ศอ.บต.พร้อมหนุนไอเดีย “สส.สมุมติ” เสนอพัฒนาทักษะเยาวชนชายแดนใต้ มุ่งสู่ “กีฬาอิสลามโลก” แนะดึงทุกสถาบันอุดมศึกษา พร้อม อบจ. 5 จังหวัดชายแดนร่วมคิดร่วมออกแบบ ไม่จำกัดแค่ฟุตบอล แต่เน้นกีฬาเสริมอัตลักษณ์พื้นที่ ทั้งขี่ม้า ยิงธนู เผยแต่ละกระทรวงมีงบในมือพร้อม ทำได้ทันที ไม่ต้องหางบใหม่
จากกรณีที่ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ สส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ก.พ.68 ที่ผ่านมา โดยำเสนอทิศทางการพัฒนากีฬาสู่สันติสุข ฝากถึงประธานสภา และนายกรัฐมนตรี ให้ผลักดันและขอโอกาสในการพัฒนาด้านการกีฬาแก่พี่น้องไทยมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขัน “กีฬาอิสลามโลก” หรือ Ialamic Solidarity Games และพัฒนาพื้นที่ปลายด้ามขวานให้เป็น “ฮับกีฬา” ของภูมิภาค รองรับการแข่งขันกีฬาทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ นั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงจากหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนา และบูรณาการความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทบวง กรม รับผิดชอบ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตรวจสองความพร้อมและความเป็นไปได้ในการพัฒนากีฬาให้เป็น “จุดเปลี่ยนสู่สันติสุข”
นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. และหัวหน้าคณะทำงานโฆษกศอ.บต. กล่าวว่า เรื่องที่ สส.สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ นำเสนอในสภานั้น สามารถทำได้เลย ถ้ารัฐบาลเห็นประโยชน์ ข้อเสนอทั้งหมดถือว่าเป็นประโยชน์ที่ดีและชัดเจน นอกจากเป็นภาพเชิงบวกของพื้นที่แล้ว ยังเป็นการลงทุนกับเยาวชน ซึ่งเป็นอนาคตของชาติในระยะยาว
“คือพอพูดถึงกีฬา เรามักจะนึกถึงเด็กและเยาวชนเป็นอันดับแรกก่อน แต่จริงๆ กีฬาอยู่กับทุกกลุ่มวัย แต่เรื่องนี้ความคุ้มค่า คุ้มทุน อยู่ที่เด็กและเยาวชน”
รองเลขาธิการ ศอ.บต.บอกอีกว่า การพัฒนาด้านการกีฬาเป็นมุมที่จะก่อให้เกิดความเกื้อกูลกันกับความสวยงาม สร้างจุดเด่นอีกหลายๆ ด้านของพื้นที่ ถือเป็นตัวหนุนเสริม ทั้งความหลากหลายทางวัฒนธรรม ธรรมชาติที่ยังค่อนข้างจะสมบูรณ์มากกว่าพื้นที่อื่น รวมทั้งอัตลักษณ์ต่างๆ
“แนวทางนี้จะทำให้เกิดประโยน์กับพื้นที่อย่างมาก และ ศอ.บต.ก็สามารถสานงานต่อได้”
@@ ดึงทุกมหาลัยรัฐ – เอกชน ช่วยคิดช่วยออกแบบ
นายนันทพงศ์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ สส.สมมติ เสนอให้ใช้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตนก็เห็นด้วย แต่ในเชิงการนำไปสู่การปฏิบัติ ศอ.บต.จะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ซึ่งในพื้นที่มี 8-9 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ให้มาช่วยกันคิดและออกแบบ แล้วช่วยกันตกลงว่า มหาวิทยาลัยไหนมีความพร้อมในกีฬาชนิดใด ประเภทใด หาความเป็นเลิศสักอย่าง เพราะจะกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วช่วยกันทำ
หากเป็นแบบนี้มันจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่กระจายอย่างทั่วถึง มีการช่วยกันทำงานหลายมหาวิทยาลัย เน้นด้านมาตรฐาน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยกีฬาของวิทยาเขตยะลา ก็มีศักยภาพอยู่แล้ว
“กีฬาในที่นี้ไม่ใช่แค่ฟุตบอลอย่างเดียว ต้องหากีฬาที่มันโดดเด่นที่จะไปต่อในโลกมุสลิม เช่น กีฬาเรื่องของปันจักสีลัต กีฬาขี่ม้า ยิงธนู เอามาออกแบบ หรือกีฬาพื้นฐานที่มันสามารถสร้างความเป็นสากลได้ด้วย เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล เป็นที่นิยมของยุคปัจจุบัน ผสมผสานเข้ามา ผมคิดว่าทำได้”
“ในกระบวนการทำงานก็ไม่ได้ยาก ศอ.บต.เป็นหน่วยงานระดับกระทรวง สามารถเชิญกระทรวงมานั่งคุยกันได้ ออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วม ก็เป็นภารกิจหนึ่งที่ทำได้อยู่แล้ว กระบวนการคิดและออกแบบทำได้เลย เริ่มที่เข้าใจหลักคิดที่ดี คิดให้ได้ แล้วต้องรู้ขั้นตอนการทำด้วย”
@@ ทุกหน่วยงานมีงบพร้อม ทำได้ทันที
รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า พลังสำคัญที่จะลืมไม่ได้คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.ทั้ง 5 จังหวัด เพราะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ สามารถสะท้อนถึงสิ่งที่เป็นความต้องการและความพร้อมของพื้นที่ได้
นอกจากนั้นยังมีผู้นำศาสนา มัสยิด 2,600 กว่าแห่งในพื้นที่ 5 จังหวัด ดึงมาเป็นพลัง รวมทั้งศาสนาอื่นๆ
“เรื่องกีฬาอย่าไปคิดว่าไม่เกี่ยวกับศาสนา ยกตัวอย่างกีฬาขี่ม้า ยิงธนู เป็นกีฬาที่ท่านนบี (ศาสนทูตมูฮัมหมัดฯ) ปฏิบัติ และเรื่องพวกนี้ทำแล้วเกิดประโยชน์ ก็ทำได้เลย”
“เมื่อได้ข้อสรุปจากหลายๆ ฝ่ายที่มีส่วนร่วมแล้ว ก็ออกข้อเสนอเป็นโปรเจคใหญ่ที่ครอบคลุม ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยกี่แห่ง หรือว่าสนามกีฬา ต้องมีจังหวัดละกี่แห่ง ความพร้อมในเรื่องสนาม เรื่องการฝึก ผู้ฝึกสอน เรื่องของการฝึกนักกีฬา ตั้งแต่การเรียนในโรงเรียนจนถึงจบมหาวิทยาลัย ดูทั้งระบบ ทุกขั้นตอนของงาน ทำเป็นโครงการออกมา และแยกเป็นเฟสออกมา เพราะใช้เงินเยอะ”
“เฟสแรกทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทำเรื่องสนามกีฬา ไม่จำเป็นต้องปูพรมหมด กีฬาชนิดไหนที่ไม่มีบุคลากร ต้องสร้างบุคลากรก่อน สร้างผู้สอนก่อน ยังไม่ต้องสร้างสนามกีฬา แต่กีฬาไหนที่มีความพร้อมแล้ว มีสนามแล้ว ก็ต้องปรับปรุง ต้องเพิ่มอุปกรณ์ เพิ่มทักษะผู้สอน เพิ่มกิจกรรมกีฬาให้มีการแข่งขัน เพื่อคัดนักกีฬาที่มีความสามารถ”
“ยืนยันเรื่องนี้ภายใน 6-7 เดือนนี้ทำได้เลย อะไรที่ยังไม่พร้อมค่อยๆ ปรับไป เฟส 2 เฟส 3 อะไรที่พร้อมก็ทำไปก่อน เฟสแรกเอาที่มีอยู่แล้ว เช่น ฟุตบอล มีอยู่แล้ว ทำกันก่อนเลย ทุกอย่างพร้อม และสิ่งเหล่านี้ที่พูดมาไม่จำเป็นต้องหาเงินใหม่ งบที่อยู่ในมือแต่ละกระทรวง แต่ละกรม สามารถเอามาทำงานตรงนี้ได้ก่อน เพราะเราไม่ได้เอาเงินจากมือท่าน จากกระเป๋าท่านมาไว้ที่เรา แต่เราขอให้ทำในสิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราคุยกัน” รองเลขาธิการ ศอ.บต. ระบุ
@@ ประธาน “นรายูไนเต็ด” ยันเยาวชนชายแดนใต้คลั่งฟุตบอล
ด้าน นายอัฟฟาน หะยียูโซะ ในฐานะประธานกรรมการบริหารสโมสรนรา ยูไนเต็ด กล่าวถึงตัวชี้วัดจากความสนใจกีฬาฟุตบอลของเยาวชนในพื้นที่ว่า การแข่งขันแต่ละครั้ง สโมสรนรา ยูไนเต็ด มียอดขายบัตรได้ประมาณ 3,000-4,000 ใบต่อแม็ตช์ จะเห็นได้ว่าช่วงแรกเราจะโดนปรับตลอด เพราะในตอนนั้นเราไม่มีการสร้างอัฒจันทร์ชั่วคราว ความจุของผู้ชมจะได้แค่ 2,000 คน แต่ผู้ที่เข้ามาชมเกิน 2,000 คนทุกแม็ตช์ ก็เลยโดนปรับ
แต่พอมาถึงตอนนี้ เรามีอัฒจันทร์ชั่วคราวแล้ว ความจุปัจจุบันที่ไทยลีกรับรอง ประมาณ 5,200 ที่นั่ง ตอนนี้ก็เต็มทุกครั้ง โดยมีการจำหน่ายบัตรใบละ 50 บาท ยอดขายบัตรก็จะอยู่ที่ 250,000 บาทต่อแม็ตช์ ไม่รวมกับของที่ระลึก ซึ่งปกติแล้วขายได้แม็ตช์ละ 100,000 บาท ซึ่งเป็นยอดขายที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย
หลังจากที่เรามีอัฒจัทร์ชั่วคราว คาดว่าเราจะได้แม็ตช์ละ 300,000 บาทขึ้นไป ซึ่งในการแข่งขันมีอยู่หนึ่งแม็ตช์ มีผู้ชมเกิน 10,000 คน
“คนพื้นที่สนใจกีฬาฟุตบอลมากขึ้น ศูนย์รวมของชาวบ้านที่จะมาพบปะ คือการมาดูกีฬาฟุตบอล โดยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสทั้ง 13 อำเภอ เวลามีการจัดแข่งขันกีฬาฟุตบอล อบต. ฟุตบอลหมู่บ้าน จะสังเกตได้ว่ามีผู้ชมแน่นสนาม”
นายอัฟฟาน กล่าวอีกว่า ถ้านโยบายภาครัฐจะผลักดันเยาวชนในพื้นที่ให้เข้าร่วม “กีฬามุสลิมโลก” ตนก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่อยากให้เป็นกีฬาที่รวมทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ไม่อยากให้มีการแบ่งแยกว่าเป็นกีฬาของมุสลิม กีฬาของศาสนาคริสต์ กีฬาของศาสนาพุทธ เพราะแม้กระทั่งประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด นักฟุตบอลอินโดฯยังมีนับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธเกือบครึ่งทีม
@@ รู้จัก “นรา ยูไนเต็ด”
สำหรับ “สโมสรนรา ยูไนเต็ด” เจ้าของฉายา “กอและพิฆาต” เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพ ตั้งอยู่ใน จ.นราธิวาส ปัจจุบันอยู่ในไทยลีก 3 โซนภาคใต้ ฤดูกาลที่ผ่านมาได้ชูถ้วยลีกดิวิชั่น 2 โซนภาคใต้ และตำแหน่งซูเปอร์แชมเปี้ยนคัพในปี 2009 และ 2010
สโมสรนรายูไนเต็ด เคยมีนักเตะติดทีมชาติหลายคน เช่น ซอลาฮุดดีน อาแว เคยติดชุดตะลุยซีเกมส์ และเป็นชาวนราธิวาสตัวจริงเสียงจริง บ้านเกิดอยู่ที่ อ.เจาะไอร้อง
นอกจากนั้นยังมี อาลีฟ เปาะจิ เป็นทีมชาติชุด U23, อีกคนคือ อิลยาส ดอเลาะ เป็นลูกครึ่งไทย-สวีเดน เป็นคนบ้านทอน แต่ไม่ได้เติบโตจากอะคาเดมี่ของนรายูไนเต็ด แต่คนที่ไปจากนรายูไนเต็ด คือ อิรฟาน ดอเลาะ ซึ่งเคยติดทีมชาติ และปัจจุบันก็เล่นให้กับสโมสรฟุตบอลบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เป็นลูกหม้อตั้งแต่ระดับเยาวชนของสโมสรเลยทีเดียว