หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เดินสายพบปะและรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งสัญญาณเดินหน้าโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขหลังโควิดซา
พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะเลขานุการร่วมคณะพูดคุยฯ และคณะ เดินสายพบปะผู้นำศาสนาและประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ในช่วงปักษ์หลังของเดือน ก.ค.63 เพื่อเก็บข้อมูลและรวบรวมความคิดความเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะที่มีสถานการณ์ในพื้นที่ เตรียมนำไปประกอบการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" ที่รวมกระบวนการพูดคุยฯอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ต้นปี 63
โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 25 ก.ค. พล.อ.วัลลภ และคณะได้ร่วมประชุมกับคณะประสานงานระดับพื้นที่ ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี และรับฟังข้อเสนอแนะจากตัวแทน 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มงานศาสนาและวัฒนธรรม, กลุ่มงานการศึกษา, กลุ่มงานวิชาการ, กลุ่มงานพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก, กลุ่มงานเด็ก เยาวชน และสตรี, กลุ่มงานสื่อมวลชน การสื่อสาร และเทคโนโลยี, กลุ่มงานยุติธรรม, กลุ่มงานปกครองท้องที่และท้องถิ่น และกลุ่มงานความมั่นคงและองค์กรภาครัฐ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของแต่ละกลุ่มเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้แทนแต่ละกลุ่มที่เข้าร่วมประชุมมีแนวความคิดที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯจะได้นำข้อคิดเห็นต่างๆ นำไปวิเคราะห์กลั่นกรองให้ตกผลึก และรวบรวมให้เป็นแนวความคิดและความต้องการของภาคประชาชน เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพูดคุยฯที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป
"บิ๊กลภ"แย้มสัญญาณบวกบีอาร์เอ็น
พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง แต่ยังคงมีการติดต่อประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย โดยใช้วิธีติดต่อสื่อสารรูปแบบต่างๆ รวมถึงการติดต่อพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย เพื่อไม่ให้การพูดคุยต้องหยุดชะงัก
"ในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยังได้รับสัญญาณเชิงบวกจากบีอาร์เอ็นในเรื่องการยุติความรุนแรง ซึ่งได้มีการนำเสนอก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ขณะเดียวกันทางเลขาธิการสหประชาชาติ มีแนวคิดว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงควรมีการแก้ไขปัญหาโรคระบาดก่อน ซึ่งรัฐบาลไทยเองไม่ว่าจะเป็นในระดับนโยบายหรือในระดับพื้นที่ รวมทั้งทุกภาคส่วนได้ทุ่มเททรัพยากรและบุคลากรเข้าทำการแก้ไขปัญหาโควิดอย่างเร่งด่วนจนได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ และสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย"
"ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา ภาพรวมของเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ก็ลดลงมาก ซึ่งทางรัฐบาลกำลังประเมินว่าสถานการณ์ที่ลดลงนั้น แท้จริงเกิดจากอะไร อาจจะเกิดจากสถานการณ์โควิด หรือการประกาศของบีอาร์เอ็น หรือประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโควิดก่อน" พล.อ.วัลลภ กล่าว
และว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ยังดำรงอยู่แบบนี้ และยืดเยื้อต่อไปอีก ก็ต้องมีวิธีการอื่นในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ นอกจากการพูดคุยบนโต๊ะ ซึ่งยืนยันได้ว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯจะไม่หยุดชะงัก เพราะเป็นนโยบายระดับชาติ และรัฐบาลได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ฉะนั้นความต่อเนื่องจึงต้องมีอย่างแน่นอน
ข้อเสนอวง สล.3 ห่วงปัญหายาเสพติด - บทบาทเยาวชน
ก่อนหน้านี้ มีการประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ หรือ (สล.3) ซึ่งอยู่ในโครงสร้างของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นการประชุมครั้งที่ 5 ของปีน 63
ในวงประชุมซึ่งมีตัวแทนกลุ่มงาน 9 กลุ่มเข้าร่วมกว่า 120 คนได้เสนอประเด็นที่พวกตนเป็นห่วง พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล คือ การขับเคลื่อนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ให้เป็นกรณีเร่งด่วน เพราะเกรงว่าอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง เวทีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดขึ้นก็สะท้อนปัญหาไม่ครอบคลุมทุกด้าน มีการเกณฑ์คนที่เห็นด้วยมาร่วม มีการจ่ายเงินใส่ซองให้คนร่วมประชุมและยกมือสนับสนุนโครงการ แต่กลุ่มที่คัดค้านไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประชุม ตัวแทนภาคประชาสังคมบางรายแสดงความกังวลกับบทบาทของ ศอ.บต.ในเรื่องนี้ด้วย
ขณะที่ผู้แทนกลุ่มงานเด็ก เยาวชน และสตรี เสนอว่า ในห้วงที่ผ่านมาผู้นำหลายกลุ่มไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเยาวชน เช่น การประชุมสภาสันติสุขตำบล หรือการจัดเวทีชาวบ้านในพื้นที่ ก็ไม่ค่อยมีการเชิญกลุ่มเยาวชนเข้าร่วม จึงเสนอให้เพิ่มบทบาทและให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนในการจัดเวทีทุกระดับ
โต้ข่าวบังคับตาดีกาใช้ตำราภาษาไทย
กลุ่มงานพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ได้สะท้อนปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะโครงการญาลานันบารู (ชื่อไทยว่าโครงการทางสายใหม่) มีการตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานความมั่นคงเป็นผู้รับผิดชอบจัดเวทีในระดับหมู่บ้าน แต่ไม่ได้หวังผลลัพธ์จากการดำเนินงาน แต่ทำเพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบในการเบิกงบประมาณหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดปัญหายาเสพติดกลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนั้นยังมีการสะท้อนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสื่อการเรียนการสอนของโรงเรียนตาดีกา โดยมีการอ้างข้อมูลว่ามีการขอความร่วมมือให้เปลี่ยนเอกสารการเรียนการสอนจากอักษรภาษามลายูเป็นภาษาไทย จนเกิดกระแสต้าน เพราะถูกมองว่าเป็นการทำลายอัตลักษณ์ทางภาษา แต่ประเด็นนี้ทางคณะ สล.3 ฝ่ายรัฐชี้แจงว่า เป็นการบิดเบือนข้อมูล ไม่มีข้อเท็จจริง และไม่เคยเข้าไปก้าวก่าย พร้อมเน้นย้ำว่าทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน ขอให้รักทั้งความเป็นมลายู ความเป็นปัตตานี และรักความเป็นไทย
"บิ๊กเดฟ" ชี้ "สภาสันติสุขตำบล"กุญแจสำคัญดับไฟใต้
ด้าน พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ "บิ๊กเดฟ" แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ หรือ สล.3 กล่าวว่า รัฐมุ่งแก้ไขปัญหาชายแดนใต้โดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ เพราะไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืน แต่หนทางเดียวในการนำสันติสุขกลับคืนมา คือการหันหน้ามาพูดคุยกันด้วยความจริงใจ ด้วยสันติวิธีควบคู่กับการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรง เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียในทุกฝ่าย อยากให้ทุกกลุ่มคนในพื้นที่ได้หันหน้ามาพูดคุยด้วยความจริง ไม่บิดเบือน เพื่อลูกหลานในอนาคต
สำหรับทหารในพื้นที่ก็ได้เน้นย้ำอย่างเด็ดขาดห้ามสร้างเงื่อนไขกับพี่น้องประชาชน การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นความจริงเท่านั้นในการแก้ปัญหา ชีวิตพี่น้องประชาชนต้องปลอดภัย ต้องได้รับการคุ้มครอง ที่ผ่านมาคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหัวใจการแก้ไขปัญหาในชายแดนใต้ ส่งผลให้สถานการณ์ต่างๆ ในพื้นที่มีสัญญาณที่ดีขึ้น เห็นได้จากทุกฝ่ายต้องการยุติความรุนแรง และมีการพูดคุยผ่านเวทีต่างๆ มากขึ้น เน้นการดำเนินงานของสภาสันติสุขตำบล เพราะเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ โดยสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการมากที่สุดคือการปราบปรามยาเสพติด และการทำพื้นที่ให้ปลอดภัย ยืนยันไม่ทิ้งเรื่องยาเสพติด และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งยังคงต้องทำต่อไป
ส่วนความกังวลเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้น พล.ท.พรศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้จัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกัน ทั้งคนที่คัดค้านและสนับสนุนต้องมาคุยหารือกัน โดยใช้เวทีของคณะประสานงานระดับพื้นที่ หรือ สล.3 เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจให้ทุกๆ ฝ่ายก็ได้ และจะถือเป็นทางออกร่วมกันที่ดี ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ก็จะมาร่วมรับฟังด้วย