารถเผชิญและก้าวผ่านวิกฤติต่างๆ ทั้งวิกฤติโรคระบาด และวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยไปได้ด้วยดี
อีฎิ้ลอัดฮา เป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม มีสัญลักษณ์สำคัญ คือ "การเชือดสัตว์พลีทาน" ถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า เพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ผู้ยากไร้ ญาติมิตร และเพื่อนบ้านสำหรับไว้บริโภค นับเป็นบทบัญญัติที่สะท้อนถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติเช่นในขณะนี้ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ขอให้พี่น้องมุสลิมทั้งหลายได้หยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และช่วยทำนุบำรุงสังคมอย่างเต็มกำลัง เพื่อความเข้มแข็งและก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยกัน
"แท้จริงการช่วยเหลือจากพระผู้สร้าง จะลงมาสู่สรรพสิ่งบนแผ่นดิน หากผู้ที่อยู่บนแผ่นดินต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ขอพระจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้โปรดบันดาลความจำเริญแด่ทุกท่าน และขอทรงขจัดปัดเป่าโรคระบาดต่างๆ ให้หมดสิ้นไปจากหน้าแผ่นดินด้วยเถิด" จุฬาราชมนตรี กล่าว
ชาวบ้านที่ชายแดนใต้ที่พอมีกำลังทรัพย์ ก็ทำพิธีกุรบ่านกันทุกบ้าน ใครที่มีทุนน้อย ก็รวมเงินกันกับเพื่อนเพื่อซื้อวัว แพะ หรือสัตว์ที่เชือดได้ตามหลักศาสนา
อิสมะแอ ตาเละ ชาวบ้านใน อ.ยะหา จ.ยะลา เล่าว่า วันแรกที่หมู่บ้านมีการทำกุรบ่าน เชือดสัตว์ 15 ตัว และหลังจากนี้อีก 2 วันในเทศกาลรายอ ก็จะมีการเชือดวัวอีก เพราะพิธีกรรมเรามี 3 วัน จะเฉลิมฉลองทั้ง 3 วัน ไม่เหมือนรายอปอซอ (เทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด) ที่จะมีการฉลองแค่วันเดียว ส่วนโควิด-19 ที่ยังมีความเสี่ยง ก็ทำให้ทุกคนระมัดระวัง ป้องกันตัวกันมากขึ้น สวมหน้ากากอนามัยไปมัสยิดกันทุกคน
"ปีนี้คนที่นี่ไม่มีใครได้ไปทำฮัจย์ที่มักกะฮ์เลย คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็เลยทำอาหารพลีทานแจกให้คนที่ลำบากกว่า" อิสมะแอ กล่าว
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา กับกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ และผู้ใหญ่ใจดีจากกรุงเทพฯอย่าง นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนนักรบเสื้อขาวสู้ภัยโควิด พร้อมด้วย พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ ภริยา ได้รวบรวมเงินเพื่อจัดซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง และของใช้จำเป็นแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และเด็กกำพร้า โดยไม่เลือกศาสนา
ซูวัยบะห์ มะเระปะแต ประธานกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ บอกว่า ได้นำของบริจาคแจกจ่ายชาวบ้านมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของสถานการณ์โควิด-19 นับถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพฑูรย์ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อนได้มากกว่า 1,000 ครอบครัว
นอกจากนี้ ในช่วงเปิดภาคเรียนหลังโควิด ยังได้มอบรองเท้านักเรียนให้นักเรียนที่ไม่มีรองเท้าใส่อีกด้วย และยังได้ซื้ออิฐ ปูน เพื่อช่วยสร้างบ้านให้ผู้ที่มีฐานะยากจน
"สำหรับเทศกาลรายอ ถือเป็นโอกาสดี เราก็ซื้อของบริจาคไปแบ่งปันความสุขให้ทุกคน ทำให้ทุกคนมีรอยยิ้ม และเสียหัวเราะ โดยเฉพาะเด็กๆ และคนชรา ที่ได้รับทั้งเนื้อกุรบ่านและข้าวสารอาหารแห้ง" ประธานกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ กล่าว
เด็กหญิงคนหนึ่งใน อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นสมาชิกครอบครัวที่ได้รับของบริจาค บอกว่า รู้สึกดีใจมาก ของทั้งหมดที่ได้รับมีค่ามาก จะรีบนำกลับบ้านไปให้พ่อกับแม่ เชื่อว่าพ่อกับแม่ก็จะดีใจมากอย่างแน่นอน เพราะเทศกาลรายอปีนี้เราไม่มีเงินเลยสักบาท ข้าวสารที่บ้านก็ไม่มีเลย
"ตื่นเช้ามา พวกเราต้องรีบไปมัสยิดเพื่อทำพิธีที่มัสยิด และจะได้ไปกินอาหารที่บ้านของคนที่เขาทำเลี้ยงคนจน"
คำพูดของเด็กหญิงตัวน้อย สะท้อนภาพจริงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ายังมีคนจน คนทุกข์ยากอยู่อีกมากมาย
เทศกาลรายอฮัจยีปีนี้ ยังอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 แม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะไม่ได้หนักหนา และอยู่ในระดับ "เฝ้าระวัง" แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็ยังน่าเป็นห่วง ส่งผลให้การเดินทางสัญจรของผู้คนลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด
นายนิติ ชัยภูมิ รักษาการนายสถานีรถไฟสุไหงโกลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า การคงมาตรการล็อคดาวน์ของประเทศมาเลเซียในห้วงที่ผ่านมา ทำให้แรงงานไทยในมาเลเซียส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้านในประเทศไทยเกือบหมดแล้ว ดังนั้นผู้ที่เดินทางในช่วงนี้คือคนไทยในพื้นที่เป็นหลัก ทำให้มีผู้โดยสารตลอดสัปดาห์เฉลี่ยอยู่ที่ 400-600 คนต่อวันเท่านั้น แตกต่างจากช่วงเทศกาลฮารีรายออิดิ้ลอัฎฮาในปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 2,000 คนต่อวัน
พาตีเมาะ เงาะตาลี แรงงานสาวจากชายแดนใต้ที่ไปทำงานร้านต้มยำกุ้งที่่มาเลเซีย และไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ เนื่องจากทางการมาเลย์ปิดประเทศ เล่าว่า ตนและเพื่อน10 กว่าคนต้องอยูั่รายอที่มาเลเซีย เพราะทุกวันนี้รัฐบาลยังปิดด่านอยู่ จึงยังกลับบ้านไม่ได้ แต่ยังดีที่สามารถเปิดขายของได้แล้ว ทำให้มีรายได้ จึงตัดสินใจไม่กลับบ้าน แม้จะอยากกลับมากก็ตาม คิดถึงพี่ๆ น้องๆ พ่อแม่และญาติทุกคน
"ฉันร้องไห้เลยตอนที่วีดีโอคอลล์คุยกันกับที่บ้าน ฉันก็ร้อง คนที่บ้านก็ร้อง เพราะเราคิดถึงกัน" พาตีเมาะ กล่าว
ที่บ้านของพาตีเมาะ ใน จ.ยะลา บือราเฮง เงาะตาลี พ่อของพาตีเมาะ บอกว่า คิดถึงลูก อยากให้ทุกคนกลับมารายอกันอย่างพร้อมหน้า ปีนี้ลูกสาวที่อยู่กรุงเทพฯก็กลับมา ขาดแต่พาตีเมาะ ก็เลยต้องคุยกันทางโทรศัพท์
"ลูกสาวกลับมาก็ไม่มีอะไรทำ (หมายถึงพาตีเมาะ) คนที่กลับจากมาเลย์ส่วนมากไม่มีงานทำ ลูกก็เลยตัดสินใจไม่กลับ เพราะร้านก็เปิดขายได้แล้ว รักษางานทางโน้นไว้ดีกว่า" บือราเฮง กล่าว
แม้รายอฮัจยีจะเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง แต่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะก็ยังมีซอกมุมเล็กๆ อีกไม่น้อยที่มีคนจนและคนยากไร้ซ่อนอยู่ ด้วยเหตุนี้พิธีกรรมที่อยู่คู่กับรายอฮัจยีอย่างการ "กุรบ่าน" หรือเชือดสัตว์พลีทาน จึงเป็นดั่งมือหลายๆ มือที่ช่วยกันฉุดคนลำบากให้ขึ้นมาจากหลุมดำแห่งความทุกข์
ถือเป็นคำสอนของศาสนาที่ช่วยปลุกความเป็นจริงแห่งมนุษย์...ให้รัก สามัคคี และเอื้อเฟื้อแบ่งปัน