ผ่าน 20 วันของเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตำรวจเชื่อว่าเชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสืบสวนจับกุมคนในพื้นที่ และใชกฎหมายพิเศษควบคุมตัว
ทิศทางข่าวของสื่อแทบทุกแขนงมุ่งไปที่การติดตามล่าตัวคนร้าย การสืบสวน และการออกหมายจับ แต่จริงๆ แล้วปัญหาที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ปลายด้ามขวาน มีความอ่อนไหวและซับซ้อนกว่าการลอบก่อวินาศกรรมทั่วไป
เหตุนี้เอง ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจับมือกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพ สิทธิเด็ก สตรี และองค์กรระหว่างประเทศ จัดเสวนาโต๊ะกลมเพื่อวิเคราะห์ปัญหา และประเมินสถานการณ์ความรุนแรงที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศ สะท้อนว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบประกาศศักยภาพว่าสามารถก่อเหตุในพื้นที่เมืองหลวงของประเทศไทยได้ ไม่ใช่เพียงปลายด้ามขวานของไทยเท่านั้น
เวทีเสวนาโต๊ะกลม ใช้หัวข้อว่า "สันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก" มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดหลายๆ ด้านจากงเหล่าตัวแทนองค์กรต่างๆ เพื่อหวังหาทางออกที่เป็นไปได้ร่วมกัน
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองในแง่ "สัญญะ" ที่ส่งผ่านความรุนแรง โดยบอกว่า การเกิดระเบิด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ขัดแย้งใด มักเป็นสัญญาณบ่งบองช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่าง สำหรับกรณีนี้เป็นการแสดงถึงศักยภาพของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ว่าแม้แต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็สามารถก่อเหตุได้ ถึงจะไม่ประสงค์ต่อชีวิตก็ตาม
ขณะที่ ลม้าย มานะการ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ให้น้ำหนักไปที่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีระเบิด ซึ่งมีการใช้อำนาจพิเศษครอบคลุมไปยังจุดเกิดเหตุที่อยู่นอกพื้นที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษ เพราะเหตุเกิดที่กรุงเทพฯ จับกุมผู้ต้องสงสัยที่ จ.ชุมพร แต่กลับนำตัวไปควบคุมไว้ที่ จ.ยะลา โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
"การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ เพราะมีการใช้กฎหมายพิเศษ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมตัว ทั้งที่ใช้ ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ก็เพียงพอแล้ว" ลม้าย บอก
ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กที่ชายแดนใต้ ลม้าย อธิบายว่า ทุกครั้งที่เกิดความรุนแรง สุดท้ายผู้หญิงมักต้องรับผลกระทบทั้งสิ้น เช่น เมื่อสามีถูกจ้บ หรือตกเป็นเหยื่อ ผู้หญิงก็ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวแทน ขณะที่ความไม่เท่าเทียมและเหลื่อมล้ำยังมีอยู่มากมาย
สอดคล้องกับ อัญชนา หีมมินะห์ จากกลุ่มลูกเหรียง ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมด้านเด็กและสตรี ที่บอกว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโครงสร้างและวัฒนธรรม สุดท้ายเด็กและสตรีเป็นฝ่ายที่ถูกคุกคามและถูกละเมิดสิทธิ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างเวลาเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ก็จะมีปฏิบัติการทางทหาร เช่น ส่งกำลังไปตรวจสอบโรงเรียน จับกุม คุมขัง ปิดล้อมตรวจค้น สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ในแง่หนึ่งกลายเป็นการปลูกฝังความรุนแรงให้กับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์
"ที่ผ่านมารัฐบาลมักบอกว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติคนในพื้นที่ไม่เคยได้รับ อย่างเมื่อไม่นานมานี้มีความพยายามของรัฐที่จะเก็บสารพันธกรรม หรือ ดีเอ็นเอ เพื่อเป็นข้อมูลบ่งชี้อัตลักษณ์คนในพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบในการเอาผิดคนที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรง แต่กลับไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ใครเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้บ้าง" อัญชนา กล่าว
ประเด็นนี้มีนักวิชาการหลายคนที่เข้าร่วมฟังการเสวนา ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยเลยว่าข้อมูลดีเอ็นเอ เมื่อเก็บไปแล้ว ใครสามารถเข้าถึงได้บ้าง และจะนำไปใช้อย่างไรบ้าง จึงมีการตั้งคำถามว่าอาจเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดกฎหมาย การละเมิด และการคอร์รัปชั่น
ด้าน รอมฎอน ปันจอร์ ตัวแทนจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ ดีพเซาท์วอทช์ มองไปที่ต้นตอของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเกิดจากความต้องการแบ่งแยกดินแดน และการต่อสู้เพื่อเอกราช ซึ่งถือเป็นปัญหาทางการเมือง
สอดรับกับ รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เสนอทางออกว่า วิธีการพูดคุยเพื่อสันติสุขยังเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด และควรให้รัฐไทยปรับเปลี่ยนนโยบายในการแก้ปัญหา ยอมให้คนที่คิดต่างสามารถแสดงออกทางการเมืองได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง และต้องให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุยด้วย
เช่นเดียวกับ พระมหานภันต์ สนุติภทฺโท อดีตประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม หัวหน้าพระวิทยากรฯ วัดสระเกศ ที่บอกว่า อยากให้คนไทยทุกคนเปิดใจตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะในพื้นที่อีกต่อไป แต่เป็นความรุนแรงระดับชาติ ฉะนั้้นต้องเปิดให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ไข และเปิดพื้นที่เพื่อหาทางออกร่วมกัน