ท่ามกลางข่าวเกรียวกราวและกระแสวิจารณ์ว่าด้วยกองทัพเรือไทยเพิ่งเซ็นสัญญาจัดซื้อเรือ LPD หรือเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่จากจีน ด้วยงบประมาณถึง 6.1 พันล้านบาท
ในอีกภูมิภาคหนึ่งกลับมีปฏิบัติการโจมตีด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ "โดรน" ภายใต้นิยามที่อาจเรียกได้ว่านี่คือ "สงครามทางอากาศยุคใหม่"
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพให้เห็นถึงรูปแบบของสงครามที่กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง...
----------------------------
กองทัพของประเทศใดก็ตามที่พยายามพัฒนากองทัพในแบบทิศทางเดียวด้วยการซื้อ "ระบบอาวุธหลัก" เข้าประจำการอย่างมาก ซึ่งทิศทางเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดว่า ผู้นำของประเทศดังกล่าวกำหนดนโยบายทางทหารด้วยความเชื่อประการเดียวว่า "สงครามในอนาคตรบชนะด้วยเครื่องมือแบบเก่า" เช่น สงครามรถถัง สงครามเรือดำน้ำ เป็นต้น
ผู้นำประเทศในทิศทางเช่นนี้จึงมักทุ่มงบประมาณซื้ออาวุธของสงครามแบบเก่า จนกลายเป็นดั่ง "ลัทธิบริโภคอาวุธนิยม"
นักล่าสังหาร
โลกในวันนี้กลับเห็นความเปลี่ยนแปลงของสงครามในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นผลจากพัฒนาการของระบบอาวุธใหม่ และท้าทายอย่างมากถึงคุณค่าของระบบอาวุธแบบเก่าที่แม้จะยังมีคุณค่าในทางทหาร แต่อาจไม่ได้มีมากเท่ากับในอดีต ดังจะเห็นได้ถึงการมาของสงครามแบบใหม่ที่มาพร้อมกับอาวุธใหม่ๆ ดังเช่นในวันเสาร์ที่ผ่านมา (14 ก.ย.) เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นถึงการโจมตีทางอากาศด้วย "โดรน" จนต้องเรียกด้วยแบบแผนของสงครามใหม่ว่า "สงครามโดรน" (Drone Warfare)
แม้โดรนจะเคยออกปฏิบัติการทางทหารด้วยการเป็น "นักล่าสังหาร" (hunter killer) ต่อเป้าหมายบุคคลมาแล้ว เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2002 โดรนปฏิบัติการสังหารผู้นำของกลุ่มอัลกอร์อิดะห์ในเยเมน จนเป็นที่ยอมรับกันในโลกทางทหารสมัยใหม่ว่า โดรนเป็นอาวุธล่าสังหารที่ทรงประสิทธิภาพอย่างมากแบบหนึ่งในปัจจุบัน เพราะสามารถเกาะติดเป้าหมายได้เป็นระยะเวลานาน และผู้ตัดสินใจที่แม้จะอยู่ไกล แต่ก็สามารถสั่งการได้ทันทีแบบ "real time" และที่สำคัญปฏิบัติการเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงด้วยการส่งกำลังบุคคลเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย จึงไม่มีความเสี่ยงในการสูญเสียกำลังพล
อย่างไรก็ตามปฏิบัติการของโดรนเช่นนี้เป็นเพียงเรื่องในระดับยุทธวิธีของการสังหารบุคคลเป้าหมาย การโจมตีทางอากาศของโดรนจึงมีอยู่ในระดับและขอบเขตที่จำกัด และยังไม่อยู่ในระดับของปฏิบัติการของสงครามทางอากาศ แม้ในอีกด้านโดรนอาจจะมีคุณประโยชน์อย่างมากในฐานะของการเป็นเครื่องมือของการลาดตระเวนทางอากาศยุคใหม่ และมีการใช้โดรนในภารกิจเช่นนี้มาแล้วก็ตาม แต่โดรนยังไม่เคยถูกใช้เพื่อการโจมตีทางอากาศ
การโจมตีทางอากาศแบบใหม่
ในวันเสาร์ที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ประมาณเวลา 4:00 น. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัท Aramco ได้ประกาศถึงความพยายามดับไฟที่บ่อน้ำมันที่เมือง Abqaiq และ Khurais (เป็นบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของซาอุดิอาระเบีย) ไฟไหม้ครั้งนี้เกิดจากการโจมตีของโดรน แม้เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมเพลิงได้แล้วก็ตาม แต่การโจมตีได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียอย่างมาก
การโจมตีครั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธของชาวฮูติ (Houthi) ได้ประกาศความรับผิดชอบว่าได้ใช้โดรนจำนวน 10 ลำในการโจมตี และยังประกาศอีกด้วยว่า จะมีการโจมตีด้วยโดรนอีกในอนาคต การโจมตีบ่อน้ำมันในครั้งนี้เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มฮูติต่อเป้าหมายในซาอุดิอาระเบีย
ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า การโจมตีทางอากาศของโดรนเป็น "ภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์" ต่อแหล่งน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย และความเสียหายจากการโจมตีไม่เพียงส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันของประเทศเท่านั้น หากยังอาจมีผลกระทบต่อสถานะความมั่นคงด้านพลังงานของโลกอีกด้วย เพราะในอีกด้านของปัญหา การขนส่งน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักชุดหนึ่งของการลำเลียงน้ำมันของโลกก็ได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านด้วย
ในขณะเดียวกันการโจมตีครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงโดรนที่ดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือในสังคมพลเรือน หรืออาจจะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสมัยใหม่ของการถ่ายภาพมุมสูง แต่การโจมตีบ่อน้ำมันครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถของโดรนในการโจมตีทางอากาศระยะไกล เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับสงครามในอดีตแล้ว ปฏิบัติการดังกล่าวจะต้องใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นเครื่องบินโจมตี (attack aircraft)
แต่ในครั้งนี้ฝูงบินโจมตีกลับเป็นเพียงโดรนจำนวน 10 ลำเท่านั้น และการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า เทคโนโลยีของโดรนที่แต่เดิมจำกัดอยู่กับรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน หรืออยู่ในมือของรัฐที่มีขีดความสามารถทางทหาร เช่น อิสราเอล หรืออิหร่าน เป็นต้น แต่ปัจจุบันกลุ่มฮูติและฮิซบุลลอฮ์ล้วนมีขีดความสามารถในการมีและใช้เทคโนโลยีโดรนไม่ต่างจากรัฐมหาอำนาจ การโจมตีทางอากาศครั้งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า "ยุคการผูกขาดโดรน" ที่อยู่ในมือของรัฐมหาอำนาจนั้น ได้สิ้นสุดลงแล้ว
ในอีกด้าน การโจมตีของโดรนไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงการสงครามทางอากาศยุคใหม่ ที่อากาศยานแบบไร้นักบิน (UAVs) กำลังก้าวเข้ามามีบทบาททางทหารมากขึ้น และไม่เพียงแต่จะท้าทายกับอากาศยานแบบเดิมที่มีนักบินเท่านั้น หากแต่ยังท้าทายกับการเปิดยุคสมัยของสงครามที่อาจจะต้องเรียกว่า "สงครามโดรน" ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว... โดรนไม่ใช่จะมีบทบาทอยู่ในภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์อย่างสตาร์วอร์ (Star Wars) เท่านั้น
อนาคต
ดังนั้นนับจากนี้จึงคาดได้ไม่ยากว่า พัฒนาการเทคโนโลยีของโดรนจะยิ่งมีมากขึ้น และเช่นเดียวกันบทบาทของโดรนในทางทหารจะยิ่งมีมากขึ้นด้วย โดรนจะไม่ใช่เพียงกล้องถ่ายภาพมุมสูงให้เราเก็บภาพสวยงามของภูมิประเทศเบื้องล่างอีกต่อไป
หากแต่โดรนกำลังก้าวจากเครื่องมือของการลาดตระเวนทางอากาศและการล่าสังหารทางอากาศ ไปสู่บทบาทใหม่ของการโจมตีทางอากาศอีกด้วย...
สงครามทางอากาศยุคใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ https://www.popularmechanics.com/military/aviation/a27926078/predator-drone-chinese/