หลังแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.62 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย สำหรับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ "ชุดใหม่" (แต่หน้าเดิมบางส่วน) ที่นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการ สมช.
ผ่านมาไม่กี่วัน ก็มีข่าวดีเกี่ยวกับ "โต๊ะพูดคุย" ทันที เพราะมีข่าวที่ได้รับการยืนยันจากหลายแหล่งว่า จะมีการพบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ "ผู้แทนกลุ่มบีอาร์เอ็น" ในช่วงปักษ์แรกของเดือน ธ.ค.นี้ โดยนัดกันที่ประเทศอินโดนีเซีย
ความพยายามในการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะสายคุมกำลัง หรือสายฮาร์ดคอร์ มีมาตลอด และมีข้อเรียกร้องชัดเจนขึ้นจากฝ่ายรัฐบาลไทยตั้งแต่ยุคที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หรือ "บิ๊กเมา" อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ (ไตรมาสสุดท้ายของปี 61 ถึงก่อนสิ้นปีงบประมาณปี 62) กระทั่งในการแถลงข่าวล่าสุดของ พล.อ.วัลลภ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 ก.ย. ก็เน้นย้ำท่าทีนี้อย่างชัดเจน (อ่านประกอบ : คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯฝากถึง BRN "มาคุยกันเถอะครับ")
โดยช่องทางที่ใช้คือ ประสานงานผ่านผู้อำนวยความสะดวกของรัฐบาลมาเลเซีย ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ (Tan Sri Abdul Rahim bin Mohd. Noor) อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย
มีรายงานว่า แม้กระบวนการพูดคุยกับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ที่เป็น "องค์กรร่ม" ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม และพูดคุยกับรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 58 จะหยุดชะงักไปตั้งแต่ต้นปี 62 และ นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายมารา ปาตานี ได้ลาออกจากการทำหน้าที่ไปด้วย แต่คณะทำงานเทคนิคฯ หรือฝ่ายเลขาฯ ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายรัฐบาลไทย ก็ได้พยายามประสานงานและพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในทางลับตลอดมา รวมถึงแกนนำบางส่วนจากกลุ่ม "มารา ปาตานี" เองด้วย
และทีมงานหลักๆ ของฝ่ายเลขาฯชุดนี้ ก็ทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค พล.อ.อุดมชัย เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย กระทั่งถึงยุคที่ พล.อ.วัลลภ มารับไม้ต่อ ด้านหนึ่งได้ใช้องค์กรระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง ประสานจัดวงพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐแบบไม่เลือกกลุ่ม โดยใช้สถานที่ในแถบยุโรป ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศองค์กรนี้เคยมีบทบาทเป็น "ตัวกลาง" ป่ระสานให้เกิดการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาแล้ว ในการพูดคุยเจรจาแบบปิดลับในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ปี 52-54)
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายเลขาฯก็ประสานผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก รัฐบาลมาเลเซีย ให้ดึงกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะสายคุมกำลัง มาร่วมโต๊ะพูดคุย เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า บีอาร์เอ็นคือขบวนการหลักที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแเดนภาคใต้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา
และแม้จะมีข่าวมาหลายครั้งว่า ผู้อำนวยความสะดวกพยายามประสานให้ นายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าผู้นำสูงสุดของบีอาร์เอ็นสายคุมกำลัง มาร่วมโต๊ะพูดคุย ทว่ายังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ปรากฏว่าล่าสุดได้มีการนัดพบกันระหว่างทีมผู้อำนวยความสะดวก กับแกนนำบีอาร์เอ็นสายฮาร์ดคอร์จำนวนหนึ่งที่มาเลเซีย เมื่อปลายเดือน พ.ย. กระทั่งมีการส่งสัญญาณการนัดพบกันระหว่างคณะทำงานเทคนิคฯของคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย กับผู้แทนบีอาร์เอ็น ในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงปักษ์แรกของเดือน ธ.ค.
มีรายงานว่าผู้แทนบีอาร์เอ็นที่คาดว่าฝ่ายรัฐบาลไทยจะได้พบ คือ กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นที่เคยร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพ (ชื่อกระบวนการพูดคุยที่ใช้ในขณะนั้น) กับรัฐบาลไทยในยุค นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคณะพูดคุยฯที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม (ทั้งหมดเป็นตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นหัวหอก
ล่าสุดมีข่าวการเตรียมประเด็นพูดคุยที่อินโดนีเซียเอาไว้แล้ว โดยจะเป็นการหารือเรื่อง "กรอบการพูดคุย" ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร ซึ่งมีการกำหนดเอาไว้คร่าวๆ ว่า จะเป็นการพูดคุยกันของคณะทำงานเทคนิคร่วมฯ เดือนละ 2 ครั้ง และให้คณะพูดคุยฯชุดใหญ่พบปะกัน 2-3 เดือนต่อ 1 ครั้ง
สำหรับนายฮัสซัน ตอยิบ เคยเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ซึ่งการพูดคุยมีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง กระทั่งมีการส่งข้อเรียกร้อง 5 ข้อในนามบีอาร์เอ็นมายังรัฐบาลไทย ปรากฏว่าฝ่ายไทยมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ประกอบกับเกิดปัญหาการเมืองภายใน มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ทำให้การพูดคุยหยุดชะงักไป และล่มลงในที่สุด (อ่านประกอบ : เอกสารบีอาร์เอ็น...เป็นเรื่อง!)
เป็นที่น่าสังเกตว่า หากโต๊ะพูดคุยรอบใหม่กับบีอาร์เอ็นเป็นการพูดคุยกับกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ จริง จะมีการปัดฝุ่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อขึ้นมาเสนอซ้ำอีกหรือไม่ และอนาคตของกระบวนการพูดคุยจะยืนยาวกระทั่งมีข้อตกลงบางอย่างที่มีนัยสำคัญต่อความสันติสุขชายแดนใต้ได้หรือเปล่า
เพราะก็มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงไทยบางปีกระบุว่า หลังเปิดตัวพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทยเมื่อปี 55 นายฮัสซันก็ถูกลดบทบาทในโครงสร้างระดับบริหารของบีอาร์เอ็น และสำหรับการพูดคุยรอบใหม่นี้ ฝ่ายคุมกำลัง สายฮาร์ดคอร์ ตลอดจน นายดูนเลาะ แวมะนอ ก็ยังคงนิ่งเงียบและสงวนท่าที