"หยิบเพียงแต่พอดี หากมีร่วมแบ่งปัน"
ถ้อยคำบอกความหมายชัดเจนเหล่านี้กระจายในหลายชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ร่วมกันแบ่งปันอาหารใส่ "ตู้ปันสุข" รวมถึง "ตู้กับข้าว" ที่ตั้งกระจายอยู่ในตัวเมืองและชุมชนต่างๆ เป้าหมายเพื่อเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและโควิดถาโถม
แต่ละจังหวัดส่วนใหญ่มีการตั้งตู้ในเขตอำเภอเมืองก่อน เช่น ในอำเภอเมืองปัตตานี เริ่มต้นกันที่ลานอปพร. ข้างศาลหลักเมือง หน้าวัดหัวตลาด แล้วตามด้วยหน้าร้านบากุส วงเวียนหอนาฬิกา, บริเวณข้างมัสยิดรายอฟาฏอนี จะบังติกอ, ถนนรามโกมุท ใกล้ร้านปัตตานีการยาง, หน้าร้านโรตีบังหนูด ใกล้วงเวียนหน้า ม.อ.ปัตตานี , บ้านเหลือง ครัว ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ กับครัวโอตานิเติมสุข และชุมชนประมง หมู่ 2 ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง
ในอำเภอเมืองยะลา ตั้งตู้ปันสุขหน้าร้านขนมจีน ณ ภูเก็ต สาขายะลา, หน้ามัสยิดยาแมะตือเบาะ, ริมรั้วด้านหลังโรงเรียนตำรวจภูธร 9, ย่านตลาดเก่า หน้าร้านซลาซา, หน้าสถานีรถไฟยะลา
ส่วนในอำเภอเมืองนราธิวาส มีตั้งตู้ปันสุขหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง, ชุมชนยะกัง 2 ใกล้วัดประชาภิรมย์, ในอำเภอสุไหงโกลก ที่ร้านตี้ โกลก และหน้าค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง, บ้านแยะ ต.ละหาร อ.ยี่งอ
ข้าวของในแต่ละตู้ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ทานได้ไม่เน่าเสีย ทั้งบะหรี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ข้าวสาร ขนม น้ำตาล น้ำมัน น้ำปลา และอาหารสดทั้งผัก ขนม ถือเป็นความมีน้ำใจของผู้ให้ที่ทุกคนสามารถให้ได้ แบ่งปันน้ำใจส่งต่อให้คนที่เดือดร้อนได้นำไปบริโภคแต่พอดี
"หยิบเพียงแต่พอดี หากมีร่วมแบ่งปัน" คือประโยคสะท้อนความตั้งใจของผู้ให้
แม่บ้านรายหนึ่งอุ้มลูกมาหยิบของจากตู้บ้านเหลือง เธอเล่าให้ฟังถึงการหยิบของจากตู้ปันสุข
"บ้านอยู่ในเมือง ขายยำมาม่าหน้าโรงเรียน พอโรงเรียนปิดก็ไม่ได้ขาย ไม่มีรายได้ สามีทำงานก่อสร้างคนเดียว เลี้ยงลูกอีก 3 คน มารับของที่ ตู้ม.อ.ปัตตานี ก็พอได้กินอีกหลายวัน เอาไปอย่างละหนึ่ง กินแต่พอดี" เธอบอก
ตู้ปันสุขของ ม.อ.ปัตตานีเปิดตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น มี รปภ.และเจ้าหน้าที่ดูแลเพื่อให้เกิดความทั่วถึง โดยมีของจาก ม.อ.ปัตตานีมาเติมรอบเช้าและบ่าย ส่วนตู้อื่นๆ นั้นเปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีบางตู้ เช่น ตู้หน้าลานอปพร.เมืองปัตตานี ที่มีคนมาหยิบกันเยอะและของหมดเร็ว เจ้าหน้าที่จึงต้องมาจัดระเบียบการหยิบของ
"พูดตรงๆ ว่า ยากกับการให้มีจิตสำนึกดีและพอเพียงในเหตุการณ์แบบนี้ แต่ละคนก็มีความคิดและปฏิบัติไม่เหมือนกัน ไม่มีความพอดี บางครอบครัวเอาลูกเด็กเล็กแดงมาช่วยกันขน หลายคนวนมาหยิบวันละหลายๆ รอบ แล้ววนไปตู้อื่นๆ อีก จริงๆ ต้องยนึกถึงคนข้างหลัง คนที่ต่อแถวอยู่ รวมทั้งคนอื่นที่ยังไม่ได้ว่าเขาก็มีความเดือดร้อนและต้องการเช่นกัน ฉะนั้นอยากขอให้หยิบกันแต่พอดี ถ้าทำได้ก็ไม่ต้องมาเฝ้า แต่ถ้าไม่เฝ้า ตู้นี้มาขนกันจนหมดตู้จริงๆ"
เป็นเสียงสะท้อนในแง่ที่ไม่ค่อยดีนักจากผู้ดูแลตู้ปันสุข ณ ลาน อปพร.กลางเมืองปัตตานี
ส่วนที่ อ.เบตง จ.ยะลา อำเภอใต้สุดแดนสยาม ตู้ปันสุขที่นั่นเรียกชื่อว่า "ตู้ปันน้ำใจ" ตั้งอยู่ที่หน้าศูนย์การค้าเบตงพลาซ่า โดย นายใช้ วงศ์นิตยลัภย์ ผู้อำนวยการกองช่าง รักษาราชการแทนปลัดเทศบาล และปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองเบตง ได้มอบหมายให้ นางนาตยา มรรคมนตรี หัวหน้างานกองช่างเทศบาลเมืองเบตง นำ "ตู้ปันน้ำใจ" ไปตั้งใว้ เพื่อแบ่งปันอาหารแก่ผู้ยากไร้และขาดแคลนในช่วงที่กำลังประสบภาวะยากลำบากจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ปรากฏว่าหลังนำตู้ไปตั้งก็มีผู้ใจบุญหลายรายนำอาหารไปใส่ไว้ เพื่อแบ่งปันให้ผู้อื่นได้อิ่มท้อง
นอกจากนี้ที่บริษัทพิธานพาณิชย์ จำกัด สาขามหามงคล อำเภอเบตง ก็ขานรับแนวคิด "ตู้ปันสุข" โดยจัดทำโครงการ "ฮอนด้า พิธาน ปันน้ำใจ ใส่ตู้กับข้าว" โดยภายในตู้จะมีอาหารแห้ง น้ำดื่ม รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ เพื่อให้ผู้ยากไร้ หรือผู้ที่กำลังประสบปัญหาในการดำเนินชีวิตได้หยิบไปใช้ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับตู้ปันสุขในพื้นที่อื่นๆ ก็มีคนมาหยิบ มีคนมาเติมสลับกันไป ใครที่มีและพร้อมแบ่งปันก็ไปวางของและเติมของกันได้ ณ ตู้ปันสุขทุกตู้ที่ชายแดนใต้และทั่วประเทศ เพื่อแบ่งปันให้คนที่เดือดร้อนมากกว่า