การเกิดเหตุรุนแรงถี่ๆ ช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงกำลังเดินหน้าแคมเปญ ”รอมฎอนสันติ” โดยนำไปผูกโยงกับการเตรียมตั้งคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชุดใหม่ด้วยนั้น
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดคำถามว่า สถานการณ์ร้ายจะกลายเป็นแรงกดดันทำให้ “การพูดคุย” เดินหน้ายากขึ้นหรือไม่
โดยเฉพาะข่าวการเตรียมแต่งตั้ง พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หรือ “บิ๊กแป๊ะ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯชุดใหม่
อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ นักวิชาการอิสระที่มีความเชี่ยวชาญปัญหาภาคใต้ และอดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้คนแรก มองว่า การใช้ “รอมฎอนสันติ” เป็นตัวชี้วัดเรื่องการแต่งตั้งคณะพูดคุยฯชุดใหม่ ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะการเกิดเหตุรุนแรงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ขณะที่ตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความไม่สงบ ถือเป็นคนละเรื่องกัน
อาจารย์ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลต้องการตั้ง พล.อ.นิพัทธ์ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่เข้าใจสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ดีกว่าคนอื่น ก็ควรแต่งตั้งเลย ไม่ต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะไม่เกี่ยวกัน
@@ เช็คลิสต์ “ตัวจริงบีอาร์เอ็น” ต้องเข้าให้ถึง
นักวิชาการอิสระ ยังเสนอว่าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ ใน 2 ประเด็น คือ
1.ต้องเข้าให้ถึงตัวจริงของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งมีอย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่
- สภาองค์กรนำ มีสมาชิกสำคัญ คือ นายดุลเลาะ (ดูนเลาะ) แวมะนอ เป็นประธาน, นายซำซูดิง กาจิ ฝ่ายการเงิน, นายเด็ง แวกาจิ ฝ่ายกองกำลัง, นายอับดุลเลาะ มุณี หรือ อดุล มุนี ฝ่ายเปอร์มูดอหรือเยาวชน, นายฆอซาลี ซัมปอม ฝ่ายมวลชน และ นายเฮ็ง มะจูดาฉา ฝ่ายอูลามะ หรือฝ่ายศาสนา
- หน่วยควบคุมฝ่ายปฏิบัติการกองกำลัง มี นายนิเซะ นิฮะ เป็นผู้บัญชาการใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้, นายยาลานิง แตมามู เป็น ผบ.จังหวัดปัตตานี, นายอุสมาน เจ๊ะอุบล ผบ.จังหวัดยะลา และ นายมูฮำหมัดโมซากี วาเฮ็ง เป็น ผบ.จังหวัดนราธิวาส
2.หาทางคุยนอกรอบ โดยวางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขร่วมกันเป็นร่างข้อตกลงซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ก่อนจะเปิดเจรจาจริง และเมื่อการเจรจาเกิดขึ้น ต้องให้แกนนำตัวจริงของบีอาร์เอ็น และผู้แทนอย่างเป็นทางการจากฝ่ายรัฐบาลได้เจรจาหารือข้อยุติร่วมกัน และหากตกลงกันได้ ก็ต้องออกแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการ
สำหรับตัวบุคคลในคณะพูดคุยฯชุดใหม่นั้น อาจารย์ประสิทธิ์ เสนอว่า ให้ พล.อ.นิพัทธ์ เป็นคนเลือกเองจะดีที่สุด เช่นเดียวกับนโยบายที่นำมาใช้ ไม่จำเป็นต้องไปเลียนแบบนโยบาย 66/23 แต่ควรหาข้อสรุปกับบีอาร์เอ็นจะตรงเป้ากว่า
@@ อย่าผูกติดสถานการณ์กับการพูดคุยฯ
บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม มองคล้ายๆ กันว่า พล.อ.นิพัทธ์ เป็นที่รู้จักของคนชายแดนใต้ระดับหนึ่ง และถือเป็นอดีตนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการพูดคุยสันติภาพ ช่วงปี 2556 ในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ และมีความรู้เรื่องทางการทูต จึงถือว่ามีความเหมาะสม
ส่วนการแต่งตั้งคณะพูดคุยฯ หลังผ่านพ้นช่วงเดือนรอมฎอน อาจมองได้ว่าเพื่อให้ “รอมฎอนสันติ” เป็นบทพิสูจน์ แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การมีช่องทางการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ย่อมดีกว่าไม่มีข่องทางการพูดคุยเลย
@@ จี้พิสูจน์ความจริงใจ ไม่ใช่เลี้ยงไข้หวังงบ
บุษยมาส เน้นว่า การจะดับไฟใต้ให้สำเร็จ ต้องเริ่มจากความจริงใจ
“ไฟใต้ปะทุขึ้นในยุคของคุณทักษิณ จากนั้นก็มีงบประมาณลงมามหาศาล มันหล่อเลี้ยงทุกอย่างทั้งระบบ จนทำให้คนพื้นที่มีความรู้สึกว่าการดับไฟใต้เป็นการทำงานที่ไม่จริงใจ และไม่ชัดเจน รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์มีการตั้งโต๊ะพูดคุย และดำเนินการเรื่องมาจนถึงรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็เหมือนกับเลี้ยงเวทีมาเรื่อยๆ ไม่เห็นสัญญาณบวกใดๆ เลย ตรงนี้เป็นเรื่องของการขาดความจริงใจ”
ประธานกลุ่มบ้านบุญเต็ม ตั้งข้อสังเกตที่อาจแทงใจดำใครหลายคน
“ตอนนี้โต๊ะเจรจามันเหมือนกับเวทีละครที่ถูกสมมุติขึ้นมา แล้วเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนบทบาทของผู้แสดง แต่ผู้กำกับก็ยังวางธงไว้ในทิศทางเดิมๆ ไม่ว่าจะอุปโลกน์ใครขึ้นมา จะแต่งตั้งใครขึ้นมา คนในพื้นที่เขามองออกว่าจะมาเพื่อตั้งใจแก้ปัญหา หรือมาเพื่อหล่อเลี้ยงระบบกันต่อไป”
บุษยมาส บอกด้วยว่า คนพื้นที่เชื่อว่า ไฟใต้ดับได้ด้วยการเจรจา ไม่ใช่ความรุนแรง แต่รัฐต้องมีความจริงใจ และหยุดเล่นเกมการเมือง