การพบโครงกระดูกของ "บิลลี่" หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ในลักษณะถูกฆ่าเผาในถังแดงแล้วโยนทิ้งน้ำ หลังจากหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยนานกว่า 5 ปี ทำให้ปัญหา "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" ในสังคมไทยถูกหยิบมาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้ง
การอุ้มฆ่า-อุ้มหายที่กำลังพูดกันอยู่นี้ ในกรณีที่คล้ายๆ กับบิลลี่ ไม่ใช่คดีอุ้มฆ่าที่เป็น "อาชญากรรมธรรมดา" แต่เป็นการอุ้มฆ่าที่เป็น "อาชญากรรมแบบพิเศษ" ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ภาษาในทางวิชาการสากลเรียกว่า "การถูกบังคับให้สูญหายซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ"
การอุ้มหายแบบนี้ ตำรวจคลี่คลายคดียากกว่าการอุ้มฆ่าที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป เพราะเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำมีอำนาจทางกฎหมาย รู้ข้อมูลและสถานที่ต่างๆ จึงก่อคดีได้อย่างไร้ร่องรอย และทำลายหลักฐานได้อย่างเป็นระบบมากกว่า การอุ้มหายจึงเป็นอาชญากรรมแบบพิเศษที่มีความอันตราย
ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหานี้ จึงมีการออก "อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของสหประชาชาติ" ซึ่งประเทศไทยของเรานั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัตยาบันอนุสัญญานี้เมื่อปี 59 และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับความผิด "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
จริงๆ แล้วการอุ้มฆ่าอุ้มหายที่เป็น "อาชญากรรมโดยรัฐ" เกิดมาแล้วหลายครั้งในบ้านเราในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
คดีที่เป็นข่าวครึกโครมมากที่สุดครั้งหนึ่ง คือการอุ้มหาย หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำศาสนาและผู้นำจิตวิญญาณในพื้นที่ปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ.2497 โดยหะยีสุหลงคือผู้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับคนในพื้นที่ชายแดนใต้ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสอดคล้องกับหลักศาสนาและวัฒนธรรม เพราะประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่การเคลื่อนไหวของเขากลับถูกมองเป็นศัตรูของรัฐ จนถูกจับในข้อหากบฏ ติดคุกอยู่หลายปี ภายหลังได้รับการปล่อยตัวมาไม่นานก็ถูกอุ้มหาย ยุคนั้นคือรัฐบาลจอมพล ป.
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการสอบสวนจนได้ข้อสรุปชัดเจนว่า หะยีสุหลงถูกสังหารโดยตำรวจสันติบาล แล้วนำศพไปถ่วงน้ำในทะเลสาบสงขลา ว่ากันว่าการอุ้มฆ่าหะยีสุหลง คือหนึ่งในเรื่องเล่าของคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำให้เกิดขบวนการต่อสู้ จนไฟใต้ลุกโชนยังไม่เห็นทางสงบจนถึงปัจจุบัน
ในช่วงทศวรรษเดียวกันนั้น มีการอุ้มฆ่านักการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านอำนาจรัฐอีกหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการอุ้มไปยิงทิ้ง แล้วนำศพไปเผา เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ 1 ใน ส.ส. "สี่เสืออีสาน" เมื่อปี 2495
นอกจากนั้นยังมีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีอีสานด้วย คือ นายถวิล อุดล, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง และ นายทองเปลว ชลภูมิ ทั้งหมดถูกจับหลังเหตุการณ์กบฏ เมื่อปี 2492 แล้วถูกตำรวจคุมตัวขึ้นรถไปบริเวณทุ่งบางเขน ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 11 แล้วถูกยิงเสียชีวิตทั้งหมด ตำรวจอ้างว่ามีโจรคอมมิวนิสต์มลายูพยายามบุกชิงตัว จนเกิดการยิงต่อสู้กัน กระสุนโดนทั้ง 4 คนเสียชีวิต แต่ตำรวจไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเลยแม้แต่คนเดียว
ต่อมาในยุคการเมืองไทยสมัยใหม่ ผู้ที่ถูกอุ้มหายจนเป็นข่าวดังมากที่สุด คือ นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานในยุครัฐบาลรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เมื่อปี 2534 ป่านนี้ผ่านมา 28 ปีแล้ว ยังไม่พบตัวหรือพบศพ
ถัดมาเพียง 1 ปี คือ เดือนพฤษภาคม ปี 2535 เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร สั่งใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีผู้สูญหายจำนวนมาก ตัวเลขทางการรวบรวมได้อยู่ที่ 58 ราย แต่คณะกรรมการญาติวีรชนฯอ้างข้อมูลว่ามีผู้สูญหายถึง 734 ราย
เหยื่อรายต่อมาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ไฟใต้ คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ถูกอุ้มหายเมื่อ 12 มีนาคม ปี 2547 ถึงวันนี้ผ่านมากว่า 15 ปีแล้ว ยังไม่พบศพหรือชิ้นส่วนของศพ โดยครอบครัวเชื่อว่าทนายสมชายถูกสั่งฆ่าโดยใช้เจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งอุ้มตัวไปสังหาร มีการกระทำอุกอาจดักจับตัวบนถนนกลางกรุงเทพฯ เพราะไม่พอใจที่ทนายสมชายเป็นทนายช่วยเหลือด้านคดีให้กับกลุ่มผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแฉว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา โดยกรณีอุ้มหายทนายสมชาย เกิดขึ้นในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
นับจากนั้นก็ยังมีคดีอุ้มหายอีกหลายเหตุการณ์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคใต้และในสงครามยาเสพติด ต่อมาในปี 2551 นายกมล เหล่าโสภาพรรณ นักรณรงค์ต่อต้านการทุจริต จังหวัดขอนแก่น และเป็นแกนนำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน หรือ คปต. ร่วมกับ นายวีระ สมความคิด ได้เข้าไปมีบทบาทตรวจสอบการก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของรัฐในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กระทั่งพบหลักฐานการฮั้วประมูล จึงได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้เกี่ยวข้อง แต่หลังจากเดินทางไปโรงพักเพื่อติดตามเอกสาร นายกมลก็ถูกอุ้มหายไป และครอบครัวติดต่อไม่ได้อีกเลยจนถึงบัดนี้ พบแต่รถยนต์ของนายกมลถูกจอดทิ้งไว้ห่างจากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ราว 20 กิโลเมตร
กระทั่งปี 2557 ก็มาถึงกรณี "บิลลี่" ที่หายตัวไปหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า และ นายเด่น คำแหล้ ผู้นำเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินทำกินที่จังหวัดชัยภูมิ หายตัวไปเมื่อปี 2559
ทั้งหมดนี้คือเหยื่ออุ้มฆ่าอุ้มหายที่เคยเป็นข่าวครึกโครม ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่พบตัวหรือพบศพ สะท้อนว่าสถานการณ์อุ้มฆ่าอุ้มหายในเมืองไทยถือว่าวิกฤติ และเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลับยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการจัดการ
เปิดใจลูก "ทนง โพธิ์อ่าน" ปลุกรัฐบาลฟื้นคดีอุ้มหาย
หนึ่งในเหยื่ออุ้มหายที่เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน คือ นายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานคนสำคัญ
อดิศร โพธิ์อ่าน ลูกชายของทนง เล่าผ่านเนชั่นทีวีว่า ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ปี 2534 ผู้เป็นพ่อ "โดนอุ้มหาย" ขณะขับรถไปทำงานตามปกติ หลังออกมาท้าทายและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในขณะนั้น โดยเฉพาะการเรียกร้องให้คืนสหภาพแรงงานให้คนงานรัฐวิสาหกิจ และยกเลิกประกาศ รสช.ฉบับที่ 54 รวมถึงคำสั่งห้ามเดินทางไปร่วมประชุมประจำปีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เพราะผู้มีอำนาจเชื่อว่าจะมีการนำสถานการณ์การยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจตามประกาศ รสช.ไปประณามกลางวงประชุมนานาชาติ
อดิศร ยังบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของตน คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "บิลลี่" ที่เจ้าหน้าที่รัฐให้อำนาจขู่เข็ญประชาชน ทุกวันนี้สิ่งที่อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจคือ ให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทั้งคดีของพ่อ นายทนง โพธิ์อ่าน และบิลลี่ รวมถึงคดีอื่นๆ
ยิ่งไปกว่านั้นจากวันเกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน นานถึง 28 ปี ยังไม่มีใครออกมายอมรับหรือแสดงความรับผิดชอบต่อการถูกอุ้มหายพ่อของตนเลย
เส้นทางวิบากร่าง กม.ป้องกันอุ้มฆ่า-ทรมาน
ปัญหาการคลี่คลายคดีอุ้มฆ่าอุ้มหาย อยู่ที่ "กฎหมายเฉพาะ" ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี
ความจำเป็นในเรื่องนี้ถูกพิสูจน์แล้วจาก อังคณา นีละไพจิตร จากคดีอุ้มฆ่าทนายสมชาย เพราะเป็นคดีแรกที่ขึ้นสู่ศาล แต่สู้คดีมา 10 กว่าปี สุดท้ายศาลฎีกายกฟ้องจำเลยทั้งหมดที่เป็นตำรวจ สะท้อนว่ากฎหมายอาญาปกติไม่สามารถคลี่คลายคดีอุ้มฆ่า-อุ้มหายได้เลย
อังคณา บอกว่า ที่ผ่านมาได้พยายามผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่จนถึงทุกวันนี้กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ถูกบังคับใช้ แถมถูกเขี่ยออกจากสภาในยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ด้วย
ปัญหาการพิสูจน์และหาตัวคนผิดเรื่องอุ้มฆ่า-อุ้มหายในบ้านเรายังเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ โดยในรัฐบาล คสช. มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แต่ตอนหลังถูกตีกลับ จนร่างกฎหมายตกไป ทำให้เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายนี้
ช่วงแรกที่มีการผลักดันกฎหมายนี้ในยุค คสช. ได้รับการขานรับจากองค์กรสิทธิ์ทั่วโลก เพราะรัฐบาลเลือกตั้งยังไม่เคยผลักดัน แต่ต่อมาร่างกฎหมายถูกตีกลับจาก สนช. ทำให้ตกหายไป
กฎหมายนี้ ถ้าออกมาและมีผลบังคับใช้ การพิสูจน์เรื่องอุ้มฆ่า-อุ้มหาย หรือซ้อมทรมานจะง่ายขึ้น เพราะจะโยนภาระการพิสูจน์ไปให้คนที่อยู่กับผู้ที่สูญหายเป็นคนสุดท้าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หากใช้กฎหมายอาญาธรรมดา จะหาหลักฐานไม่ได้เลย เพราะการฆ่าแบบนี้ มีการทำลายหลักฐานแบบครบวงจร
กฎหมายฉบับนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจควบคุมตัว หรือเชิญตัว หรือเรียกตัวประชาชนในฐานะผู้ต้องสงสัย ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เมื่อปล่อยตัวแล้ว ต้องพาไปส่งถึงบ้าน หรือมีหลักฐานยืนยันกับคนรอบข้างและครอบครัวได้ว่าปล่อยแล้วจริงๆ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่กระทบกับประชาชน มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้น ไม่ใช่ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ เมื่อเกิดกรณีบุคคลสูญหาย ก็อ้างแค่ว่าปล่อยตัวไปแล้ว แค่นี้ก็พ้นผิด เหมือนทุกครั้้งที่ผ่านๆ มา...
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ (จากซ้าย) : ทนง โพธิ์อ่าน, สมชาย นีละไพจิตร, พอละจี รักจงเจริญ, เด่น คำแหล้
ขอบคุณ : ภาพต้นฉบับของแต่ละคนจากอินเทอร์เน็ต