ท่ามกลางการทยอยใช้มาตรการ "ชัตดาวน์" ทีละขั้น ทีละกิจการ ทีละสถานที่ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีอยู่เครื่องมือหนึ่งที่ถูกพูดถึงมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก็คือการ "ประกาศภาวะฉุกเฉิน" โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ"
แม้การใช้ "ยาแรง" ที่ชื่อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" จะมีผลข้างเคียงตามมาหลายด้าน ทำให้ถูกดึง ถูกยื้อไม่ให้ประกาศมาระยะหนึ่ง ทว่าหากพิจารณาจากผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจนเป็นเลข 3 หลัก และการติดตามกลุ่มเสี่ยงยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จนอาจเกิดการระบาดใหญ่ "ระยะ 3" ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจใช้ "เครื่องมือพิเศษ" ชนิดนี้
แม้จะยื้อเวลาดีเดย์ออกไปอีก 2 วัน เป็นวันพฤหัสบดีที่ 26 มี.ค.63 ก็ตาม!
หลายคนอาจจะสงสัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือกฎหมายอะไร เป็นฉบับเดียวกับที่ใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานถึง 15 ปีหรือไม่ "ทีมข่าวอิศรา" มีคำตอบมาฝาก
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้เมื่อปี 2548 ในรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร โดยประกาศเป็น "พระราชกำหนด" ไม่ใช่ "พระราชบัญญัติ" เพราะไม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องเร่งประกาศเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รุนแรงอย่างนัก โดยเฉพาะเหตุการณ์ "ดับเมืองยะลา" เมื่อกลางเดือน ก.ค.2548 เมื่อประกาศใช้แล้วจึงนำเข้าขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาตามเงื่อนไข กระทั่งกฎหมายสามารถบังคับใช้ได้ต่อมาเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีไว้แค่ "ดับไฟใต้" หรือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอาวุธเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสถานการณ์ภัยคุกคามด้านอื่นๆ ที่กระทบของสาธารณะ หรือที่เข้าข่ายเป็นภัยพิบัติสาธารณะด้วย ตามนิยามที่กฎหมายเขียนไว้ในมาตรา 4 ที่ว่า "สถานการณ์ฉุกเฉินให้หมายรวมถึงสถานการณ์ที่กระทบกับความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง" ด้วย
การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกฯสามารถประกาศไปก่อนได้ทันที เพื่อให้ทันสถานการณ์ แล้วค่อยนำเข้าขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือจะนำเข้าคณะรัฐมนตรีก่อนเพื่อประกาศออกมาเป็นมติ ครม.ก็ได้ (ครั้งล่าสุดนี้ออกเป็นมติ ครม.)
เมื่อประกาศใช้แล้ว อำนาจของทุกส่วนราชการ จะไปรวมศูนย์อยู่ที่นายกฯ ตามมาตรา 7 ซึ่งจะทำให้การสั่งการของนายกฯเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ข้ามขั้นตอนหรือสายการบังคับบัญชาตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน
โดยการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถประกาศได้เฉพาะพื้นที่ (เหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) หรือครอบคลุมทั่วประเทศก็ได้ และการประกาศแต่ละครั้ง จะมีระยะเวลานานที่สุด 3 เดือน หากสถานการณ์ฉุกเฉินจบลง ก็ให้นายกฯยกเลิกการประกาศได้ทันที แต่หากสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงอยู่ ก็ให้ขยายเวลาได้คราวละ 3 เดือน ทำให้สามารถรีวิวสถานการณ์ได้ทุกๆ 3 เดือน (ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขยายเวลามาแล้วเกือบ 60 ครั้ง)
สำหรับอำนาจพิเศษที่สามารถนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มีบัญญัติในมาตรา 9 และ 11 รวมๆ ประมาณ 16 มาตรการ เช่น ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน หรือ "เคอร์ฟิว", สั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่, สั่งปิดเส้นทางคมนาคม, ห้ามชุมนุมมั่วสุม หรือไปรวมตัวกันจำนวนมากๆ, ห้ามนำเสนอข่าวสารที่กระทบกับสถานการณ์, ห้ามใช้อาคารสถานที่ตามที่กำหนด, รวมถึงประกาศให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็น "เจ้าพนักงาน" ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะทำให้มีเอกภาพในการปฏิบัติและการสั่งการมากขึ้นด้วย
มาตรการพิเศษเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทันทีหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ต้องให้นายกฯประกาศ "ข้อกำหนด" เป็นเรื่องๆ เป็นมาตรการๆ ไป เหมือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่เคยประกาศ "เคอร์ฟิว" มีแค่ขอความร่วมมือห้ามออกจากบ้านบางช่วงเวลาเท่านั้น
สำหรับกฎหมายพิเศษอยาง "พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ" บางคนอาจจะคิดว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ หรือมีดีกรีสูงระดับกฎอัยการศึก แต่จริงๆ แล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเครื่องมือของ "รัฐบาลพลเรือน" ในการระงับยับยั้งภัยพิบัติสาธารณะ รวมถึงโรคระบาด ซึ่งประเทศในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาก็มีกฎหมายลักษณะนี้เช่นกัน ที่เรียกกันว่า "การประกาศภาวะฉุกเฉิน"
จริงๆ แล้วกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษกับฝ่ายบริหารไม่ได้มีแค่ฉบับเดียว แต่ประเทศไทยมีอยู่ถึง 3 ฉบับ
หนึ่ง คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2457 หรือ 106 ปีมาแล้ว
สอง คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้มาตั้งแต่ปี 2548
สาม คีอ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
กฎหมาย 3 ฉบับมีสาระและวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกัน เริ่มจากประเด็นแรก
ตัวผู้ประกาศใช้ ถ้าเป็นกฎอัยการศึก ทหารระดับ "ผู้บังคับกองพัน" ก็ประกาศได้แล้ว แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องให้นายกฯประกาศ และต้องมีมติ ครม.รับรอง ส่วน พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ใช้มติครม.เช่นกัน
สำหรับผู้มีอำนาจสูงสุดตามกฎหมาย เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบังคับใช้ กล่าวคือ กฎอัยการศึก แน่นอนว่าต้องเป็นทหาร เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อการรบ ขอบเขตอำนาจต้องบอกว่าทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะจับกุม คุมขัง ตรวจค้น โดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่ต้องมีความรับผิดตามกฎหมายใดๆ บางคนใช้คำว่า "อำนาจล้นฟ้า" แต่เมื่อเป็นช่วงศึกสงครามก็ถือว่าจำเป็น
ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะรวบอำนาจจากทุกกระทรวง ทบวง กรม มาไว้ที่นายกฯ เพื่อให้มีเอกภาพในการสั่งการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ต้องติดเงื่อนไขระเบียบกฎหมายของหน่วยงาน มีมาตรการพิเศษที่จะนำมาประกาศใช้ได้ 16 มาตรการ เช่น เคอร์ฟิว, ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม เป็นต้น และสามารถตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เป็น "เจ้าพนักงาน" มีอำนาจเต็มในการระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินได้
ขณะที่ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ครม.จะมอบอำนาจให้ กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร บริหารจัดการปัญหา โดยมีมาตรการพิเศษที่ใช้ได้ 6 มาตรการ จึงถือว่ามีดีกรีอ่อนกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก
หลังจากนี้ต้องรอลุ้นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งถือเป็น "ยาแรง" น้องๆ กฎอัยการศึก จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่?!?