เหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อช่วงค่ำของวันพุธที่ 5 มี.ค.68 ซึ่งคนร้ายขว้างระเบิดลงบนถนน บริเวณสี่แยกใกล้ทางพาดรถไฟกลางเมืองยะลา ท่ามกลางรถบรรทุกสิบล้อและรถจักรยานยนต์ของพี่น้องประชาชนกำลังจอดติดไฟแดงอยู่หลายคัน มีคลิปภาพจากกล้องวงจรปิดเผยแพร่ออกมา สร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว
แรงระเบิดทำให้มีผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับบาดเจ็บมากถึง 6 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เหตุการณ์ลักษณะนี้สะท้อนว่าพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เคยปลอดภัย และมีอันตรายมาสะกิดถึงตัวได้ทุกเมื่อ
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ นอกสถานการณ์ภาพรวมที่ไม่ดีขึ้นแล้ว ก็คือยุทโธปกรณ์ประเภท “ระเบิดแสวงเครื่อง” ที่คนร้ายนำมาใช้ มีพัฒนาการให้ง่ายและสะดวกต่อการก่อเหตุและพกพาตลอดเวลา
อย่างเหตุการณ์นี้ คนร้ายขว้างระเบิด 2 ลูก แต่ระเบิดทำงานและเกิดระเบิดขึ้น 1 ลูก ส่วนอีกลูกระเบิดไม่ทำงาน ทำให้เห็นลักษณะของระเบิดที่คนร้ายใช้ เป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบทรงกลม หรือที่เรียกว่า “บอลบอมบ์”
ระเบิดแสวงเครื่องแบบ “บอลบอมบ์” ถูกเรียกตามรูปทรงเหมือนลูกบอลขนาดเล็ก แบบเดียวกับที่เราใช้เรียกระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างรูปทรงคล้ายท่อ หรือผลิตจากท่อเหล็ก ท่อพีวีซี ว่า “ไปป์บอมบ์”
โดย “บอลบอมบ์” ลูกที่ไม่เกิดระเบิดนั้น มีลักษณะเป็นทรงกลมสีดำขนาดเหมาะมือ มีกระเดื่องนิรภัยที่ทำเลียนแบบระเบิดมาตราฐาน เป็นตัวเซฟไม่ให้ระเบิดทำงานหลังดึงสลักออก แต่จะทำงานหลังกระเดื่องดีดตัวออกจากระเบิด
ในอดีต เจ้าหน้าที่เคยเก็บกู้ “บอลบอมบ์” ได้ในบางเหตุการณ์ เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า มีส่วนประกอบคล้ายๆ “ไปป์บอมบ์” ที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้ แต่เปลี่ยนภาชนะห่อหุ้มระเบิดจาก “ท่อเหล็ก” หรือ “ท่อพีวีซี” มาใช้วัสดุทรงกลมประกอบเป็นระเบิดแทน
วัสดุหลักคือ “บอลกลมร้อยท่อโลหะ” ที่ใช้ในงานตกแต่งประตูรั้ว หรือราวบันไดเหล็ก นำมาบรรจุดินระเบิด และใส่บอลแบริ่ง (ลูกเหล็กทรงกลมขนาดเล็ก) เพื่อเป็นสะเก็ดระเบิด
ส่วนบนของตัวระเบิดใช้เรือนชนวนขึ้นรูป เป็นตัวเก็บระบบวงจรจุดระเบิดแบบหน่วงเวลา มีเชื้อประทุ แบตเตอรี่ และมีการใส่กระเดื่องและสลักระเบิดเพื่อใช้เป็นตัวเซฟการทำงานของระเบิด ในลักษณะเดียวกับระเบิดขว้างแบบมาตรฐาน ซึ่งใน “ไปป์บอมบ์” ก็มีเช่นเดียวกัน
“บอลบอมบ์” ถือเป็นการพัฒนาระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้าง จากชนิด “ไปป์บอมบ์” ที่มีใช้กันมาก่อน โดยทำให้มีขนาดเล็กลง ใกล้เคียงกับระเบิดขว้างมาตรฐานทางทหาร ทำให้จับได้เหมาะมือมากขึ้น ขว้างได้ถนัดและขว้างได้ไกลขึ้นมากกว่า “ไปป์บอมบ์” ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า และมีรูปทรงเหมือนท่อเหล็ก แนวยาว ทำให้ต้านลมเวลาถูกขว้างออกไป
แม้ “บอลบอมบ์” มีขนาดเล็กลงกว่า “ไปป์บอมบ์” ทำให้บรรจุดินระเบิดได้น้อยกว่า แต่เจ้าหน้าที่พบว่า มีการใช้สารระเบิด PETN (Pentaerythritol Tetranitrate) ซึ่งจัดเป็นดินระเบิดแรงสูง อำนาจการทำลายล้างรุนแรงมากกว่าดินระเบิดชนิดอื่นเมื่อเทียบในปริมาณเท่ากัน
ที่สำคัญ สารระเบิด PETN ยังมีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ ทำให้เมื่อประกอบระเบิดแล้ว สามารถเก็บไว้ใช้เมื่อใดก็ได้ โดยไม่ต้องห่วงปัญหาความชื้นหรือระเบิดเสื่อมจากความชื้น และด้วยขนาดที่เล็กเหมาะมือ ยังสามารถพกพาหลบซ่อนให้พ้นจากสายตาเจ้าหน้าที่ได้ง่ายกว่า “ไปป์บอมบ์”
“บอลบอมบ์” ถูกพบนำมาใช้ครั้งแรกในเหตุการณ์ปาระเบิดใส่ฐานหมวดเฉพาะกิจตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ในพื้นที่บ้านลางา หมู่ 5 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.65 เนื่องจากระเบิดทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เห็นรูปทรงระเบิดแสวงเครื่องทรงกลมที่เลียนแบบระเบิดขว้างสังหาร ซึ่งเป็นระเบิดมาตรฐานแบบ M 67
ต่อมาเจ้าหน้าที่พบการใช้ระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้าง “บอลบอมบ์” โดยเฉพาะที่สามารถเก็บกู้ได้อีกหลายเหตุการณ์เช่น
24 ก.พ.66 เหตุปาระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการหมวดเฉพาะกิจหน่วยปฏิบัติการพิเศษยะลา 1 (มว.ฉก.นปพ.ยะลา 1) บ้านเปาะยานิ หมู่ 2 ต.สะเตงนอก อ.เมือง จ.ยะลา
11 ต.ค.66 เหตุยิงและปาระเบิดใส่ฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลบันนังสาเรง ( ชคต.บันนังสาเรง) ต.บันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา
และก็มาถึงเหตุปาระเบิดที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด บริเวณสี่แยกกลางเมืองยะลา!