เหตุการณ์โจมตีป้อม-จุดตรวจ ชรบ.บ้านทุ่งสะเดา บ้านย่อยของบ้านทางลุ่ม ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของกองกำลังภาคประชาชนตลอด 15 ปีไฟใต้
จะว่าไปแล้วเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการของทหารหลัก ทหารพราน ตำรวจ จุดตรวจ หรือแม้กระทั่งค่ายทหารย่อยของหน่วยเฉพาะกิจเลข 4 ตัวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ก็ยังไม่เคยมีผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้
โศกนาฏกรรมที่บ้านทุ่งสะเดา มีผู้สังเวยชีวิตถึง 15 ราย เป็นชาย 10 หญิง 5 ในจำนวนนี้นับถือศาสนาพุทธ 13 และนับถือศาสนาอิสลาม 2 ราย
ผู้เสียชีวิตที่เป็นมุสลิม ครอบครัวได้ทำพิธีฝังตามหลักศาสนาตั้งแต่วันพุธที่ 6 พ.ย.62 หรือวันรุ่งขึ้นก่อนครบ 24 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุสลด
นายซัมซามี สามะ หนึ่งในผู้เสียชีวิต เป็นราษฎรหมู่ 5 ต.ลำพะยา ทำพิธีฝังที่สุสานบ้านทุ่งสะเดา ส่วน นางพีอะ กาปานาตู ผู้เสียชีวิตอีกคน ญาติได้นำศพกลับไปประกอบพิธีที่บ้านแบหอ ต.กาลอ อ.รามัน จ.ยะลา
บรรยากาศงานศพของซัมซามี เป็นไปอย่างหงอยเหงา ครอบครัวทำพิธีอย่างเรียบง่ายและเร็วที่สุด
คำสุดท้าย...จะไปเข้าเวร ชรบ.
คำบอกเล่าของ สารินยา ใจยา ภรรยาวัย 40 ปีของซัมซามี ทำให้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในหลายๆ ด้าน นอกเหนือจากด้านคดี
"คืนเกิดเหตุ 2 ทุ่มกว่าๆ กำลังจะพาลูกเข้านอน ส่วนสามี กินข้าวเสร็จเขาก็เข้ามาบอกว่าจะไปเข้าเวรแล้วนะ (เข้าเวร ชรบ.) จากนั้นพอ 4 ทุ่มกว่าๆ ได้ยินเสียงปืนดังรัวยาวเหมือนพลุ แล้วก็ได้ยินเสียงปืนไกลออกไป ตอนนั้นคิดแล้วว่ายิงกันที่ป้อม ชรบ.แน่ๆ สามีเราก็อยู่ที่นั่น ภาวนาขอให้เขาหนีได้ทัน แต่พอเทียงคืน ผู้ใหญ่บ้านพร่อน (บ้านพร่อน ต.พร่อน อ.เมืองยะลา) ที่เขาเป็นญาติกันกับสามีมาบอกว่า ในกลุ่มคนที่ตายมีสามีด้วย ได้ยินตอนนั้นก็ร้องไห้ทันที ทำอะไรไม่ถูก ตอนนี้ยังไม่ได้บอกลูกว่าพ่อเขาไปไหน ลูกก็ได้แต่ถามหาพ่อ เพราะทุกเช้าสามีจะอาบน้ำให้ลูกทุกวัน เขาเลยสนิทกับลูก"
ครอบครัวของ สารินยา กับ ซัมซามี เป็นครอบครัวเล็กๆ มีลูกสาว 1 คน อายุ 2 ปี 4 เดือน ตอนนี้เรียนอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็ก อบต.ลำพะยา เมื่อสามีจากไป ทำให้สารินยามืดแปดด้าน ไม่รู้จะทำอย่างไร
"สามีรักครอบครัวมาก ตอนนี้เขาตั้งใจสร้างบ้านของเราเอง เพราะทุกวันนี้อาศัยบ้านน้องสาวอยู่ ไม่คิดเลยว่าเขาจะจากไปเร็ว เราแต่งงานกันมา 10 ปีแล้ว มีลูกสาว 1 คน ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเอาอย่างไรต่อไป คงต้องทำพิธีให้เสร็จก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะทำอยางไรกับอนาคตของตัวเองและลูก จะอยู่ที่นี่ต่อ หรือจะกลับไป จ.พะเยา ตอนนี้คิดอะไรไม่ออก มืดไปหมด ตั้งแต่คืนเกิดเหตุค ไม่มีใครได้นอนกันเลย ทุกคนรู้ว่าเกิดเหตุที่นั่น เพราะที่นั่นเป็นป่ายาง เข้าไปลึก น่ากลัว ดูเหมือนไม่มีอะไร ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุ แต่ตอนนี้มันเกิดแล้ว เกิดกับครอบครัวเราด้วย สำหรับกลุ่มที่ก่อเหตุครั้งนี้ทุกคนบอกว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบ ก็เชื่อว่าเป็นกลุ่มนั้นแหละที่ทำ ไม่มีใครแล้ว"
14 ศพกองรวมในป้อม ชรบ.
ผู้ใหญ่บ้านพร่อนที่ สารินยา พูดถึง คือ นายมะพารี กาหลง เขาเล่าว่าเป็นญาติกับซัมซามี ตอนที่เกิดเหตุก็พยายามเช็คข้อมูลตลอด ไม่อยากให้มีใครต้องสูญเสีย
"ตอนรถกู้ชีพผ่านมา ผมขอขึ้นไปด้วย พอเข้าที่เกิดเหตุพบว่า ศพ 14 ศพกองอยู่ในจุดเดียวกันในป้อม ชรบ. จากนั้นก็พาส่งโรงพยาบาลก่อน 3 ศพ ส่งตอนหลังอีก 11 ศพ รวมทั้งคนเจ็บ จากนั้นไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 ศพ เสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมร้องไห้เลยเวลาพูดถึงคนตาย"
ศูนย์รวมผู้คน เข้าเวร-พูดคุย-กินซุป
ชาวบ้านอีกรายหนึ่งในทุ่งสะเดา เล่าให้ฟังถึงสภาพพื้นที่ นาทีเกิดเหตุ รวมไปถึงบรรยากาศปกติที่ป้อม ชรบ.
"มันน่ากลัวมากแถวนี้ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง หนักๆ ทั้งนั้น เหตุแรกปี 47 เชือดคอชาวบ้าน เหตุที่ 2 ระเบิด อส. เพิ่งผ่านมาครบ 3 เดือนเอง และเหตุเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ถือว่าหนักมาก ยังไม่เคยได้ยินเลยว่ามีเหตุการณ์โจมตีครั้งไหนที่สูญเสียมากขนาดนี้ จริงๆ ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน หัวหน้า อส.มาเล่าให้ฟังว่า ช่วง 2-3 วันก่อนมีเด็กวัยรุ่นจากนอกพื้นที่มาวนเวียน และหัวหน้า อส.ก็บอกว่าให้เฝ้าระวังพื้นที่ของเราด้วย อาจจะมีเหตุ ทุกคนก็ระวังแล้วนะ แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดที่นั่น"
"ตรงจุดที่ตั้งป้อม ชรบ.น่ากลัวมาก พื้นที่น่ากลัว แต่ก็มีคนไปอยู่รวมๆ กัน บางคนไปเข้าเวร บางคนไปเที่ยวก็มี เขาจะไปกินซุุปกัน ว่่่่างๆ ก็หากิจกรรมทำกัน หลายคนตั้งใจไปเที่ยว ไปคุย หลายคนที่โดนเป็นคนนอกพื้นที่ ก็มาเที่ยวเล่น คนเฝ้าเวรไม่รูู้จะทำอะไรก็หากิจกรรมทำไปเรื่อยๆ และที่นั่นจะอยู่กันผสมกันทั้งพุทธและมุสลิม"
เหมือนอยู่รวมกันให้เขามายิง
นายธนง ไหมเลือง นายก อบต.ลำพะยา ในฐานะหัวหน้า อรบ. (อาสาสมัครรัรกษาหมู่บ้าน) เล่าถึงการทำงานของกองกำลังภาคประชาชนที่ลำพะยา ในฐานะที่เป็นหัวหน้าชุดระดับตำบล
"ลำะพะยามี 7 หมู่บ้าน ก็มาตั้งเวรรวม บางคืน 40-50 คนมาอยู่ด้วยกันทั้ง ชรบ. ทีมงานพรรคพวกที่มาอยู่ก็เยอะมาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ประมาท แต่สุดวิสัยกันจริงๆ ผมนึกแล้วว่าเราอยู่ป้อมยาม เรามาอยู่รวมกันให้เพื่อนมายิง เพราะเขามีเป้าหมาย แต่เราจะยิงเขาเราไม่มีเป้าหมาย เคยบอกกับเพื่อนในป้อมอยู่ว่าเรามาอยู่ตั้งแต่ปี 47 อยู่ให้เขามายิง”
นายก อบต.ลำพะยา บอกว่า เป้าหมายหลักของคนร้ายคือชิงอาวุธปืน
"ที่ป้อมมีปืนหลายกระบอก คนที่เสียชีวิตคนหนึ่งใช้เอ็ม 16 ยิงตอบโต้คนร้าย โดนแน่นอน 100% พอหมดแม็ค เขาก็เสียหลัก คนร้ายจู่โจมทันที คนร้ายทำอย่างเป็นระบบ วางตะปู ยิงเอ็ม 79 มีไม่น้อยกว่า 30 คนที่ก่อเหตุทุกจุด ส่วนชุดที่โจมตีป้อมมีประมาณ 10 กว่าคน"
คำบอกเล่าของคนพื้นที่น่าจะพออธิบายได้ว่า สาเหตุของความสูญเสียครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร...
ด้านความเห็นในเชิงยุทธวิธีจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ลงพื้นที่เกิดเหตุ บอกว่า ป้อม ชรบ.ตั้งอยู่ในจุดที่เปลี่ยว ล้อมรอบด้วยป่ายาง ถนนที่ผ่านหน้าป้อมเข้าไปในหมู่บ้านได้ แต่อีกด้านก็ยังทะลุไปได้อีกหลายที่ โดยปกติตั้งมีป้อมจุดตรวจบริเวณนี้ ก่อนถึงป้อมควรมีสมาชิกไปเฝ้าสังเกตการณ์หัวท้าย เพื่อเฝ้าระวังการโจมตี ซึ่งหลังจากนี้คงต้องปรับเชิงยุทธวิธีกันขนานใหญ่ รวมถึงเพิ่มความเข้มในการฝึกให้มากขึ้นด้วย
---------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พิธีศพซัมซามี
2-3 สภาพภายในป้อมหลังเกิดเหตุ (ภาพจากเจ้าหน้าที่)
4-5 เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บหลักฐาน
อ่านประกอบ :
คนร้ายบุกโจมตีจุดตรวจ ชรบ.ในยะลา ดับ 14 ศพ-ชิงปืน!
เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุโจมตี ชรบ.ในยะลา
เมื่อกองกำลังประชาชนตกเป็นเป้า! ประเมิน 4 ปัจจัยไฟใต้ปะทุอีกระลอก
นายกฯประณามเหตุโจมตีป้อม ชรบ. ยอดตายพุ่ง 15 - หญิง 4 ศพ
แม่ทัพ 4 สั่งปรับแผนห้ามเฝ้าป้อม-นอนฐาน - ปากคำชาวบ้านคนร้ายมีสาหัส
ผบ.ตร.บินด่วนลงใต้ พบคนร้ายใช้เอ็ม 79 ถล่มป้อม ชรบ.
"ปณิธาน" เตือนภัย "ผู้นำรุ่นใหม่" แสดงศักยภาพโหมไฟใต้ส่งท้ายปี