ท่ามกลางความตลบอบอวลแห่งวิวาทะว่าด้วย "สงครามลูกผสม" หรือ "สงครามไฮบริด" ที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ โดยเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์การเมืองภายในของไทย จนถูกหลายฝ่ายออกมาแสดงทัศนะตอบโต้
ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความเกี่ยวกับ "สงครามไฮบริด" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปแบบของสงครามชุดใหม่ที่มีรูปแบบผสมในสนามรบยุคปัจจุบัน พร้อมเตือนสตินักการทหารไม่ให้นำเรื่องนี้มาพูดแบบบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมืองระยะสั้น จนกลายเป็น "ขยะความคิด"
---------------------------------------------------------------------------------
ข้อถกแถลงเรื่องแบบแผนการสงคราม (pattern of warfare) ในเวทีโลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่นักการทหารในหลายประเทศ โดยเฉพาะการสรุปบทเรียนจากปฎิบัติการที่เกิดในสนามรบปัจจุบัน นักการทหารและนักยุทธศาสตร์ส่วนหนึ่งมองเห็นถึงการมาของรูปแบบสงครามชุดใหม่ ที่มีลักษณะของการผสมผสานของการใช้เครื่องมือหลากหลายในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ลักษณะของสงครามในรูปแบบผสมเช่นนี้ ถูกเรียกในหมู่นักทฤษฎีการทหารของโลกว่า "สงครามไฮบริด" (Hybrid Warfare)
ผู้เขียนขอแปลคำเรียกสงครามเช่นนี้ว่า "สงครามพันทาง" เพื่อให้สอดคล้องกับบทความที่ผู้เขียนนำเสนอในเรื่องของระบอบอำนาจนิยมใหม่ และ/หรือระบบเผด็จการใหม่ที่มีลักษณะเป็น "ระบอบผสม" (mixed regimes) หรือที่นักรัฐศาสตร์ในวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยา เรียกระบอบใหม่ที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไม่สิ้นสุดด้วยการเป็นประชาธิปไตยว่า "ระบอบไฮบริด" (Hybrid Regime) ซึ่งผู้เขียนเรียกระบอบนี้ในภาษาไทยว่า "ระบอบพันทาง" คือ ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ เท่าๆ กับที่ไม่เป็นเผด็จการเต็มที่ และเป็นการดำรงอยู่ขององค์ประกอบที่เป็นประชาธิปไตยและอำนาจนิยมผสมรวมอยู่ในระบอบเดียวกัน
ในบริบทการสงครามนั้น การใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการทำสงครามไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังจะเห็นได้ว่ามีการใช้ "กำลังรบตามแบบ" ผสมกับ "กำลังรบนอกแบบ" มาตลอดในประวัติศาสตร์สงคราม ประเด็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางการทหารแต่อย่างใด ฉะนั้นหากพิจารณาในทางทฤษฎีแล้ว สงครามพันทางคือการผสมระหว่าง "regular forces + irregular forces"
แต่การหยิบยกเอารูปแบบของสงครามเช่นนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นถกแถลงในหมู่นักทฤษฎีการทหาร เป็นเพราะนักการทหารอเมริกันเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า กำลังพลในปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่รบในพื้นที่ความขัดแย้งแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีภารกิจอื่นๆ ที่ต้องทำคู่ขนาน และภารกิจที่เพิ่มขึ้นมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นเช่นกันด้วย
ตัวอย่างที่นายทหารอเมริกันหยิบขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นถึงภารกิจของทหารในรูปแบบผสมนั้น อาจจะมีภารกิจพื้นฐานถึงสามประการในเวลาเดียวกันคือ
1) ทหารทำหน้าที่ในฐานะผู้รักษาสันติภาพในภารกิจรักษาสันติภาพ (peacekeeping operations หรือ PKO) เช่น การหย่าศึกระหว่างคู่ขัดแย้งในพื้นที่
2) ทหารทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (humanitarian assistance) เช่น การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพและคุ้มครองขบวนขนส่งอาหารของสหประชาชาติ
3) ทหารทำหน้าที่ในการรบ ต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงในระดับหนึ่งที่ปฏิบัติการรักษาสันติภาพอาจจะมีการใช้อาวุธด้วย (ไม่ใช่ PKO ในแบบเดิม)
น่าสนใจว่าภารกิจเช่นนี้อาจจะต้องปฏิบัติภายในวันเดียวกัน หรืออาจกล่าวในเชิงการบริหารสมัยใหม่ได้ว่า กำลังพลทหาร/หน่วยทหารอาจจะต้องทำภารกิจที่แตกต่างกันให้สำเร็จในเวลาเฉพาะเวลาหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บังคับหน่วยทหารในระดับต่างๆ ต้องมีความเข้าใจถึงรูปแบบของ "ภารกิจผสมผสาน" เพราะทหารจะไม่ได้ทำภารกิจเดียวที่เป็นเรื่องของการรบเท่านั้น
ในโลกยุคปัจจุบัน ภารกิจสามประการดังที่กล่าวแล้ว ยังเสริมด้วยภารกิจเพิ่มอีกประการคือ...
4) ภารกิจในปฏิบัติการจิตวิทยา หรือในสถานการณ์ปัจจุบัน ปฏิบัติการนี้อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลข่าวสารเป็นเครื่องมืออีกประการเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร ได้แก่ ปฏิบัติการข่าวสาร (information operations หรือ IO)
การกล่าวเช่นนี้อาจจะดูเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐ แต่หากพิจารณาจากมุมของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) แล้ว อาจจะเห็นถึงการใช้เครื่องมือแบบผสมผสานไม่แตกต่างกัน เช่น กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) มีปฏิบัติการทั้งจากกำลังรบตามแบบ และกำลังของนักรบกองโจรผสมกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่มนี้มีชุดปฎิบัติการต่อต้านรถถัง (anti-tank warfare teams) มีชุดควบคุมอาวุธปล่อยทางยุทธวิธี มีชุดควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (UAVs) และมีแม้กระทั่งชุดควบคุมอาวุธปล่อยทำลายเรือรบ (anti-ship missile teams) ซึ่งมีอานุภาพในการทำลายสูง และยังมีชุดปฏิบัติการข่าวกรอง เช่น ข่าวกรองสัญญาณ (SIGINT) ตลอดรวมถึงชุดปฏิบัติการจิตวิทยา (PSYOP) และปฏิบัติการด้านข่าวสาร เป็นต้น
ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า แบบแผนการสงครามมิได้ดำรงอยู่ในแบบเดียว หากแต่มีลักษณะของการผสมผสานด้วยการนำเครื่องมือใหม่ๆ ที่เป็นผลจากการพัฒนาของเทคโนโลยีเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมกับอำนาจกำลังรบในแบบเดิม ตัวอย่างเช่น สงครามในปัจจุบันมีการนำเอามิติข่าวสารเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้คู่ขนานกับการใช้กำลังรบ เช่น ปฏิบัติการของรัสเซียในวิกฤติยูเครนในปี 2014 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของของสงครามไฮบริดในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจว่า การขยายคำอธิบายของแบบแผนสงครามในลักษณะของ "สงครามพันทาง" นั้น ก็เพื่อให้นักการทหารมองเห็นถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ในหลากหลายรูปแบบ ที่สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยสนับสนุนในการทำสงครามทั้งกับฝ่ายรัฐ และกับฝ่ายตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐไม่แตกต่างกัน และทั้งยังต้องทำความเข้าใจว่า คำอธิบายนี้เป็นเรื่องของทฤษฎีการสงครามที่ต้องการให้เกิดความเข้าใจถึงพลวัตและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันนักการทหารก็จะต้องไม่ใช้คำอธิบายนี้อย่างบิดเบือนเพื่อหวังผลทางการเมืองในระยะสั้น เพราะการกระทำเช่นนั้นไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในทฤษฎีการสงครามแล้ว แต่ยังอาจทำให้ทฤษฎีดังกล่าวด้อยค่าลง และกลายเป็น "ขยะความคิด" ที่ไม่ควรค่าที่จะได้รับความสนใจ ทั้งที่ข้อถกแถลงเรื่องแบบแผนสงครามใหม่ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในทางทหารอย่างยิ่ง!