แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่้อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มาระยะหนึ่งแล้ว (อ่านประกอบ : รู้จัก "หัวหน้าพูดคุยดับไฟใต้ป้ายแดง" พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ)
แต่ พล.อ.วัลลภ ยังแทบไม่เคยสื่อสารกับสาธารณะถึงแนวทางการทำงานเลย มีเพียง "คณะทำงาน" ที่ขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยมาตั้งแต่ยุค พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะพุดคุยฯ เท่านั้น ที่ยังทำงานทางลับอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.62 ถือเป็นฤกษ์งามยามดี พล.อ.วัลลภ นำทีมพูดคุยฯบางส่วน เปิดตัวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT โดยคณะพูดคุยฯที่ขึ้นเวที นอกเหนือจาก พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะฯแล้ว ยังมี นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. นายธนากร บัวรัษฎ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ และ พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งหมดได้ร่วมกันแถลงข่าวแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ และแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาคมต่างประเทศและสื่อมวลชน ในหัวข้อ "สนทนากับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ความท้าทายและความคาดหวังต่อสันติภาพชายแดนใต้"
พล.อ.วัลลภ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยว่ามีความมุ่งมั่นและจริงจังต่อการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็น "วาระแห่งชาติ" และเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธีตาม "ยุทธศาสตร์ชาติ" พ.ศ.2561-2580 และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2562-2565 (เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2562-2565) สาระสำคัญคือให้รัฐต้องส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยฯ และมีหลักประกันความต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วม
นอกจากนี้รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นและจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพร้อมพิจารณาตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อข้อเสนอของกลุ่มผู้เห็นต่าง จากรัฐ เพื่อให้มาร่วมกันสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน และจากนี้จะสานต่อภารกิจของทีมพูดคุยฯชุดที่แล้ว ซึ่งได้วางรากฐานไว้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา บนพื้นฐานของการให้เกียรติ ความจริงใจ และความสมัครใจ
"คณะพูดคุยฯจะสามารถเป็นจุดเชื่อมสำคัญในการสร้างสันติสุข โดยจะประสานการทำงานใกล้ชิดกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพภาคที่ 4 กอ.รมน. ศอ.บต. ภาคประชาชน ภาควิชาการ และประชาคมระหว่างประเทศ ที่สำคัญคณะพูดคุยฯพร้อมทำงานกับสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. โดยเฉพาะ ส.ส. พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการสร้างสันติสุข เพราะตระหนักว่ากระบวนการสันติสุขที่ครอบคลุม จำเป็นต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและผลักดันของทุกฝ่าย ส่วนเรื่องที่ต้องปรับปรุงก็ยินดีดำเนินการ" พล.อ.วัลลภ กล่าว
พล.อ.วัลลภ ยังบอกถึงเป้าหมายระยะใกล้ว่า คณะพูดคุยฯประสงค์ที่จะขับเคลื่อนภารกิจให้สัมฤทธิ์ผลและมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นภายในปี 2563 โดยจะสื่อสารพัฒนาการของกระบวนการพูดคุยฯ ให้สาธารณชนทั้งในและนอกพื้นที่ได้รับทราบเป็นระยะ รวมทั้งโอกาสที่จะมีการดำเนินการสำคัญและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ที่ผ่านมามีการพูดคุยตลอดในหลายช่องทาง ทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังไม่มีประเด็นเรื่อง autonomy หรือ "การปกครองตนเอง" ตลอดจนเรื่องการเป็นเอกราช และยังไม่ได้เจาะลึกถึงปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าจากนี้ไปได้เริ่มพูดคุย ก็คงต้องเป็นการคุยจากเรื่องง่ายไปหาเรื่องยาก เพราะถ้าสิ่งที่ง่ายทำได้ สิ่งที่ยากก็จะตามมา และนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเป็นการพูดคุยกับกลุ่มมาราปาตานี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอให้ทางมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย เชิญตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นมาร่วมโต๊ะพูดคุยฯด้วย พล.อ.วัลลภ ตอบว่า ได้พยายามหากลุ่มที่มีอิทธิพลในการก่อความความรุนแรงในพื้นที่ โดยประสานกับทางมาเลเซียไปแล้ว ซึ่งมาเลย์ก็ยินดีที่จะดำเนินการตามที่ร้องขอ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มไหนบ้าง ต้องรอดูอีกครั้ง คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีความชัดแจน ส่วนองค์กรต่างประเทศก็ได้มีการลงพื้นที่ชายแดนใต้ มีการหาข้อมูลและข้อเสนอแนะส่งให้รัฐบาลไทยอยู่แล้ว
สำหรับประเด็นการกดดันทางทหาร เพื่อให้กลุ่มขบวนการหลังชนฝาจนต้องมาพูดคุยฯ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นมาตรการที่ฝ่ายความมั่นคงไทยใช้ในห้วงที่ผ่านมานั้น พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า การพูดคุยต้องให้เกียรติ จริงใจ และสมัครใจ ไม่มีการใช้วิธีอื่นกดดัน เพราะไม่เกิดประโยชน์
"ผมมองว่าสันติภาพเกิดได้หลายวิธี แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการพูดคุย เพราะนอกจากจะไม่ทำให้สูญเสียแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายยังได้ชัยชนะร่วมกัน นำไปสู่ความสันติสุขถาวรของพื้นที่" หัวหน้าคณะพูดคุยฯ กล่าว
ขณะที่ พล.ต.เกรียงไกร กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะไทยพุทธหรือมุสลิม ต้องทำหน้าที่ตรงนี้อย่างเข้มแข็ง แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากเดิม และใช้วิธีเดินเท้าเข้าหาประชาชน จนเกิดใกล้ชิดและความไว้วางใจมากขึ้น ช่องว่างต่างๆ ก็จะลดลง แต่ไม่ได้กดดันเพื่อให้มีการพูดคุยฯ
ด้าน นายธนากร กล่าวว่า หากส่งข้อความสั้นๆไปหากลุ่มบีอาร์เอ็นได้ จะบอกว่า "อยากให้มาคุยกันเถอะครับ" เพราะการพูดถึงเงื่อนไขหรือการปฏิบัติต่างๆเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้คิดได้กว้างขึ้น แล้วนำบทเรียนจากครั้งก่อนๆ มาศึกษาว่าทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จ
-------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คณะพูดคุยฯ (จากซ้าย) นายธนากร บัวราษฎร์, พล.อ.วัลล รักเสนาะ, นายฉัตรชัย บางชวด และ พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์
ขอบคุณ : ข่าว/ภาพ จาก อัญชลี อริยกิจเจริญ ผู้สื่อข่าวสายทหาร เนชั่นทีวี ช่อง 22