ในยุคที่พี่น้องประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ปรากฏว่ายังมีกลุ่มมิจฉาชีพและบุคคลที่ไม่หวังดีปั้นโครงการประหลาดหลอกลวงชาวบ้าน ซ้ำเติมคนไทยด้วยกัน
ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีเอกสารชักชวนให้ชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สมัครเข้า "โครงการรักแผ่นดินเกิด" กระจายไปทั่วพื้นที่ โดยใช้คำว่าว่า "โครงการของพ่อหลวง" ที่สื่อนัยถึงสถาบันเบื้องสูง แต่กลับไม่ระบุแหล่งที่มา และไม่มีรายละเอียดชื่อเสียงเรียงนามขององค์กรเจ้าของโครงการ
เป้าหมายที่ให้ชาวบ้านสมัครกันมากๆ ก็เพื่อตั้ง "คณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม" โดยจะมีคณะกรรมการที่ว่านี้เรียกว่า "คณะมนตรี" ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด
หลายพื้นที่มีโครงสร้างของ "คณะปฏิรูปฯ" ออกมาแล้ว มีภาพตัวบุคคลในโครงสร้างชัดเจน แต่ไม่แน่ชัดว่าได้รับความยินยอมจากบุคคลที่ปรากฏในภาพ สมัครใจเป็น "คณะปฏิรูปฯ" จริงหรือไม่
มีข้อมูลว่าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประชาชนสนใจสมัครเข้าร่วม "คณะปฏิรูปฯ" จำนวนไม่น้อย เพราะกลุ่มคนที่มาชักชวนอ้างว่า หากใครที่สมัครเข้าไปแล้วได้รับเลือกเป็นประธานคณะมนตรีระดับหมู่บ้านและตำบล จะได้เงินเดือนเดือนละ 20,000 บาท ผู้ชำนาญการณ์หรือที่ปรึกษาได้ 30,000 บาท ส่วนกรรมการที่เป็นชาวบ้านได้ 10,000-15,000 บาทต่อเดือน
กลุ่มคนที่ชักชวนชาวบ้านอ้างว่า องค์กรของพวกตนไม่ใช่หน่วยราชการ แต่เป็นภาคประชาชน มีสิทธิ์เสนอสิ่งดีๆ ให้กับคนไทยภายใต้กรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับฉันทานุมัติจากหน่วยงานราชการ เมื่อโครงการเกิดขึ้นจริง ก็จะมีเงินเข้าบัญชีชาวบ้านและคนที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการคณะปฏิรูปฯทุกคน
กิจกรรมที่ชักชวนชาวบ้านทำ ก็เน้นเรื่องจิตอาสา และส่งเสริมการขุดเจาะพลังงาน เพื่อให้ราคาน้ำมันลดเหลือลิตรละ 8 บาท อันจะช่วยลดต้นทุนการผลิตทุกด้านของพี่น้องประชาชน ทำให้คนไทยอยู่ดีกินดี
ชาวบ้านในอำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี รายหนึ่ง อายุกว่า 60 ปี เล่าว่า มีคนจากพื้นที่ใกล้ๆ โคกโพธิ์ เป็นผู้หญิง 2 คน ชื่อ "นะห์" กับ "ยะห์" มาหาและบอกว่า เป็นตัวแทน "โครงการรักแผ่นดินเกิด" อ้างว่าเป็นโครงการของพ่อหลวงที่จะนำงบประมาณมาพัฒนาประเทศ ทำให้คนในชาติมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งเสริมอาชีพให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากรัฐและนายทุน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
"ฟังเขาพูดก็ดีนะ เขาบอกว่าจะช่วยให้งบลง และเข้าถึงรากหญ้าทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกหมู่บ้าน ให้สามารถช่วยเหลือครอบครัวและไม่เป็นภาระต่อสังคมโดยมีจิตอาสาหรืออาสาสมัครช่วยขับเคลื่อนงาน งบประมาณที่ได้มาจะลงสู่จังหวัดโดยตรง โดยไม่ผ่านหน่วยงานของรัฐ" ชาวบ้านรายนี้ กล่าว
แต่โครงการที่ฟังดูดีเริ่มมีข้อกังขา เพราะแม้จะสมัครฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แถมยังสมัครได้โดยการยื่นเอกสารโดยตรง และผ่านทางออนไลน์ แต่เมื่อชาวบ้านสมัครเข้าไปจริงๆ แล้ว กลับมีการขอเรียกเก็บสมุดบัญชีธนาคาร บัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มขอเงินค่าดำเนินการคนละ 3,000 บาทบ้าง 10,000 บาทบ้าง โดยใครที่ยอมจ่าย จะสามารถกู้เงินได้ 1 ล้านบาท ทำให้ชาวบ้านเริ่มสงสัย เพราะคล้ายคลึงกับแชร์ลูกโซ่ที่เคยตกเป็นข่าว จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐเร่งตรวจสอบ
"เขาบอกว่าคนที่จะเป็นประธานโครงการ หรือคณะมนตรีในระดับหมู่บ้าน ตำบล จะเน้นคนที่หาเช้ากินค่ำ เขาขอบัตรประชาชน และบัญชีธนาคารของคนทั่วไปและคนพิการ อายุตั้งแต่ 15 ปี ถึง 90 ปี ผู้สมัครสมาชิกต้องแสดงหลักฐาน บัตรประชาชน 1 ชุด บัญชีธนาคาร 1 ชุด และรูปถ่าย 2 นิ้วหรือ 1 นิ้วจำนวน 1 รูป เขาบอกว่าในบ้านมีสมาชิกกี่คน ก็จะได้รับการช่วยเหลือทุกคน แค่สมัครเข้ามาก็จะได้รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท ฟังไปฟังมาก็เริ่มคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้จริง และไม่น่าเป็นเรื่องที่ดีแน่ จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายช่วยกันตรวจสอบ" ชาวบ้านอำเภอโคกโพธิ์ กล่าว
ขณะที่หญิงมุสลิมอีกรายหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ข้อมูลว่า มีการเรียกเงินสมาชิกคนละ 3,000 บาท อ้างว่าจะสามารถกู้ได้ 1,000,000 บาท พอเกิดเรื่องแบบนี้จึงไม่อยากจะเชื่อ เพราะตอนแรกบอกว่าไม่เสียเงิน แต่คนที่สมัครสมาชิกก็ให้สำเนาบัตรประชาชนกับบัญชีธนาคารไปหมดแล้ว
ชาวบ้านจากอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งมีภรรยาเป็นครู เล่าเพิ่มเติมว่า คนในโครงการมักจะชักชวนคนที่เป็นครู เพื่อให้มาเป็นแกนนำ เพราะสร้างความน่าเชื่อถือได้ และจะไม่ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาเป็นประธานคณะมนตรี ทั้งยังมีการให้ข้อมูลว่าคณะปฏิรูปยุทธศาสตร์แห่งราชอาณาจักรไทสยาม ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อล้มล้างรัฐบาล หรือปฏิวัติรัฐประหาร แต่ต้องการปฏิรูปและทำสิ่งดีๆ ให้บ้านเมือง ให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ ที่เป็นประชาธิปไตยมา 88 ปี มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับแต่ก็แก้ปัญหาประเทศไม่ได้
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า โครงการนี้แพร่ไปในหลายจังหวัด โดยใช้วิธีการเดียวกับที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะในภาคอีสานพบแล้ว 4 จังหวัด คือ อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ส่วนภาคตะวันตก พบหลักฐานที่ จ.ตาก มีการปล่อยข่าวว่า ประธานใหญ่ของโครงการนี้ ซึ่งไม่ระบุตัวตน ตั้งเป้าหาสมาชิกให้ได้ 12-36 ล้านคนภายในเดือน ก.พ.63
ความเคลื่อนไหวที่เริ่มมีคนรับรู้ในวงกว้าง ทำให้ฝ่ายทหารขยับออกมาตรวจสอบ โดย พล.ต.ธิรา แดหวา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างเบื้องสูง มีการหาสมาชิกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เบื้องต้นพบว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และมีชาวบ้านสอบถามเข้ามา คาดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อหลอกนำเอกสารหลักฐานต่างๆ ของชาวบ้านไปทำธุรกรรมทางการเงิน
ขณะที่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ไม่เคยเห็นโครงการแบบนี้ ไม่ใช่ของจริงแน่นอน จึงอยากฝากเตือนพี่น้องประชาชนไม่ให้หลงเชื่อ ส่วนทางกองทัพจะประสานไปยังฝ่ายตำรวจ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดต่อไป
------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอกสารที่มีการแพร่กระจายแจกจ่ายในพื้นที่ชายแดนใต้