โฉมหน้าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เพิ่งเปิดสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ ปรากฏชื่อ นิพนธ์ บุญญามณี นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เตรียมจองรหัส มท.2
รายนาม ครม.ใหม่แทบไม่มีสัญญาณอะไรที่ส่งถึงดินแดนปลายด้ามขวาน นอกจากชื่อของ นิพนธ์ บุญญามณี แม่ทัพภาคใต้ตอนล่างแห่งพรรคประชาธิปัตย์
แม้คราวนี้เขาจะพาพลพรรคพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ ส.ส.มาเพียง 1 ที่นั่งจาก 11 เก้าอี้ แต่ชื่อชั้นของ นิพนธ์ ก็คือคนรู้จริงคนหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยืดเยื้อมาทศวรรษครึ่ง
หลายคนหวังว่าเขาอาจได้รับมอบหมายให้เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยที่ดูแลปัญหาชายแดนใต้ เหมือนกับที่ ถาวร เสนเนียม เคยทำมาแล้วในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์
สาระสำคัญที่สุดที่ประชาธิปัตย์เคยทำเกี่ยวกับภาคใต้ ก็คือการให้น้ำหนัก "พลเรือน" และ "ฝ่ายการเมือง" ไม่แพ้งานความมั่นคงเพื่อยุติความรุนแรง
แต่ทิศทางนี้ห่างหายไปจนหมดสิ้นในยุครัฐบาล คสช.ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 5 ปี
วันนี้เมืองไทยกลับมาหย่อนบัตรเลือกตั้งอีกครั้ง และ นิพนธ์ บุญญามณี คือตัวแทนพรรคการเมืองที่ผ่านสนามเลือกตั้ง และก้าวมาอยู่ตรงจุดใกล้เคียงที่สุดที่จะแสดงบทบาทของฝ่ายพลเรือนในการจัดการปัญหาภาคใต้
"ทีมข่าวอิศรา" ได้พูดคุยถึงแนวคิดกว้างๆ ของเขา ในตำแหน่ง มท.2 และทิศทางของภารกิจดับไฟใต้ หากได้เข้าไปรับผิดชอบเต็มมือ
"หลังจากนี้ก็จะเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่ ก่อนจะแถลงนโยบายต่อสภา เพราะฉะนั้นการเตรียมการต่างๆ ของพรรคการเมืองก็จะเข้มข้นเต็มที่ โดยเฉพาะการเตรียมนโยบายของตนเองเพื่อนำไปผสมผสานกับนโยบายรัฐบาล" นิพนธ์ เปิดประเด็นแรกว่าด้วยจังหวะก้าวหลังมี ครม.ใหม่อย่างเป็นทางการ
แน่นอนว่าพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำ จะเป็นเจ้าภาพในการยกร่างนโยบายหลัก จากนั้นก็จะนำนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอีก 18 พรรคมาผสมผสานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
"พรรคประชาธิปัตย์เองก็อยากเห็นการนำนโยบายแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ไปใช้ในการบริหารประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการประกันรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและสามารถแก้ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนได้" นิพนธ์ เอ่ยถึงเป้าหมายในเรื่องของนโยบาย
ในฐานะนักการเมืองภาคใต้ แม้ไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะทำงานเป็นผู้บริหาร อบจ.สงขลามาหลายปี แต่ก็ยิ่งทำให้ได้สัมผัสปัญหาในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะราคายางพาราตกต่ำ ทั้งๆ ที่ "ยาง" คือหัวใจของเศรษฐกิจภาคด้ามขวาน
"พรรคประชาธิปัตย์ต้องการผลักดันและแก้ไขด้วยการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการทำถนนทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นจะนำกลไกท้องถิ่นที่มีอยู่ 7,800 กว่าท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม" นิพนธ์ คิดนโยบายเสร็จสรรพจากความเจนจัดงานท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติของตน
"ถ้าเราสามารถผลักดันขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ จะทำให้สามารถระบายยางพาราที่ค้างอยู่ในคลังออกไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์ และจะช่วยให้ราคายางพาราสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ" นิพนธ์ อธิบายวิธีการ
ส่วนปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน นิพนธ์ ฟันธงชัดๆ ว่า ต้องใช้การเมืองนำการทหาร และงานการเมืองที่ควบคู่กับการพัฒนา แต่แน่นอนว่าพื้นที่ต้องสงบและปลอดภัยด้วย
"ความรุนแรงได้บั่นทอนความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ก็จะสามารถมุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่ได้ เพราะพื้นที่นี้มีศักยภาพมาก ทั้งภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ และทรัพยากร ทั้งยังเป็นเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะมาเลเซีย ทั้งยังเป็นประตูสู่ตะวันออกกลางในเรื่องของฮาลาล"
นิพนธ์ เชื่อมั่นว่า ถ้าหยุดความรุนแรงลงได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการพัฒนาอีกมากโข
"ผมเชื่อว่ายังมีโครงการดีๆ สำหรับการพัฒนาได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการค้าชายแดน การประมง หรือการเกษตร พรรคประชาธิปัตย์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาชายแดนให้สำเร็จ และตั้งหน้าตั้งตาพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้มีอาชีพที่มั่นคง และมีรายได้อย่างยั่งยืนเพื่อดูแลครอบครัวต่อไป"
แต่หัวใจคือต้องหยุดความรุนแรงให้ได้ก่อน ซึ่ง นิพนธ์ ยอมรับว่าบทบาทสำคัญย่อมอยู่ที่ฝ่ายความมั่นคง เพียงแต่ผู้ถือเข็มทิศควรเป็นฝ่ายการเมือง และใช้งานการเมืองนำหน้า
"แนวทางการแก้ปัญหาต้องใช้การเมืองนำการทหาร" ขุนพลภาคใต้ย้ำ
และการมี ส.ส.ในพื้นที่เพียงแค่คนเดียว ไม่ได้ทำให้การทำงานยากจนเกินไป
"ผมยินดีแสดงให้เห็นว่า แม้ไม่มี ส.ส.เลย แต่ด้วยประสบการณ์ที่เคยอยู่ในพื้นที่มา และมี ส.ส.มาตลอด ก็จะอาศัยกลไกนี้ในการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และต้องเดินหน้าในทุกมิติเพื่อคลี่คลายปัญหาภาคใต้ให้ได้ต่อไป" นิพนธ์ กล่าว
ไม่มีใครกล้าการันตีว่า การเปลี่ยนรัฐบาลจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้นในภาคใต้ แต่ที่แน่ๆ เสียงจากในพื้นที่บอกตรงกันว่า เปลี่ยนแปลงยังดีกว่าไม่เปลี่ยนเลย!