บัญชีรายชื่อแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล 871 นายที่เพิ่งมีประกาศพระบรมราชโองการในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.62 ที่ผ่านมานั้น มีบางตำแหน่งเป็นการปรับย้ายนายทหารที่รับผิดชอบหรือเคยรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ โดยอดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ล้วนได้ขยับรับตำแหน่งสูงขึ้น
เริ่มจาก พล.ท.จตุพร กลัมพสุต ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก (อัตรา พลเอก) โดย พล.ท.จตุพร เคยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี มีผลงานเด่นเรื่องการปราบปรามภัยแทรกซ้อนที่ซ้ำเติมปัญหาความไม่สงบ โดยเฉพาะขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และตรวจสอบการใช้งบอุดหนุนการศึกษาไปสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
พล.ท.วิชาญ สุขสง แม่ทัพน้อยที่ 4 ขึ้นเป็นรองเสนาธิการทหารบก โดย พล.ท.วิชาญ เคยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เชี่ยวชาญงานมวลชน และทำงานในพื้นที่ปลายด้ามขวานมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ขณะที่แม่ทัพน้อยที่ 4 คนใหม่ มีการขยับ พล.ต.สมพล ปานกุล รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 4 แทน (อัตรา พลโท)
สำหรับ พล.ต.สมพล เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 20 (ตท.20) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เคยเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสเช่นกัน รวมถึงผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา ปฏิบัติราชการสนามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 49
นอกจากนั้นยังมีคนเคยผ่านงานชายแดนใต้อย่าง พล.ท.บรรพต พูลเพียร ผู้อำนวยการสำนักติดตามสถานการณ์ สำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก เป็นผู้อำนวยการสำนักบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิบัติ สำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบกด้วย โดย พล.ท.บรรพต สมัยครองยศพันเอก เคยทำหน้าที่โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า หรือ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.
สำหรับภาพรวมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลวาระประจำปี 62 นักวิชาการผู้ศึกษาโครงสร้างกองทัพอย่าง ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายของเหล่าทัพรอบนี้ถือว่าดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และสะท้อนภาพธรรรมาภิบาลสูงมาก สังเกตได้จากการมีนายทหารระดับรองผู้บังคับหน่วย ขึ้นเป็นผู้บังคับหน่วยจำนวนมาก โดยไม่มีการย้ายข้ามห้วย หรือถูกนายทหารใกล้ชิดผู้ใหญ่ข้ามมา "เสียบหัว" ขึ้นเป็นผู้บังคับหน่วยแทนลูกหม้อ โดยเฉพาะในกองทัพไทย นายทหารระดับรองผู้บัญชาการขึ้นเป็นผู้บัญชาการ รองเจ้ากรมขึ้นเป็นเจ้ากรม สะท้อนว่ามีปัญหาซิกแซ็กวิ่งเต้นแหกโผค่อนข้างน้อย
เช่นเดียวกับในกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.พยายามกระจายการเติบโตของนายทหารคุมกำลัง นอกจากโตในหน่วยได้แล้ว ยังโตนอกหน่วยโดยเฉพาะในส่วนกลางได้อีกด้วย เห็นได้จากรองแม่ทัพภาคหลายๆ คนที่ไม่สามารถโตในกองทัพภาคของตนเองได้ ก็เปิดโอกาสให้เข้ามาเติบโตในส่วนกลาง และได้ดำรงตำแหน่งหลักด้วย ไม่ใช่ขยับยศขึ้นตำแหน่ง "ประจำ" เหมือนในอดีต
เช่น พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก พล.ท.ธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก พล.ต.ณัฐวุฒิ ชุณหะนันทน์ รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ พล.ท.วิชาญ สุขสง แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็นรองเสนาธิการทหารบก เป็นต้น
"การจัดวางตำแหน่งในกองทัพบกหนนี้ ทำให้ผมนึกถึง พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก สมัยท่านเป็น ผบ.ทบ. ซึ่งท่านไม่ได้โดดเด่นมากสมัยเป็นนักเรียนทหารก็จริง แต่เมื่อได้ขึ้นเป็นผู้นำหน่วย ก็สร้างการยอมรับโดยการใช้ระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ผมมองว่า พล.อ.อภิรัชต์ หรือ บิ๊กแดง ท่านก็ทำแบบเดียวกัน" ผศ.วันวิชิต กล่าว
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านโครงสร้างกองทัพ ยังมองภาพรวมการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย และการวางตัวนายทหารในตำแหน่งสำคัญๆ ในระยะหลังๆ ด้วยว่าสะท้อนความเป็นเอกภาพสูงมาก การจัดการภายในกองทัพตั้งแต่ยุค คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาลหลังเลือกตั้งภายใต้การนำของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีพี่เลี้ยงคนสำคัญอย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถือว่าเรียบร้อย แทบไม่ปรากฏร่องรอยความขัดแย้งให้เห็น
ที่สำคัญยังมองเกมยาวไปถึงปี 66 หากรัฐบาล "บิ๊กตู่ 2/1" อยู่ครบวาระ ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งในปีหน้า จะอยู่ยาวค้ำบัลลังก์ถึงปี 66 ด้วยเช่นกัน
----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ต.สมพล ปานกุล กับบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา