ปัญหา "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" เริ่มชำรุดเสียหายหลังหมดประกัน ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง เพราะค่าซ่อมและอุปกรณ์แต่ละชิ้นแพงมากนั้น เรื่องนี้เคยเป็นประเด็นที่ สตง.ตั้งข้อสังเกตและแนะนำให้ ศอ.บต.เตรียมการป้องกันปัญหาไว้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
โครงการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" เพราะมีราคาสูงถึงตู้ละ 549,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เคยถูกตรวจสอบโดยสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดยะลา เกี่ยวกับการบริหารจัดการและหาผู้รับผิดชอบหลังระยะประกันหมดลง ในฐานะที่ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" เป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน
ภายหลังการตรวจสอบ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดยะลา ได้ทำหนังสือลงวันที่ 25 เม.ย.61 ถึงเลขาธิการ ศอ.บต. ระบุว่า ได้ตรวจสอบโครงการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งติดตั้งแยกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ความมั่นคง ประกอบด้วย 3 จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี) จำนวน 74 ชุด เป็นเงิน 40.626 ล้านบาท และพื้นที่ด้านการพัฒนา จ.สตูล กับอีก 12 อำเภอของ จ.สงขลา จำนวน 19 ชุด เป็นเงิน 10.431 ล้านบาท รวมทั้ง 93 ชุด เป็นเงินทั้งสิ้น 58,730,800 บาท ตามสัญญาจ้างเลขที่ 4/2560 และ 5/2560 ลงวันที่ 23 ก.พ.60
ผลจากการตรวจสอบสังเกตการณ์การติดตั้งตู้กรองน้ำในพื้นที่ ณ จุดติดตั้ง มัสยิดดอนขี้เหล็ก หมู่ 5 ต.พะวง อ.เมืองสงขลา และมัสยิดบ้านหนองบัว หมู่ 5 ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันศุกร์ที่ 20 เม.ย.61 พบว่า
1.การบริหารการให้บริการนั้น ไม่ปรากฏผู้รับผิดชอบชัดเจนในการดูแลบริหารจัดการ ไม่มีป้ายแนะนำประชาสัมพันธ์ในการใช้บริการ ไม่มีเอกสารหรือคู่มือการใช้งานให้กับผู้ดูแลการให้บริการในพื้นที่ การประสานงานหน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ติดตั้งยังไม่มีความชัดเจน
2. ในส่วนของการบำรุงรักษาดูแลนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีการบริหารจัดการหลักเกณฑ์หรือวงรอบการตรวจสอบในรอบวัน รอบสัปดาห์ รอบเดือน หรือรอบปี หรือมีเอกสารคู่มือ ผังระบบการตรวจสอบทางเทคนิค หรือการบริการ
3. ไม่ปรากฏข้อมูลการจัดตั้งงบประมาณในการบริการและบำรุงรักษา หลังจากพ้นช่วงการรับประกันความชำรุดบกพร่องจากคู่สัญญา
หนังสือของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดยะลา ระบุอีกว่า จากข้อตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าการจัดทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาความต้องการของราษฎร หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น กระบวนการจัดทำโครงการมีหลายขั้นตอน แต่ขั้้นตอนหรือวงจรโครงการที่สำคัญที่สุด คือ ขั้นตอนการบริหารการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งควรทำให้เกิดความยั่งยึด ยึดประโยชน์สูงสุดของประชาน และมีการติดตามตรวจสอบ หรือประเมินโครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีประสิทธิภาพ ได้ผลคุ้มค่าหรือไม่
ในการนี้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดยะลา จึงเสนอให้ดำเนินการดังนี้
1. จัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดูแลทรัพย์สิน กำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษา กรณีมอบหมายให้หน่วยงานอื่นดูแลรักษาหรือรับโอน ให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2. ควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน มีข้อแนะนำการใช้ แสดงไว้ให้ชัดเจนประจำตู้กรองน้ำ
3. ควรจัดให้มีคู่มือหรือผังระบบเครื่องกรองน้ำ และข้อกำหนดการตรวจสอบทางเทคนิคตามวงรอบวัน รอบสัปดาห์ รอบเดือน รอบไตรมาส หรือรอบปี ตามแต่ความจำเป็นทางเทคนิค เพื่อรายงานตามลำดับจนถึง ศอ.บต.
4. ควรมีประมาณการค่าใช้จาย เช่น ค่าน้ำดิบ หรือค่าไฟฟ้า และประมาณการค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในรอบ 1 ปี
5. ควรจัดให้มีการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถแก้ปัญหาได้โดยเร็ว เช่น จัดให้มีสมุดคู่มือการใช้น้ำประจำตู้ให้บริการ ให้ผู้ใช้บริการช่วยกันบันทึกปริมาณการใช้น้ำและปัญหาต่างๆ หรือสำหรับผู้รับผิดชอบดูแลควรจัดทำสมุดบันทึกข้อมูลการใช้น้ำ ค่าใช้จ่ายค่าน้ำดิบ ค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และค่าซ่อมบำรุง
จะเห็นได้ว่าการดำเนินโครงการลักษณะนี้ มักมีปัญหาเรื่องการดูแลรักษาและปรนนิบัติบำรุงอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องหลังหมดสัญญาประกัน ซึ่งต้องใช้ทั้งงบประมาณและมีผู้รับผิดชอบชัดเจนตามที่ สตง. หรือหน่วยงานตรวจสอบอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้เสนอแนะเอาไว้
แต่ปัญหาคือ ศอ.บต.ได้ทำตามคำแนะนำหรือไม่ หากทำแล้ว เหตุใดปัญหาที่ สตง.แจ้งเตือนจึงยังปรากฏอยู่ กระทั่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ของทางราชการซึ่งใช้งบประมาณสูงกว่า 50 ล้านบาทอย่างเต็มประสิทธิภาพจริงๆ
จากการตรวจสอบไปยังผู้นำท้องถิ่นที่ได้รับการติดตั้งตู้กรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์จาก ศอ.บต. หลายคนหลายพื้นที่ให้ข้อมูลตรงกันว่า ทาง ศอ.บต.ไม่ได้ดำเนินการเรื่องต่างๆ ตามคำแนะนำของ สตง.แต่อย่างใด
------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
เจาะโครงการ"ตู้กรองน้ำ"ชายแดนใต้ ฮือฮาตัวละครึ่งล้าน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์!
"ศอ.บต.-บริษัทผู้ผลิต" ประสานเสียง "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" สุดคุ้ม!
นายกฯสั่ง กอ.รมน.-ป.ป.ท. ลุยสอบ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน"
เลขาฯศอ.บต.การันตี "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ไม่แพง! ยันโปร่งใสพร้อมให้ตรวจสอบ
แยก 2 สัญญาจัดซื้อวิธีพิเศษ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ไม่ต้องประมูล!
ตั้งคน ศอ.บต.สอบกันเอง - เปิดโครงการ 2 เทอีก 45 ล้านติดตู้กรองน้ำฯ
คนวงการตู้กรองน้ำ ชี้ ครึ่งแสนต่อตู้...ก็หรูแล้ว!
เปิดเอกสารชัด..."ประวิตร" เซ็น "อนุมัติ" โยกงบซื้อตู้กรองน้ำครึ่งล้าน!
เปิดใจ ปธ.สอบตู้กรองน้ำครึ่งล้าน เล็งดึงหน่วยงานกลางพิสูจน์ราคา!
ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน...เสี่ยงธรรมาภิบาลบกพร่อง
กรองน้ำครึ่งล้าน...ราคายกโรงงานมาใส่ตู้!
ศอ.บต.ตีข่าวชาวบ้านขอตู้กรองน้ำครึ่งล้าน - ทีมผู้บริหารแถลงใหญ่บ่ายนี้
"ประวิตร"ปัดเซ็นอนุมัติซื้อตู้กรองน้ำครึ่งล้าน - ชี้ราคาถูกกว่าปกติ!
บิ๊ก ศอ.บต.ตั้งโต๊ะแถลง "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ช่วยชาวบ้านประหยัดเดือนละ 6 แสน!
สอบ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" ส่อมวยล้ม ตอนจบซ้ำรอยนาฬิกาหรู?
ตู้กรองน้ำครึ่งล้านยังไม่จบ...พบ"บริษัทคู่เทียบ"เสนอขายสูงกว่าราคากลางครึ่งแสน!
สรุปผลสอบ "ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน" โปร่งใส คุ้มค่า แต่สั่งชะลอจัดซื้อล็อต
"ตู้กรองน้ำครึ่งล้าน"ชำรุดหลังหมดประกัน ชาวบ้านผวาค่าซ่อมแพงลิบ