ภายหลังฝ่ายความมั่นคงเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอีก 3 เดือน โดยเป็นการต่ออายุ-ขยายเวลาครั้งที่ 59 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 นั้น
ประเด็นนี้ทำให้เกิดกระแสตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการใช้กฎหมายพิเศษในลักษณะถาวร ไม่มีจุดจบ ซึ่งสวนทางกับชื่อและเจตนารมณ์ของกฎหมาย และคำชี้แจงของฝ่ายความมั่นคงเองที่ยืนยันว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) ได้พูดเรื่องนี้ในกิจกรรมพบปะสื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเนื้อหาอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นในการใช้กฎหมายพิเศษควบคู่ไปกับกฎหมายปกติ เพื่อสร้างสันติสุขในดินแดนปลายด้ามขวาน
"โดยรวมสถิติทางคดีลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ความมั่นคงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 จากเหตุปล้นปืน ถึง ธ.ค.2562 จะพบว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดจากคดีความมั่นคงทั้งหมด 10,131 เหตุการณ์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10,609 คน มีผู้เสียชีวิต 4,016 คน ตัวเลขคดีลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2551 เป็นต้นมา
แต่สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีอยู่ เพราะยังมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี กลุ่มผู้ก่อการร้าย กลุ่มลอบยิง วางระเบิด ที่ผ่านมาเราสามารถเดินหน้า 4 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ ปกครอง และภาคประชาชน ร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ไม่ให้บานปลาย
ในส่วนของคดีอาญาทั่วไป มีความแตกต่างจากคดีความมั่นคง โดยเฉพาะรูปแบบการก่อเหตุ โดยคดีอาญาทั่วไปมีมูลฐานความขัดแย้งในการกระทำผิดชัดเจน พยานหลักฐานสามารถหามาได้ แต่คดีความมั่นคงหาพยานยากมาก โดยเฉพาะพยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ หายากมาก วิธีการก่อเหตุเน้นความรุนแรง มีระเบิด มีการใช้อาวุธสงคราม ส่วนเหตุการณ์ที่เป็นคดีอาญาทั่วไป ส่วนใหญ่ใช้ปืนพกสั้น ใช้มีดแทง
จะเห็นว่าสถิติเหตุการณ์ที่ จ.สงขลา เหตุอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นเดือนหนึ่งอาจเท่ากับปัตตานี 3 เดือน สงขลามีเหตุยิง แทง ฆ่า เดือนหนึ่งราวๆ 10-20 คดี แต่ปัตตานี มี 4-5 คดี ถ้าเปรียบเทียบสถิติจำนวนคดียังแพ้สงขลา แพ้นครศรีธรรมราช แพ้สุราษฎร์ธานีด้วยซ้ำไป
แต่พอพูดถึงรูปแบบการก่อเหตุที่เป็นคดีความมั่นคง มีความซับซ้อน เป็นกลุ่มเป็นองค์กร มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีการดูต้นทาง มีชุดก่อเหตุ มีชุดระวังเจ้าหน้าที่ในการก่อเหตุ มีชุดโปรยตะปูเรือใบหลังเกิดเหตุ มีชุดสกัดกั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ มีชุดการสร้างหลักฐานเท็จในที่เกิดเหตุ เพื่อให้เกิดความสับสนในการทำคดี จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ผิดกับรูปคดีอาญาทั่วไปที่ไม่ซับซ้อนอะไร
เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญาทั่วไปมากำกับหรือกระชับสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ เพราะกฎหมายปกติ หรือกฎหมายอาญาทั่วไป เมื่อเหตุเกิด ตามผู้ต้องหาได้แล้ว เราสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียง 48 ชั่วโมง หรือ 2 วัน ถ้าเป็นคดีความมั่นคง ระยะเวลา 2 วันเราทำอะไรไม่ได้เลย อย่างที่บอกว่ามีการทำงานเป็นกลุ่มองค์กร แบ่งงานกันทำ ฉะนั้นจึงมีการพิจารณาให้ใช้กฏหมายพิเศษตั้งแต่ปี 2548 เพราะถ้าเราใช้รูปแบบ กฎหมายทั่วไปต่อสู้ ก็คงจะไม่มีวันควบคุมสถานการณ์ให้ยุติหรือยับยั้งให้มันเงียบสงบได้
ด้วยเหตุนี้ก็เลยมีการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ออกควบคู่กับกฎอัยการศึก โดยเมื่อมีเหตุการณ์ และได้ข้อมูลผู้สงสัย ฝ่ายกำลังจะใช้กฎอัยการศึกก่อน ซึ่งผู้ปฏิบัติที่ใช้จะเป็นฝ่ายทหารเป็นหลัก สามารถควบคุม ตรวจค้นผู้ต้องสงสัยได้ในเวลา 7 วัน หลังจากควบคุมภายในเวลา 7 วันแล้ว ถ้าเชื่อว่าบุคคลนี้มีพิรุธ มีลักษณะเป็นภัย หรือก่อการร้ายจริง ก็ไปขอออก พ.ร.ก.จากศาล ก็จะควบคุมตัวต่อได้ครั้งละ 7 วัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 30 วัน
การขออำนาจควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. ต้องขออำนาจศาลเพื่อออกหมายเท่านั้น จะทำโดยพลการไม่ได้ ศาลจะพิจารณาเหตุผลว่าการขยายเวลาควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมีเหตุผลอันควรหรือไม ถ้าศาลเห็นว่าสมควร ถึงจะต่อได้ จะเห็นว่าที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการควบคู่กับกฎหมายปกติมาตลอด
ปัจจุบันการทำคดีความมั่นคงอาศัยพยานในที่เกิดเหตุได้น้อยมาก มีคนน้อยมากที่จะยอมมาพูดมาคุยกับเรา ทุกวันนี้เราใช้หลักฐานทางนิติทางวิทยาศาสตร์ เป็นตัวนำ เช่น ลายนิ้วมือที่เก็บจากที่เกิดเหตุ วัตถุพยานที่เก็บมาได้จากขวดน้ำ หรือการเก็บสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ศาลยอมรับ ทั่วโลกยอมรับ ตรงนี้ทำให้มีคำพิพากษาลงโทษไปหลายคดี"
ด้านนายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเสริมว่า การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็นข้อดีสำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย และสถานะของผู้ที่ถูกควบคุมตัว ก็ยังเป็นผู้ต้องสงสัยเท่านั้น ถ้าไม่มีกฎหมายพิเศษ เขาจะกลายเป็นผู้กระทำผิดทันที ถือเป็นผู้ต้องหา ต้องถูกดำเนินคดีอาญาทันทีกระบวนการจะไม่ได้เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่สงสัย แต่จะไปในแนวทางของความผิดถูกเท่านั้น ถ้าสุดท้ายซักถามไปแล้ว พิจารณาร่วมกับพยานหลักฐานอื่นๆ แล้วเชื่อว่าไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ก็ถอนหมาย พ.ร.ก.ได้
ฉะนั้นเรื่องกฎหมายพิเศษ จึงเป็นเรื่องของมุมมอง และควรต้องมองให้ครบทุกมุม!
-------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
รัฐต่อ พ.ร.ก.จ่อ 60 ครั้ง! - ใต้ป่วนบึ้มข้างกำแพง-ยิงใกล้โรงเรียน