"มันน่ากลัวมาก เสียงดังมาก ตกใจหมด ไม่คิดว่าจะเกิดได้ขนาดนี้ แต่มันก็เกิด ความปลอดภัยไม่มีจริงๆ..."
เป็นเสียงเล่าในอารมณ์ระทึกขวัญของข้าราชการรายหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมรับมือ "โควิด-19" ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วก็เกิดระเบิดขึ้น
"ประชุมไปได้แค่ครึ่งชั่วโมงเองมั้ง เราก็ได้ยินเสียงระเบิดลูกแรก ตอนแรกทุกคนเข้าใจว่าน่าจะหม้อแปลงระเบิด แต่เลขาธิการ ศอ.บต.น่าจะรู้สึกตะหงิดๆ จึงขอตัวออกจากห้องประชุม 5 นาที ช่วงนั้นนายแพทย์ก็ยังประชุมกันต่อตามงปกติ แล้วเลขาธิการ ศอ.บต.ก็เข้ามาในห้อง พร้อมแจ้งให้เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ออกไปเอารถจักรยายนต์ที่จอดบริเวณด้านหน้าไปจอดที่อื่น แต่ไม่ทันที่เจ้าหน้าที่จะออกไปจากห้องประชุม ก็มีเสียงดังของระเบิดลูกที่ 2 คราวนี้แรงกว่าเก่า ห่างจากลูกแรกราวๆ 10 นาที ทุกวิ่งหนีกันวุ่นวายหมด" เจ้าหน้าที่คนเดิมเล่าเหตุการณ์ในวินาทีอลหม่าน
การประชุมจัดขึ้นที่ห้องประชุมน้อมเกล้า มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูง เข้าร่วมหารืออย่างพร้อมเพรียง เน้นไปที่มาตรการคัดครองคนข้ามแดน หลังจากมาเลเซียจะปิดประเทศ ปิดพรมแดน ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 17 มีนาคม ทำให้คาดว่าจะมีคนไทยจากสามจังหวัดที่ข้ามไปทำงานฝั่งมาเลย์ โดยเฉพาะ "กลุ่มต้มยำกุ้ง" ทะลักกลับบ้านจำนวนมาก
"การประชุมวันนี้เป็นการประชุมใหญ่" เขาเล่าต่อ "เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมากันทั้งหมด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธาน และมีนายแพทย์จากหลายโรงพยาบาลในพื้นที่เข้าประชุม"
เมื่อเป็นการประชุมใหญ่ ผู้เกี่ยวข้องเข้าครบ พอมีระเบิด แถมยัง 2 ลูกซ้อน ก็ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บไม่น้อย
"สะเก็ตระเบิดที่ไปโดนกระจก เศษกระจกมาโดนรองเลขาฯศอ.บต.ที่จมูก เลือดออก เจ้าหน้าที่ต้องพาไปนอนพักที่ห้องทำงาน แล้วก็มีอีกหลายคนถูกสะเก็ดระเบิดอีก แต่บาดเจ็บไม่มาก ส่วนคนข้างนอก มีนักข่าวและตำรวจโดนสะเก็ดระเบิดหลายคน"
การที่หน่วยงานด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรมอย่าง ศอ.บต.โดนลอบวางระเบิดถึงด้านหน้าศูนย์บัญชาการใหญ่ในอำเภอเมืองยะลา ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชนมาหลายทศวรรษ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2524 หรือเกือบ 40 ปีมาแล้ว ทำให้หลายคนรู้สึกเครียดกับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เหมือนจะย้อนกลับมารุนแรงอีกระลอก
"มันน่ากลัวมาก เสียงดังมาก ตกใจหมด ไม่คิดว่าจะเกิดได้ขนาดนี้ แต่มันก็เกิด ความปลอดภัยไม่มีจริงๆ อยู่ที่ไหนก็ไม่มีความปลอดภัย สถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ทุกที่จริงๆ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานราชการที่คิดว่าน่าจะปลอดภัย แต่ก็ไม่ปลอดภัย" เจ้าหน้าที่รายเดิม กล่าว
ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ในห้วงทุกฝ่ายต้องการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ!
------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ระเบิดหน้า ศอ.บต.ขณะถกสู้โควิด เจ็บระนาว
เผยหลักฐาน "ปิคอัพบรรทุกไม้" คาร์บอมบ์หน้าศอ.บต.