การเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง หลังถูกคุมตัวเข้าค่ายทหารเมื่อเดือน ก.ค.ปี 62 ทำให้ฝ่ายความมั่นคงถูกวิจารณ์อย่างหนัก
แม้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะออกมาในทำนองว่า นายอับดุลเลาะน่าจะหมดสติและเสียชีวิตเพราะอาการเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อนโดยไม่รู้ตัว มากกว่าที่จะถูกผู้อื่นทำให้ตายก็ตาม แต่ก็ต้องถือว่าเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดกับนายอับดุลเลาะ จนนำมาสู่การเสียชีวิต เกิดขึ้นระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่
บทสรุปของคณะกรรมการฯ จึงเสนอให้ช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวของนายอับดุลเลาะอย่างเต็มที่ เพื่อชดเชยกับความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้
ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ก.ย.62 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้อนุมัติจ่ายเยียวยาเป็นเงิน 500,000 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฯ พร้อมอนุมัติให้มีการเยียวยาด้านจิตใจ เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท และชดเชยค่าเสียหายตามจำนวนวันที่จะถูกควบคุมตัวอีก 6 วัน วันละ 400 บาท ให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต (อ่านประกอบ : เยียวยา 5 แสนครอบครัวอับดุลเลาะ - รัฐเมินฝ่ายค้านยื่นกระทู้จี้สอบใหม่)
แต่ "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบพบว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 ให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนกรณีครอบครัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ โดยให้ความช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,568,400 บาท
การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 เป็นการประชุมนอกสถานที่ หรือที่เรียกว่า "ครม.สัญจร" ที่ จ.นราธิวาส โดย มติครม.ในเรื่องนี้เป็นการรับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2562 ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธาน
อย่างไรก็ดี เมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" สอบถามไปยัง นางซูไมยะห์ มิงกะ อายุ 31 ปี ภรรยาของนายอับดุลเลาะ กลับได้รับการยืนยันว่า ยังไม่มีการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 500,000 บาทที่ได้รับจาก ศอ.บต. และค่าเยียวยาจิตใจ 30,000 บาท รวมถึงชดเชยค่าเสียหายที่ถูกควบคุมตัวอีก 6 วัน วันละ 400 บาท ซึ่งได้รับไปก่อนหน้านั้นแล้ว
"ก็รู้สึกดีใจถ้าจะได้รับการเยียวยาเพิ่ม หลังจากนี้จะเข้าไปซักถามทาง ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง" นางซุไมยะห์ กล่าว
ภรรยาของนายอับดุลเลาะ ยังบอกอีกว่า ตนยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของสามี จึงขอให้ทนายยื่นคำร้องขอเป็นผู้ร้องซักค้านในคดีไต่สวนการตายที่ศาลจังหวัดสงขลาด้วย (กรณีการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าพนักงาน หรือระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องมีกระบวนการไต่สวนการตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150) โดย นางซุไมยะห์ เล่าว่า ทุกวันนี้ก็ยังต้องเทียวไปเทียวมาเพื่อขึ้นศาล
ขณะที่ นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของนายอับดุลเลาะ ยืนยันว่า ทางครอบครัวได้รับเงินช่วยเหลือเงินจาก ศอ.บต. 500,000 บาทเท่านั้น หลังจากนั้นไม่มีการช่วยเหลืออื่นๆ อีก แม้ทางครอบครัวได้ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ ก็ได้รับแจ้งเพียงว่าทางครอบครัวได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดแล้ว ส่วนเรื่องความยุติธรรม ทางครอบครัวก็จะทวงถามต่อไป แม้จะไม่มีความหวังเลยก็ตาม
ข้อสังเกตเรื่องเยียวยา
ประเด็นการเยียวยาตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ จำนวน 1,568,400 บาทนั้น ยังคงมีข้อสงสัยว่าเป็นการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปตัวเงินหรือไม่ เช่น การช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาบุตร
แต่หากพิจารณาถ้อยคำตามมติ ครม.ที่ว่า "ให้ความช่วยเหลือเยียวยาเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 1,568,400 บาท" โดยวัตถุประสงค์เพื่อ "การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนกรณีครอบครัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ" ก็อาจตีความได้ว่าเป็นการอนุมัติเยียวยาเพิ่มเติมในรูปของตัวเอง
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลืออื่นใดที่ไม่ใช่ตัวเงิน ทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ศอ.บต. ก็ควรแจ้งให้ครอบครัวนายอับดุลเลาะรับทราบตั้งแต่หลังจาก ครม.มีมติ
อย่างไรก็ดี เมื่อ "ทีมข่าวอิศรา" เดินทางไปที่สำนักงานใหญ่ ศอ.บต. อ.เมืองยะลา เพื่อสอบถามในเรื่องนี้ กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รายใดให้คำตอบได้ นอกจากนั้นทีมข่าวฯยังได้โทรศัพท์ขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่ดูแลงานเยียวยาโดยตรง ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ทราบเรื่องและไม่มีข้อมูลเช่นกัน
นายกิตติ สุระคำแหง อดีตรองเลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งเคยรับผิดชอบงานเยียวยา แต่ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ให้ข้อมูลว่า เท่าที่ทราบ กรณีของครอบครัวนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เบื้องต้นทาง ศอ.บต.จ่ายเยียวยาไปแล้ว 500,000 บาท ซึ่งเป็นอำนาจที่เลขาธิการ ศอ.บต.ที่สามารถทำได้ทันที หลังจากนั้นจะต้องรอมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. และคณะรัฐมนตรี ซึ่งปกติหลังจากมีมติออกมา 2-3 สัปดาห์ก็สามารถจ่ายเงินได้ แต่จะต้องดูว่ามติออกมาอย่างไร ซึ่งทาง ศอ.บต.น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้
เปิดไทม์ไลน์ "หมดสติในค่ายทหาร"
นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมเมื่อวันที่ 20 ก.ค.62 โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 และส่งตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ต่อมาเวลาประมาณ 03.00 น.ของวันที่ 21 ก.ค. เจ้าหน้าที่พบว่านายอับดุลเลาะหมดสติอยู่ในหน่วยซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จึงรีบให้การปฐมพยาบาลในเบื้องต้น ก่อนส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จากนั้นส่งไปรักษาตัวต่อที่อาคารผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) โรงพยาบาลปัตตานี
ต่อมาวันที่ 22 ก.ค.62 นายอับดุลเลาะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในสภาพเจ้าชายนิทรา และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 ส.ค.62 รวมเวลารักษา 35 วัน
หลังเกิดเหตุหมดสติในค่ายทหาร "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบหมายให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีตัวแทนภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ และนักสิทธิมนุษยชนรวมอยู่ด้วย ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และคณะกรรมการฯสรุปผลสอบสวน พร้อมเปิดแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 ส.ค. สรุปว่านายอับดุลเลาะน่าจะหมดสติและเสียชีวิตเพราะอาการเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อนโดยไม่รู้ตัว มากกว่าที่จะถูกผู้อื่นทำให้ตาย (อ่านประกอบ : ผลสอบ"อับดุลเลาะ"ไม่พบหลักฐานถูกผู้อื่นทำให้ตาย - ให้น้ำหนักอาการเจ็บป่วย)
จากนั้นในวันที่ 3 ก.ย. ศอ.บต.ได้แถลงการจ่ายเยียวยาครอบครัวนายอับดุลเลาะ เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมการเยียวยาจิตใจ 30,000 บาท และชดเชยความเสียหายจากการถูกควบคุมตัว 6 วัน วันละ 400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 532,400 บาท
ทั้งนี้หากมติ ครม.อนุมัติให้เยียวยา 1,568,400 บาท เป็นการเยียวยาในรูปตัวเงิน ก็เท่ากับว่า ครอบครัวนายอับดุลเลาะต้องได้รับเงินเยียวยาเพิ่มอีก 1,036,000 บาท (หากไม่ใช่ในรูปตัวเงิน ก็ต้องได้รับการเยียวยาอย่างอื่นคิดเป็นมูลค่าเท่านี้เช่นกัน)
สำหรับในทางคดี พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ได้ยื่นคำร้องไต่สวนการตายกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในการควบคุมตัว เป็นคดีไต่สวนการตาย เลขคดี ช.1/2563 ต่อศาลจังหวัดสงขลา คดียังอยู่ระหว่างการไต่สวน