ควันหลงจับไอซ์ล็อตใหญ่ 250 กิโลฯที่สงขลา เปิดบันทึกจับกุม เฉพาะรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการจับ ยาวเกือบ 4 หน้า ไล่ตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยันผู้บังคับหมู่ เซ็นชื่อกันพรึ่บ 8 แผ่น ส่วนรายละเอียดปฏิบัติการแค่ 3 หน้า
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถึง 3 เหตุการณ์ เริ่มจากวันที่ 27 มิ.ย.63 ยึดไอซ์จำนวน 250 กิโลกรัมที่ขนมาในรถบรรทุก ขณะผ่านด่านควนมีด อ.จะนะ จ.สงขลา จากนั้นวันที่ 2 ก.ค. ตามยึดไอซ์ได้อีกกว่า 1,400 กิโลกรัม (เกือบ 1 ตันครึ่ง) ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และยังมีการจับกุมเฮโรอีนอีก 8 กิโลกรัม ที่ อ.สุไหงโกลก และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส โยงไปถึงสมาชิกสภาเทศบาลตำบลแว้ง ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น
จากปฏิบัติการจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ รวมมูลค่านับพันล้านบาท ต้องถือเป็นผลงานที่น่าชื่นชมของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย แต่สิ่งที่เป็นควันหลงที่ทำให้หลายคนเกิดความสงสัย ก็คือบันทึกจับกุม เฉพาะคดีแรกคดีเดียวที่จับไอซ์ 250 กิโลกรัม มีการพิมพ์ชื่อพร้อมลายเซ็นผู้ร่วมจับกุมยาวถึง 8 หน้ากระดาษ
บันทึกจับกุมของคดีจับไอซ์ 250 กิโลกรัมที่ด่านควนมีด จังหวัดสงขลา เนื้อหาตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าทื่ 4 เป็นชื่อตำรวจและข้าราชการหน่วยอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมครั้งนี้ ไล่มาตั้งแต่ระดับนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ผู้นำสูงสุดของตำรวจ เรื่อยลงไปถึงฝ่ายปฏิบัติการระดับต่างๆ กระทั่งถึงยศต่ำสุดคือ "สิบตำรวจตรี"
โดยในบันทึกจับกุมยังมีการพิมพ์ชื่อผู้มีส่วนร่วมในการจับ และให้ลงรายมือชื่อ แยกย่อยเป็นกว่า 20 หน่วยงาน จำนวนมากถึง 285 ชื่อ ความยาว 8 หน้ากระดาษ บางชื่อไม่ได้พิมพ์ แต่เขียนเพิ่มเข้าไปก็มี ส่วนรายละเอียดการจับกุมมีความยาวแค่ 3 หน้ากระดาษเท่านั้น ที่สำคัญผู้ต้องหาที่จับกุมได้พร้อมของกลางมีเพียงคนเดียว คือ นายกอเซ็ง เจะหะ อายุ 60 ปี
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อนุกรรมาธิการการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎร บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า สาเหตุที่ต้องลงชื่อไว้เป็นหลักฐานมากๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนแบ่งรางวัลนำจับ หรือ "สินบนนำจับ" โดยบันทึกจับกุมยาเสพติดฉบับนี้ อาจจะเป็นบันทึกที่มีคนลงชื่อจับมากที่สุดในโลกก็เป็นได้ ซึ่งในเรื่องสินบนนำจับ ในต่างประเทศไม่มี และไม่มีการทำบันทึกจับกุมที่ลงชื่อตำรวจยืดยาวแบบนี้ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ และทุกคนมีเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนอยู่แล้ว หากจับกุมยาเสพติดได้ ก็ถือเป็นความดีความชอบการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งต่อไป เพราะตำรวจคือ "ผู้รักษากฎหมาย" ไม่ใช่ "นักล่าเงินรางวัล"
นอกจากนั้นในสมัยที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในปี 59 ก็เคยมีแนวคิดให้ยกเลิกสินบนนำจับมาแล้ว แต่สุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหน่วยงานที่ได้ผลประโยชน์อยู่ไม่ยินยอม โดยเฉพาะตำรวจ
---------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พ.ต.อ.วิรุตม์ จากเนชั่นทีวี