มีประเด็นที่ส่อเค้าบานปลายในช่วงนี้ คือการเสียชีวิตของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารในปัตตานี แต่แค่เพียงคืนเดียวก็ต้องหมดสติ สลบไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ถูกหามส่งห้องไอซียู รักษาตัวอยุ่ 35 วันก็เสียชีวิต
เรื่องนี้พรรคอนาคตใหม่ออกมาแถลง ขณะที่หัวหน้าพรรคประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนภาคประชาชนในพื้นที่นัดแนะกันเหมารถบัสเข้ากรุงเทพฯ บุกสภาเรียกร้องให้นายกฯตอบเหตุผลการตายของผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ
สำหรับผู้ที่แถลงเรื่องนี้ในนามพรรคอนาคตใหม่ คือทีมโฆษกพรรค นำโดย "ช่อ" น.ส.พรรณิการ์ วานิช นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง และ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สาระสำคัญคือเตรียมยื่นกระทู้ถามสดกับผู้รับผิดชอบในรัฐบาล และเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้
ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา โพสต์เฟซบุ๊คเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค.62 เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจต่อสังคม เพราะเป็นอีกครั้งที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ จึงถึงเวลาแล้วที่จะทบทวนและยกเครื่องใหม่ อย่าผลักชาวบ้านไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม
หัวหน้าพรรคประชาชาติยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม่ทัพภาคที่ 4 "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ และมีการอ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า กล้องวงจรปิดภายในค่ายทหารชำรุดทั้งหมด
มีความเห็นจากฝั่งญาติของนายอับดุลเลาะว่า ขอเรียกร้องให้นายการัฐมนตรีและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ ที่สำคัญนายอับดุลเลาะเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องดูแลบุตร ภรรยา และแม่ จึงอยากให้รัฐช่วยเหลือเยียวยา และให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวด้วย
ระดมทุนเหมารถบัสขึ้นกรุงเทพฯ
มีรายงานด้วยว่า อาจมีการระดมคนให้ได้ 10 คันรถบัส เพื่อเดินทางจากชายแดนใต้ขึ้นมาทวงถามนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ชี้แจงสาเหตุการตายของนายอับดุลเลาะ ที่อาคารรัฐสภาใหม่ เกียกกาย
นายชัยบดี กากะ นักเคลื่อนไหวชายแดนใต้ กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า รับทราบจากกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ว่าจะมีการเคลื่อนไหวโดยขึ้นรถบัสจำนวนหลายคันเพื่อเดินทางขึ้นกรุงเทพฯ ไปสอบถามถึงสาเหตุการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ ซึ่งหากเยาวชนเหล่านี้สามารถทำได้จริง คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องดี และสามารถกดดันรัฐบาลได้เป็นอย่างมาก และน่าจะมากกว่าการเคลื่อนไหวของ ส.ส.ในพื้นที่
"สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการแก้ปัญหาสามจังหวัด คือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมฟังเสียงประชาชน หรือฟังก็ฟังแบบหลอกๆ จากการที่เฝ้าดูเหตุการณ์ในพื้นที่ การแก้ปัญหาของรัฐจะมองแค่โครงสร้างของบีอาร์เอ็น ซึ่งแม้จะถูก แต่รัฐควรคิดด้วยว่าขบวนการเหล่านี้จะอยู่ได้อย่างไรถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ฉะนั้นหากรัฐยังสร้างเงื่อนไข โดยที่คิดว่าคุมสถานการณ์ได้ อย่างกรณีล่าสุดนี้ ก็ยิ่งยากที่จะแก้ไขปัญหาได้ การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ จะเห็นว่ามีประชาชนออกมาร่วมละหมาดโดยที่ไม่ต้องเชิญ หรือให้เงินค่าน้ำมันรถ ทุกคนพร้อมใจกันมาร่วมหลายพันคน" นายชัยบดี กล่าว พร้อมเตือนว่าต้องระวังสถานกาณณ์ที่ประชาชนรวมตัวออกมาต่อต้าน เพราะหากถึงวันนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งกองทัพก็เอาไม่อยู่
ย้อนรอย 35 วัน "อับดุลเลาะ"
นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวจากบ้านในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในฐานะผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง และถูกส่งเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 20 ก.ค.62 แต่เพียงแค่ 1 คืนก็มีอาการหมดสติ และสมองบวม ต้องหามส่งโรงพยาบาลปัตตานี เข้าห้องไอซียู ภายหลังส่งถูกไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กระทั่งเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณตี 4 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค. รวมเวลาได้ 35 วัน
หลังเกิดเหตุ มีกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่านายอับดุลเลาะอาจถูกซ้อมทรมาน (มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจถูกใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะ แล้วรีดเอาอากาศออก ซึ่งเป็นวิธีการซ้อมทรมานรูปแบบหนึ่ง) แต่ฝ่ายทหารยืนกรานว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะไม่มีบาดแผลตามร่างกาย และยังเปิดทางให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมและผู้นำศาสนาเข้าร่วม แต่จนถึงขณะนี้่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่านายอับดุลเลาะหมดสติในค่ายทหารด้วยสาเหตุอะไร
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายกรัฐมนตรีชี้แจงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในที่ประชุมรัฐสภา ในวาระการแถลงนโยบายของรัฐบาล ปรากฏว่านายกฯได้พูดถึงเหตุการณ์นายอับดุลเลาะหมดสติในค่ายทหารด้วย โดยบอกว่าเป็นการลื่นล้มไปเองเพราะหน้ามืด เนื่องจากตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วไม่พบร่องรอยการทำร้าย พร้อมตั้งคำถามถึงคนที่คิดว่ามีการซ้อมทรมาน "ดูหนังมากไปหรือเปล่า" (อ่านประกอบ : นายกฯโต้ซ้อมทรมานภาคใต้ "ดูหนังมากไปมั้ย?" พ้อทหารตายกลับเงียบ)
แต่ประเด็นการลื่นล้ม ถูกตัดทิ้งจากคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะคณะกรรมการสอบสวนที่แม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งขึ้น โดยระบุว่าการลื่นล้มไม่น่าจะเป็นสาเหตุของการช็อคหมดสติ เพราะตามร่างกายของนายอับดุลเลาะไม่มีบาดแผลที่จะเชื่อมโยงไปถึงการลื่นล้มหรือหกล้มได้ (อ่านประกอบ : สิ้นสติคาค่ายทหารตัดประเด็นลื่นล้ม เร่งไขปมสมองบวม)
แสวงหาสาเหตุการตาย...ไม่คืบ?
การแสวงหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้นายอับดุลเลาะขาดออกซิเจน กระทั่งช็อค หมดสติ และสมองบวม แทบไม่มีความคืบหน้าตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ครอบครัวของนายอับดุลเลาะต้องการให้แพทย์ตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยการฉีดสีเข้าร่างกายหากเขาเสียชีวิตลง แต่เมื่อเขาเสียชีวิต แพทย์ได้แจ้งกับครอบครัวว่า การฉีดสีเข้าเส้นเลือดจะไม่ช่วยให้ได้ข้อมูลใดๆ เพราะเลือดไม่เดิน ขณะที่ญาติก็ไม่แน่ใจว่าการผ่าสมองจะช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงจริงหรือไม่ ท้ายที่สุดญาติจึงตัดสินใจนำศพอับดุลเลาะกลับไปทำพิธีทางศาสนา เพื่อทันตามเวลากำหนด (ฝังภายใน 24 ชั่วโมง) ที่มัสยิดฮูแตปาเซ ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อเวลา 17.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค. โดยมีผู้ไปร่วมงานหลายพันคน เนืองแน่นไปทั้งมัสยิดและพื้นที่โดยรอบ
-------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ: ภาพพิธีศพนายอับดุลเลาะ จากเฟซบุ๊คของ Fb. Imron Sahoh Binmustofa