ช่วงเวลาของความเปราะบางอย่างมากในการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิมนั้น ก็คือช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด เพราะจะมีกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาหลายอย่างที่มุสลิมต้องไปรวมตัวกันจำนวนมาก
หลังพระอาทิตย์ตกดินในวันนี้ (23 เม.ย.63) จะมีการดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอนกันแล้ว หากวันนี้มีคนเห็นดวงจันทร์ และได้รับการรับรองจากสำนักจุฬาราชมนตรี วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอนซึ่งจะต้องถือศีลอดจะเริ่มในวันรุ่งขึ้นทันที คือวันศุกร์ที่ 24 เม.ย. แต่หากไม่มีผู้ใดเห็นดวงจันทร์ วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอนจะขยับไปอีก 1 วัน คือวันเสาร์ที่ 25 เม.ย. และจะศีลอดต่อไปอีก 30 วัน
การถือศีลอดหมายถึงในช่วงเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก มุสลิมจะไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ (บางคนที่เคร่งครัดมากๆ จะไม่กลืนน้ำลายของตัวเองด้วย) นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาที่เป็นการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมากหลายพิธีกรรม ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ก่อนหน้านี้สำนักจุฬาราชมนตรีจึงได้ออกประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1441 หรือปี พ.ศ.2563 โดยมีมาตรการสำคัญ 5 ข้อก็คือ
1. การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ซึ่งทุกปีมุสลิมจะนัดกันไปดูดวงจันทร์เป็นจำนวนมากๆ แต่ปีนี้ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเท่านั้น
2. การกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษอาหารที่อยู่ในช่องปาก ไม่ได้ทำให้การถือศีลอดบกพร่องแต่อย่างใด จึงไม่ควรถ่มน้ำลายในสถานที่สาธารณะโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้
3. งดการจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ แต่หากมีความประสงค์จะจัดเลี้ยง ก็ให้จัดทำอาหารปรุงสุกที่บ้าน แล้วจัดใส่ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ นำไปแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทน
4. กรณีสมาชิกในครอบครัวละศีลอด แล้วรับประทานอาหารด้วยกัน ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในภาชนะร่วมกัน และให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร
5. งดการเอี๊ยะติก๊าฟ หรือการไปอ่านอัลกุรอานที่มัสยิดตลอด 10 คืนสุดท้ายของรอมฎอน หรือกิจกรรมการละหมาดรวมกันที่มัสยิดในยามค่ำคืน เช่น ละหมาดตะรอเวียะห์ ตลอดถึงกิจกรรมการรวมตัวอื่นๆ ที่มัสยิดหรือในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้
นี่คือมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นในการรักษาระยะห่างทางสังคม และลดการรวมตัวกันของพี่น้องมุสลิม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนรอมฎอน
กก.อิสลามชายแดนใต้ยื่นปลดล็อกละหมาดศุกร์
แต่อีกด้านหนึ่ง สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้ทำหนังสือถึงจุฬาราชมนตรี ขอให้ผ่อนผันให้มีการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มดีขึ้นแล้ว
ก่อนหน้านี้จุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศงดการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด เพราะการละหมาดวันศุกร์ เป็นละหมาดใหญ่ที่ทุกคนในชุมชนต้องไปรวมตัวกัน จึงอาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดได้ ซึ่งช่วงแรกๆ ก็มีการถกเถียงและฝ่าฝืนกันมาก แต่ก็มีการพยายามทำความเข้าใจ กระทั่งสุดท้ายก็พร้อมใจงดละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด
แต่ล่าสุดทางสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ขอปลดล็อก โดยมีเงื่อนไขเป็นแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการระบาดของโรค เช่น มัสยิดที่จะมีละหมาดวันศุกร์ได้ ต้องไม่อยู่ในเขตพื้นที่ที่ทางจังหวัดมีคำสั่งปิดหมู่บ้าน, มีการทำความสะอาดมัสยิดตามหลักอนามัย, มีการละหมาดเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น ส่วนการละหมาดอื่นๆ และการดำเนินกิจกรรมาต่างๆ ให้ปฏิบัติในสถานที่พักอาศัยของแต่ละคน
ให้คณะกรรมการมัสยิดจัดเตรียมเจลล้างมือ และให้ทุกคนตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้ามัสยิด รวมถึงให้อาบน้ำละหมาดจากบ้าน และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พร้อมจัดที่ละหมาดให้ห่างกัน 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการสลามด้วยการจับมือ สวมกอด แต่ให้ยกมือแทน
ทางสมาพันธ์ฯเสนอเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อวันพุธที่ 22 เม.ย. ล่าสุดมีคำตอบเบื้องต้นจากสำนักจุฬาราชมนตรีแล้วว่าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เปิดเงื่อนไข"ตลาดรอมฎอน" กับทางเลือกหลบร้อน"ตลาดติดล้อ"
โพลล์ชี้คนชายแดนใต้เชียร์ต่อ พ.ร.ก.! หนุนคุมเข้มรอมฎอนป้องกันโควิด