ประเด็นที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงอยากให้จบ แต่ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ยอมให้จบ ก็คือกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง
นายอับดุลเลาะ หมดสติไปโดยไม่ทราบสาเหตุหลังถูกควบคุมตัวส่งเข้าศูนย์ซักถามภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพียง 1 คืน (20-21 ก.ค.) ต้องหามส่งห้องไอซียู จากนั้นรักษาตัวอยู่นาน 35 วันในสภาพเจ้าชายนิทรา แล้วก็เสียชีวิตไป
ย้อนผลพิสูจน์สาเหตุการตาย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแบบละเอียด โดยเฉพาะข้อค้นพบทางการแพทย์ สรุปเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ นายอับดุลเลาะน่าจะหมดสติและเสียชีวิตเพราะอาการเจ็บป่วยที่เป็นมาก่อนโดยไม่รู้ตัว มากกว่าที่จะถูกผู้อื่นทำให้ตาย โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือ
1. อาจเกิดจากการแตกของหลอดเลือดในสมอง จากโรคหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งเป็นโรคที่จะไม่ปรากฎอาการใดๆ ในขณะดำเนินชีวิต ข้อมูลจากการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นใน แต่ไม่พบมีเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอก ซึ่งหากมีการกระแทกจากภายนอกจะมีเลือดออกที่เยื่อหุ้มสมองชั้นนอกเป็นลำดับแรกด้วย จึงเข้าใจได้ว่าการที่สมองบวมเป็นผลจากภาวะหลอดเลือดภายในสมองที่โป่งพองแตก แล้วมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นในส่วนที่เคลือบติดกับเนื้อสมอง จนส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและสมองบวมได้
2. การไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ อย่างที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการใช้ถุงคลุม การใช้ผ้าเปียกปิดหน้าแล้วเทน้ำใส่ หรือแม้กระทั่งตัวผู้ป่วยหมดสติและมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร ประเด็นนี้ จากการประชุมสรุปกับคณะแพทย์ ได้ข้อมูลว่าหากมีผู้อื่นทำให้ออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงสมอง จะต้องมีการแสดงออกถึงจุดที่เลือดออกบ้าง เช่น ที่ตา คือเยื่อบุหลอดเลือดจะแตก และมีเลือดออกทางตา เหงือก ริมฝีปากคล้ำ เยื่อบุจะขาด ใบหน้าบวมคล้ำ ผู้ที่ขาดออกซิเจนจะแสดงเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณริมฝีปาก แต่ในกรณีนายอับดุลเลาะไม่พบลักษณะเหล่านี้เลย
คณะกรรมการฯจึงสรุปว่าการเสียชีวิตน่าจะเกิดจากอาการเจ็บป่วย และเสนอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐจ่ายเยียวยา เนื่องจากเป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ยังระบุว่าได้เข้าไปสังเกตการณ์ภายในศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีด้วย พบว่าเป็นศูนย์ซักถามที่มีมาตรฐาน ส่วนสาเหตุที่กล้องโทรทัศน์วงจรปิดใช้การไม่ได้ ไม่ใช่เพราะชำรุดตามที่เป็นข่าว แต่เป็นกล้องที่สั่งซื้อใหม่ และเพิ่งติดตั้ง จึงยังเซ็ตระบบไม่แล้วเสร็จ
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ แม้จะตั้งขึ้นโดยแม่ทัพภาคที่ 4 และมี พล.ต.ธิรา แดหวา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธาน แต่กรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากภาคประชาสังคม นักสิทธิมนุษยชน ผู้นำศาสนา และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ที่ทำงานในพื้นที่
หลังจากแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีกรรมการบางคนยื่นใบลาออก เช่น นางสาวอัญชนา หีมมินะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจ ซึ่งแม้ข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊คจะไม่ได้ระบุเหตุผลชัดเจนว่าไม่พอใจผลการตรวจสอบที่ออกมา แต่ นางสาวอัญชนา ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อบางแขนง ระบุว่าการทำงานของคณะกรรมการฯยังไม่ความเป็นสากลมากพอ เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญครบทุกด้าน
อนาคตใหม่ลุยยื่นกระทู้ถามกลาโหม
ภายหลังการแถลงสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการฯ ผ่านมาได้ราวๆ 1 สัปดาห์ วันที่ 2 กันยายนมีการแถลงประจำสัปดาห์ของพรรคอนาคตใหม่ ปรากฏว่าโฆษกพรรค นางสาวพรรณิการ์ วานิช แถลงตอนหนึ่งว่า ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันพุธและพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (4-5 กันยายน) พรรคอนาคตใหม่จะใช้โควต้าตั้ง "กระทู้สด" สอบถามไปยังกระทรวงกลาโหมกรณีการเสียชีวิตนายอับดุลเลาะ เพราะมีข้อที่น่าสังเกตในหลายประเด็น มองว่าไม่ใช่การเสียชีวิตตามธรรมชาติ เนื่องจากมีลักษณะอาการสมองบวมหลังจากถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร
"ช่อ"ลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัว"อับดุลเลาะ"
ก่อนการแถลงของทีมโฆษกพรรคอนาคตใหม่ มีข่าวประชาสัมพันธ์จากทีมงานของพรรคส่งไปยังสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวของพรรค เป็นข่าวความเคลื่อนไหวของ นางสาวพรรณิการ์ วานิช หรือ "ช่อ" ลงพื้นที่ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เพื่อเยี่ยมครอบครัวของนายอับดุลเลาะ
นางสาวพรรณิการ์ ให้สัมภาษณ์ตามข่าวว่า ญาติของนายอับดุลเลาะยืนยันว่า จนถึงขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาว่าจะให้เงินเยียวยา และให้ทุนการศึกษากับลูกของนายอับดุลเลาะ แต่เป็นเพียงการพูดปากเปล่า ไม่มีเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการ และที่สำคัญครอบครัวไม่ได้ต้องการเพียงเงินเยียวยา แต่ต้องการข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะว่าผู้ชายที่แข็งแรงคนหนึ่ง อยู่ในการควบคุมตัวของทหารเพียง 12 ชั่วโมง แล้วกลับออกมาในสภาพสมองขาดออกซิเจน มีร่องรอยการถูกจี้และถูกมัดได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบการเสียชีวิตของเขา
นางสาวพรรณิการ์ ยังบอกอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของคนแค่คนเดียว เพราะกรณีของนายอับดุลเลาะ ไม่ใช่กรณีแรกที่มีคนโดนทหารควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใดๆ แล้วกลับออกจากค่ายในสภาพบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะคือตัวอย่างที่น่าเศร้าของคนธรรมดาที่ต้องได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจทหารล้นเกินจนนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ และการใช้อำนาจจับกุมใครก็ได้โดยไม่ต้องมีหลักฐาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม การใช้อำนาจลักษณะนี้มีแต่จะสร้างความหวาดระแวง และแบ่งแยกระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่
ข่าวประชาสัมพันธ์ของพรรคอนาคตใหม่ ยังอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของภรรยานายอับดุลเลาะว่า ยืนยันจะยังสู้ต่อไป แม้การทวงคืนความเป็นธรรมให้สามีจะต้องใช้เวลานาน และอาจต้องเผชิญแรงกดดันจากผู้มีอำนาจ โดยมีแนวคิดจะจัดตั้งกองทุนเพื่อรวบรวมเงินบริจาคมาใช้ในการต่อสู้คดีด้วย
กฎหมายพิเศษยืดยาวที่ชายแดนใต้
สำหรับกฎหมายพิเศษที่ นางสาวพรรณิการ์ พูดถึงตามข่าว คือ กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งประกาศใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้มาแล้ว 15 และ 14 ปีตามลำดับ โดยกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการซักถาม โดยใช้สถานที่ควบคุมที่ไม่ใช่ห้องขังของสถานีตำรวจหรือเรือนจำ ทำให้ต้องมีการเปิดศูนย์ซักถามที่ไม่ใช่ห้องขังขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั้งค่ายทหาร และค่ายของตำรวจ
ปัจจุบันมีการปรับลดพื้นที่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปแล้วหลายอำเภอ เช่น อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และเตรียมเสนอปลด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม ที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาสด้วย
ชูพัฒนาศูนย์ซักถามเป็น"รีสอร์ท"
ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของพรรคอนาคตใหม่ โดยบอกเพียงว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ของคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาสังคม ชัดเจนอยู่แล้ว
อีกด้านหนึ่ง พล.ต.ธิรา แดหวา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เข้าตรวจเยี่ยมหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อยืนยันความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน และความพร้อมของอาคารสถานที่ ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการซ้อมทรมานหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนได้
โดย พล.ต.ธิรา ได้ให้นโยบายกับหน่วยซักถามว่า ต้องทำสถานที่ซักถามให้เปรียบเสมือน "บ้าน" หรือ "รีสอร์ท" โดยมีการอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสม และสามารถให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ ต้องไม่มีการกระทำทรมานผู้ที่ถูกเชิญตัวมาซักถาม หรือเป็นดินแดนมิคสัญญี ต้องติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ถูกเชิญตัวมาซักถาม พร้อมทั้งปรับหน่วยซักถามให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีความเป็นมิตร และต้อนรับประชาชนทุกคน
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 โฆษกพรรคอนาคตใหม่เยี่ยมครอบครัวอับดุลเลาะ ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
3-4 พล.ต.ธิรา แดหวา ตรวจเยี่ยมหน่วยซักถามภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร มีการทดสอบการใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดคอยสอดส่องดูแลความเรียบร้อย
ขอบคุณ : ภาพ 1-2 จากพรรคอนาคตใหม่