"มารา ปาตานี" เรียกร้องนานาชาติให้แทรกแซงไทยในการจัดการปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติและสมองบวมหลังถูกฝ่ายทหารควบคุมตัวเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยฝ่าย "มารา ปาตานี" เชื่อว่าน่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น
แถลงการณ์ฉบับนี้เขียนโดย อาบูฮาฟิซ อัล-ฮากิม ซึ่งอ้างว่าเป็นหนึ่งในแกนนำ "มารา ปาตานี" องค์กรร่มของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่ตัดสินใจร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกของปัญหาชายแดนใต้ร่วมกับรัฐบาลไทยในยุค คสช. โดยในตอนต้นของแถลงการณ์ มีการจั่วหัวถึงผู้นำองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) เลขาธิการอาเซียน นายกรัฐมนตรีของไทย นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก เป็นต้น
เนื้อหาของแถลงการณ์อ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงรายล่าสุด นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ถูกคุมตัวเข้าค่ายอิงคยุทธบริหาร และหลังจากนั้นเพียงคืนเดียวก็ถูกหามส่งห้องไอซียู จากอาการสิ้นสติและสมองบวม โดย อาบูฮาฟิซ พยายามเชื่อมโยงว่าค่ายทหารแห่งนี้เคยมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงมาแล้วหลายครั้ง ทำให้กรณีที่เกิดขึ้นกับนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ น่าสงสัย และอาจเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันซ้ำอีกในอนาคต จึงเรียกร้องให้นานาชาติเข้าแทรกแซงปัญหานี้ เพราะเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ไม่ใช่ปัญหาในประเทศไทยเพียงประเทศเดียวอีกต่อไป
สำหรับ "มารา ปาตานี" แม้จะเป็นองค์กรที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยมานานหลายปี และยังมีสมาชิกบางส่วน เช่น นายอาวัง ญาบัต (หรือ อาวัง ยาบะ) ประธานมารา ปาตานี ร่วมกระบวนการพูดคุยมาตั้งแต่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 55 ก็ตาม แต่ผลการพูดคุยก็ไม่ได้คืบหน้าจนถึงขั้นมีข้อตกลงใดๆ ในทางบวก หนำซ้ำตั้งแต่เดือน ก.พ.62 เป็นต้นมา มารา ปาตานี ยังได้ระงับการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย เพราะไม่พอใจบทบาทของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยฯฝ่ายไทย ที่ไม่ยอมเปิดโต๊ะพูดคุยในระดับหัวหน้าคณะตามที่ฝ่ายตนต้องการ ทั้งยังประกาศว่าจะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยอีกครั้งเมื่อประเทศไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น
ทว่าต่อมาในเดือน พ.ค. นายสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ของมารา ปาตานี ก็ตัดสินใจลาออกจากการทำหน้าที่ ท่ามกลางข่าวความขัดแย้งภายในองค์กรมารา ปาตานี เอง เนื่องจากมีบางกลุ่มบางฝ่ายต้องการพูดคุยกับรัฐบาลไทยต่อไป มีการนัดพบปะกันหลายครั้งทั้งในมาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม ทั้งๆ ที่ นายสุกรี ฮารี พยายามระงับการพูดคุยเอาไว้
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า การแสดงท่าทีต่อเหตุการณ์ผู้ต้องสงสัยสิ้นสติในค่ายทหารครั้งนี้ ประธานพูโล นายกัสตูรี มาห์โกตา ได้เขียนแถลงการณ์ประณามในสื่อสังคมออนไลน์มาก่อนแล้ว โดยเขียนในนามขององค์การพูโล ไม่ได้เขียนในนามมารา ปาตานี ขณะที่แถลงการณ์ของอาบูฮาฟิซ ก็ไม่ชัดเจนว่าออกในนามมารา ปาตานี ทั้งองค์กรหรือไม่ และได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 6 องค์กรผู้เห็นต่างจากรัฐที่เข้าร่วมเป็น "มารา ปาตานี" ด้วยหรือเปล่า
ขณะที่รัฐบาลไทยเองไม่เชื่อว่าองคาพยพใน "มารา ปาตานี" มีอิทธิพลต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง พูดง่ายๆ คือ "ไม่ใช่ตัวจริง" ที่จะยุติปัญหาได้ จึงพยายามส่งสัญญาณให้รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งเพิ่งมีรัฐบาลใหม่เมื่อกลางปีที่แล้ว และตั้งผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯคนใหม่ ให้เจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ทางการไทยเชื่อว่าเป็น "ตัวจริง" ให้เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯแทน และอาจลดบทบาทของ มารา ปาตานี ลง ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ตันสรี อับดุลราฮิม โมฮาหมัด นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย ก็เพิ่งเดินทางมาไทยเพื่อแจ้งความคืบหน้าการประสานให้กลุ่มบีอาร์เอ็นส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย
เหตุการณ์ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติในค่ายทหาร ยังมีอีกหลายองค์กรออกมาเคลื่อนไหว หนึ่งในนั้นคือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่เป็นอิสระเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ผลเป็นที่แน่ชัดว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อผู้ต้องสงสัยรายนี้หรือไม่ และหากการสอบสวนพบว่ามีการทรมานเกิดขึ้น ทางการไทยจะต้องให้การรับประกันว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด
สำหรับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก และมีผู้แทนทำงานในประเทศไทย องค์กรนี้ให้ความสนใจปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการออกแถลงการณ์เรียกร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตลอด และเป็นหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศที่ในแถลงการณ์ของแกนนำ มารา ปาตานี อย่าง นายอาบูฮาฟิซ อัล-ฮากิม อ้างถึงด้วย