ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เสนอรัฐบาล "ลุงตู่" เปิดค่ายทหารให้ตรวจสอบศูนย์ควบคุมตัว พร้อมเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มฆ่าอุ้มหาย เพื่อแก้ปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหายหลายกรณีในประเทศไทยและชายแดนใต้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2562/2563
ในรายงานได้นำเสนอบทวิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนใน 25 ประเทศและดินแดน รวมทั้งประเทศไทย โดยได้มุ่งเน้นบทบาทของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต่อสู้กับความพยายามในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง การต่อสู้กับปฏิบัติการผ่านโซเชียลมีเดียที่รุนแรง และการเซ็นเซอร์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง
นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปฟิซิก กล่าวสรุปภาพรวมของรายงานฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่า สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถือว่าน่าผิดหวัง เพราะประเทศยังอยู่ในเงาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทั้งที่ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านควรนำไปสู่การมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้มีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเลวร้ายที่สุดในภูมิภาค แต่การยกเลิกคำสั่ง คสช.ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยมีสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้นตามมาตรฐานสากล
สำหรับประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยว่า ปีที่ผ่านมามีความก้าวหน้าและความพยายามทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทย แอมเนสตี้ฯจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อให้มีการทำงานในประเด็นนี้มากขึ้น เรื่องสำคัญที่เรื้อรังมานานคือความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธในสามจังหวัดชายแดนใต้ ขอให้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลำเอียงต่อการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายในทุกกรณี ให้ผู้ถูกควบคุมตัวตามสถานที่ต่างๆ และค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนาย ญาติ และการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม รวมทั้งอนุญาตหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวทุกแห่งได้
ส่วนเรื่องการทรมานและการบังคับให้สูญหาย (อุ้มฆ่า-อุ้มหาย) อยากให้รัฐบาลผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยที่มีไว้ต่อนานาชาติในเรื่่องนี้ ทั้งยังอยากให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ รอบด้าน ต่อข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ ให้มีการนำตัวคนผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม รวมถึงต้องสืบหาและเปิดเผยที่อยู่ของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม รวมทั้งบุคคลอื่นๆ ที่สูญหาย จนกว่าจะทราบชะตากรรม
หลังการแถลงข่าวของแอมเนสตี้ฯ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ม.ค.63 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ยังมีเวทีเสวนาเรื่อง "ชุมนุมโดยสงบเพื่อความสันติ" จากนั้นผู้แทน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2562/2563 และข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ผ่านทางตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศด้วย
------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
อ่านประกอบ :