ผ่านเหตุระเบิดป่วนกรุงมาได้ 8 วัน คนกทม.ยังไม่เลิกหลอน พบระเบิดเพลิงเพิ่มอีก 1 ลูก เป็นระเบิดชุดเดียวกับที่คนร้ายลอบวางเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ตั้งเวลาระเบิดเช้ามืดวันที่ 2 แต่ระเบิดไม่ทำงาน
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง อัพเดตเหตุระเบิดป่วนกรุงเทพฯและปริมณฑลที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม ถึง 2 สิงหาคม 62 และระเบิดที่พบเพิ่มในวันที่ 7 สิงหาคม และ 9 สิงหาคม รวมแล้วมีระเบิดทั้งหมด 17 ลูก แยกระเบิดที่พบเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ระเบิดแสวงเครื่อง เป็นระเบิดที่คนร้ายประกอบขึ้นเอง เมื่อระเบิดทำงานจะใช้แรงอัดจากการระเบิดและสะเก็ดระเบิดเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลและสิ่งของที่อยู่ในรัศมี ระเบิดแสวงเครื่องที่พบทั้งหมดใช้วงจร IC Timer ในการหน่วงเวลาระเบิด ร่วมกับเชื้อปะทุไฟฟ้าแสวงเครื่องเป็นตัวจุดระเบิดแบบตั้งเวลา แล้วใช้สาร PETN หรือ Pentaerythritol Tetranitrate ซึ่งเป็นดินระเบิดแรงสูงเป็นดินระเบิดหลัก cละใช้ลูกเหล็กกลม หรือ "ลูกปราย" เป็นสะเก็ดระเบิด
เจ้าหน้าที่พบระเบิดแสวงเครื่องชนิดนี้ทั้งหมด 9 ลูก ระเบิดแล้ว 6 ลูก และเจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้ 3 ลูก เรียงลำดับตามวัน-เวลาดังนี้
เวลา 15.40 น. วันที่ 1 สิงหาคม พบที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2 ลูก เจ้าหน้าที่เก็บกู้ด้วยการยิงทำลาย
เวลา 07.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดบริเวณทางเข้าศูนย์ราชการอาคาร B 1 ลูก
เวลา 08.30 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่ลานจอดรถตึกคิงส์พาวเวอร์มหานคร 1 ลูก มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย
เวลา 08.36 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่สวนหย่อมริมทางเท้าใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี 1 ลูก มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย
เวลา 08.40 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดบริเวณทางออกศูนย์ราชการอาคาร B 1 ลูก
เวลา 09.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่หน้ากองบัญชาการกองทัพไทย 1 ลูก
เวลา 11.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม พบระเบิดใกล้กองบัญชาการกองทัพไทย 1 ลูก เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้
เวลา 11.20 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนศรีสมาน 1 ลูก
2. ระเบิดเพลิงแสวงเครื่อง เป็นระเบิดที่คนร้ายประกอบขึ้นมาเอง เมื่อระเบิดทำงานจะก่อให้เกิดเป็นเปลวเพลิงและเพลิงไหม้ในจุดที่วางระเบิดเอาไว้ ไม่มีสะเก็ดระเบิด ระเบิดประเภทนี้ใช้ในการก่อวินาศกรรมในรูปแบบของการวางเพลิง คนร้ายใช้วงจร IC Timer ร่วมกับเชื้อปะทุไฟฟ้าแสวงเครื่องเป็นตัวจุดระเบิดแบบตั้งเวลา เช่นเดียวระเบิดแสวงเครื่องประเภทแรก แต่ในส่วนของดินระเบิดหลัก ใช้ สตรอนเทียม ไนเตรท (Strontium nitrate) โปแตสเซียม (Potassium) แอมโมเนียม (Ammonium) และไนเตรท (Nitrate) ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ เป็นสารออกซิไดซ์ ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตดอกไม้ไฟ
เจ้าหน้าที่พบระเบิดเพลิงแสวงเครื่องทั้งหมด 8 ลูก เป็นระเบิดที่เกิดระเบิดแล้วจำนวน 6 ลูก และสามารถเก็บกู้ได้จำนวน 2 ลูก เรียงลำดับตามวัน-เวลาและสถานที่ดังนี้
เวลา 04.45 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่ร้าน MINISO ห้างสยามสแควร์วัน 1 ลูก
เวลา 04.30 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่ร้าน BE MIND BEAR ห้างสยามพารากอน 1 ลูก
เวลา 04.40 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่อาคาร DD HOUSE หลังโรงแรมใบหยก 1 ประตูน้ำ 1 ลูก
เวลา 05.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่ร้าน HOP V LINE ประตูน้ำ 1 ลูก
เวลา 05.30 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดที่ร้านปุ๋ยแฟชั่น ประตูน้ำ 1 ลูก
เวลา 05.40 น. วันที่ 2 สิงหาคม เกิดระเบิดบริเวณตรอกทางเข้าตลาดเฉลิมลาภ ประตูน้ำ 1 ลูก
เวลา 20.10 น. วันที่ 7 สิงหาคม พบระเบิดหน้าร้านไพโรจน์เบเกอรี่ 1 ลูก สามารถเก็บกู้ได้
วันที่ 9 สิงหาคม พบระเบิดที่ร้านขายเสื้อผ้า ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าย่านประตูน้ำ 1 ลูก สามารถเก็บกู้ได้
เจ้าหน้าที่จากหน่วยข่าวความมั่นคงประเมินว่า จุดมุ่งหมายการใช้ระเบิดเพลิงของคนร้าย ต้องการสร้างความเสียหายขนาดใหญ่เกินกว่าที่เจ้าหน้าที่คาดไว้ โดยเฉพาะหากระเบิดทำงานตามเป้าทั้งหมด จะเกิดเพลิงไหม้ใหญ่หลายจุดในย่านการค้าและกลางกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ยังไม่สว่าง ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะปั่นป่วนมาก จากนั้นพอเช้า ช่วงที่ประชาชนกำลังเดินทางไปทำงาน ไปสถานศึกษาอย่างพลุกพล่าน ก็เกิดระเบิดซ้ำ เป็นระเบิดสังหาร สร้างความตื่นตระหนกหนักขึ้นไปอีก
การวางแผนระดับนี้ต้องไม่ใช่ธรรมดา และเจ้าหน้าที่กำลังวิเคราะห์เพื่อบีบความเป็นไปได้ให้แคบลงที่สุดก่อนสรุปว่า "มาสเตอร์ มายด์" คือใคร
---------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพบางส่วนจากทีมข่าวอาชญากรรม เนชั่นทีวี