ผ่านครึ่งเดือนหลังเกิดเหตุระเบิดหน้าสถานที่ราชการสำคัญและย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยคนร้ายวางแผนใหญ่กว่าคำว่า "ป่วน" เพราะมีการวางระเบิดเพลิงถึง 8 ลูกตามร้านค้าย่านประตูน้ำ และห้างสรรพสินค้าอันดับ 1 ของเมืองไทยย่านสยามสแควร์ ซึ่งหากระเบิดทำงานตามแผนทั้งหมด จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ที่ทำลายทั้งเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ประเทศ
15-16 วันที่ตำรวจทำงาน ปรากฏว่าคดีมีความคืบหน้าไปพอสมควร ข้อมูลทางเปิดระบุว่า มีการออกหมายจับมือปฏิบัติการระเบิดไปแล้ว 9 หมาย ผู้ต้องหา 6 คน อีก 4 คนกำลังไล่ล่า
ส่วนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยเข้ากระบวนการซักถามมากกว่า 20 คน ในจำนวนนี้ถูกควบคุมตัว 5 คน โดย 2 จาก 5 คนนี้ ถูกจับขณะขี่รถจักรยานยนต์เตรียมข้ามด่านพรมแดนที่สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส นี่คือข้อมูลเปิดที่รายงานทางสื่อสารมวลชนทั่วไป
แต่สำหรับ "ข้อมูลปิด" ที่หน่วยงานความมั่นคงได้ข้อมูลมา คืบหน้าไปกว่าข้อมูลเปิดเยอะทีเดียว
ล่าสุดมีการระบุชื่อ "นายเด็ง อะแวจิ" เป็นผู้นำในการวางแผน แต่ยังไม่ชัดว่าเป็น "มาสเตอร์มายด์" ด้วยหรือไม่
จากข้อมูลของฝ่ายความมั่นคง นายเด็ง อะแวจิ เป็นผู้นำระดับจิตวิญญาณของขบวนการบีอาร์เอ็น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีอิทธิพลสูงสุดในสถานการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีประวัติเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็น "วันเสียงปืนแตก" ก่อนที่ไฟใต้จะคุโชนมานานกว่า 15 ปี
ผู้นำสูงสุดของบีอาร์เอ็นยุคปัจจุบัน มีอยู่ 2 ชื่อที่ถูกเอ่ยถึง หนึ่ง คือ นายดูนเลาะ หรือ ดุลเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนปอเนาะญิฮาด อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โรงเรียนนี้ถูกทางการสั่งปิด และศาลสั่งยึดที่ดินตกเป็นของรัฐ เนื่องจากพัวพันการก่อการร้าย นายดูนเลาะจึงเป็นผู้นำที่คุมกำลังส่วนใหญ่ทางฝั่งปัตตานี
ขณะที่ เด็ง อะแวจิ คุมกำลังในสายนราธิวาส ทำให้มีความเชื่อมโยงกับทีมปฏิบัติการระเบิดกรุงเทพฯ เพราะล้วนเป็น "ทีมนราธิวาส" ทั้งสิ้น ข่าวบางกระแสระบุว่า จริงๆ แล้ว เด็ง อะแวจิ เป็นผู้นำตัวจริงของบีอาร์เอ็น และคุมฝ่ายทหารทั้งหมด บทบาทเหนือกว่า ดูนเลาะ แวมะนอ เสียอีก
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า คนที่ข้ามแดนไปรับงานครั้งนี้ เป็นชายวัย 35 ปี มีตำแหน่งเป็นผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ และว่ากันว่าได้พบแกนนำระดับสูงของบีอาร์เอ็นในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังมีอิทธิพลสูงในหน่วยงานความมั่นคงไทย โดย พลเอกประวิตร ยอมรับว่า เหตุการณ์ลอบวางระเบิดกรุงเทพฯ มีการไปวางแผนกันในประเทศเพื่อนบ้าน
สอดรับกับข้อมูลของ แม่ทัพภาคที่ "บิ๊กเดฟ" พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ที่เพิ่งแฉทั้งภาพทั้งข้อมูลว่า แก๊งคนร้ายแก๊งนี้ขนระเบิดใส่เป้ผ่านด่านสุไหงโก-ลก เข้ามาอย่างสะดวกโยธิน มีการจับภาพผู้ต้องสงสัยได้ขณะแบกเป้ข้ามด่าน เรียกว่าตบหน้าฝ่ายความมั่นคงไทยแบบเต็มๆ
ผู้ต้องสงสัยบางคนที่กล้องวงจรปิดบริเวณด่านพรมแดนบันทึกภาพได้ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้แล้ว ขณะที่บางคนมีรายงานเข้า-ออกด่านพรมแดนหลายครั้งก่อนวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันนัดหมายลอบวางระเบิด
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงมีการยกเครื่องมาตรการตรวจเข้มตามด่านพรมแดนทุกด่านของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งช่องทางธรรมชาติ และท่าเรือข้ามฟาก แม้จะเป็นการล้อมคอก แต่ก็ต้องถือว่าได้เวลาทำจริงจังกันเสียที หลังจากปล่อยปละละเลยกันมานาน
คำถามคือ ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีข้อตกลงร่วมกันในเรืองกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเหตุใดจึงปล่อยให้มีการนัดพบปะ วางแผน รับเงิน ในเขตพื้นที่ของตน ทั้งๆ ที่รู้กันดีว่าสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายรุ่น หลายกลุ่ม ล้วนหลบไปพำนักอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก โดยทั้งหมดอยู่ในสายตาของหน่วยงานความมั่นคงของเพื่อนบ้าน
ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมไม่ธรรมดา และไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน
เพราะหากขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำเอง ในแบบที่ไม่มีใครบงการ ก็น่าคิดว่าอะไรคือมูลเหตุจูงใจที่ต้องก่อเหตุถึงในกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขกำลังคืบหน้า และบีอาร์เอ็นเองก็มียุทธศาสตร์ใช้ประโยชน์จากการพูดคุย หรือว่าบีอาร์เอ็นไม่พอใจที่รัฐบาลชุดใหม่ยังเป็นนายกฯคนเดิม และหัวหน้าคณะพูดคุยก็เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นทหารคนเดิม
แต่จากการตรวจสอบกับอดีตผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งเป็นคนในขบวนการ เชื่อว่าถ้าบีอาร์เอ็นต้องการกดดันรัฐบาลไทยก็ไม่จำเป้นต้องไปวางระเบิดถึงที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่า เพราะสามารถก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนใต้ได้อยู่แล้ว และสร้างแรงกดดันได้ไม่แพ้กัน
หรือหากงานนี้มีคนการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเป็น "มาสเตอร์มายด์" คนผู้นั้นก็ต้องรู้จักและเข้าถึงผู้นำระดับสูงของบีอาร์เอ็น ถึงขนาดสั่งให้วางระเบิดได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ต่ำมาก
หาก 2 สมมติฐานที่ตั้งไว้แต่แรกไม่เป็นจริง ก็น่าคิดว่ามีวามเป็นไปได้แค่ไหนที่จะมีชนวนเหตุอื่น
แหล่งข่าวในหน่วยงานความมั่นคงชี้เป้าไปที่ความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทย เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางหน่วยของไทยปลดแบล็คลิสต์บุคคลต้องสงสัยกลุ่มหนึ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านต้องการตัว เพราะไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งพัวพันไปถึงฝ่ายการเมืองที่หมดอำนาจไปแล้ว และกำลังถูกไล่เช็คบิล โดยคนกลุ่มนี้ยังเปิดบริษัทบังหน้าในไทยและในต่างประเทศนับสิบแห่งเพื่อฟอกเงินระดับแสนล้านด้วย
เป็นไปได้หรือไม่ว่าประเด็นนี้อาจเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ จนเกิดการลอบวางระเบิดขึ้น โดยฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็สมประโยชน์จากปฏิบัติการครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ถ้าสมมติฐานนี้เป็นจริง เหตุระเบิดป่วนกรุงย่อมเป็นปัญหาใหญ่กว่าการเมืองภายในและไฟใต้ของไทย เพราะอาจโยงถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเลยทีเดียว