ควันหลงจากภารกิจเยือนมาเลเซียของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร กับคำประกาศของผู้นำมาเลเซียที่ได้แต่งตั้ง อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว
แม้ครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่อดีตนายกฯทักษิณของไทย ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเคยได้รับเกียรติเป็นที่ปรึกษาของ สมเด็จฮุนเซน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชามาแล้ว
แต่นัยของกัมพูชา มีความเป็น “การเมือง” ที่ต้องการให้สะเทือนถึงฝ่ายการเมืองของประเทศไทยค่อนข้างสูง ทำนองว่าประเทศอื่นยังยอมรับความรู้ความสามารถของและบทบาทของชายชื่อทักษิณ แต่บางฝ่ายในประเทศไทยกลับปฏิเสธ แถมโดนเล่นงานจนอยู่บ้านเกิดเมืองนอนไม่ได้ (ในมุมที่อดีตนายกฯต้องการสื่อ)
แต่สัญญาณจากกัวลาลัมเปอร์หนนี้ แตกต่างออกไป เพราะนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม แต่งตั้งอดีตนายกฯทักษิณ เป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ในหมวก “ประธานอาเซียน” ซึ่งผู้นำมาเลเซียจะรับภารกิจนี้ในปี 2568
นี่ีจึงทำให้เกิดการคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่าการแต่งตั้งอดีตนายกฯของไทย มีเหตุผลกลใดกันแน่
ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนบทความถอดรหัสเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
@@ สัญญาณจากกัวลาลัมเปอร์- ปัญหาเมียนมาร์
ข่าวการพบระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซียที่กัวลาลัมเปอร์ ที่ปรากฏในสื่อไทยนั้น ดูจะถูกกลบอย่างสิ้นเชิง ด้วยข่าวการแต่งตั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาส่วนตัว” ของนายกฯ อันวาร์ ในฐานะของประธานอาเซียน
แน่นอนว่าการแต่งตั้งมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่เพื่อให้การตั้งข้อสังเกตถึงการแต่งตั้งดังกล่าว เราอาจต้องแยก “จริตทางการเมือง” ที่มีนัยถึงความชอบ-ไม่ชอบคุณทักษิณออกไปก่อน เพราะบทบาทของคุณทักษิณด้านหนึ่งอยู่ใน “แสงสปอตไลต์” ตลอดเวลา แต่ในอีกด้าน บทบาทในบางครั้งก็มีสภาวะเป็น “ตำบลกระสุนตก” อยู่เนืองๆ
ดังนั้นเพื่อให้สะดวกในการทำข้อพิจารณาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะขอยกประเด็น “จริต” ออกไปก่อน ซึ่งจะทำให้เกิดข้อสังเกต ดังนี้
1.การแต่งตั้งคุณทักษิณให้เป็นที่ปรึกษาของผู้นำต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาเคยเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ฮุนเซ็น ของกัมพูชามาแล้ว
2.การแต่งตั้งครั้งนี้อาจตีความได้ว่า เป็นเรื่องของความพยายามในการแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมาของผู้นำมาเลเซีย
3.ในปี 2025/ พศ. 2568 (ปีหน้า) มาเลเซียจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ต่อจากลาว
4.โจทย์สำคัญประการหนึ่งที่ท้าทายผู้นำมาเลเซียคือ การผลักดันฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และการแสวงหาช่องทางในการสร้างสันติภาพในเมียนมา
5.โจทย์สำคัญอีกส่วนของปี 2025 คือ รัฐบาลทหารต้องการผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม ปีหน้า ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างมาก เพราะผู้นำทหารเมียนมาจะอาศัยการเลือกตั้ง เป็นเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมให้ระบอบรัฐประหาร
6.อาเซียน (โดยประธานอาเซียนคือ มาเลเซีย) และรวมถึงไทย จะตอบรับกับการเลือกตั้งในเมียนมาหรือไม่
7.ประเทศที่ “น่าจะ” ตอบรับกับการสร้างสันติภาพเมียนมาผ่านการเลือกตั้งคือ จีน
8.ในอีกด้าน ก่อนที่ลาวจะหมดวาระของการเป็นประธานอาเซียนในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ ไทยได้ช่วยในการผลักดันให้เกิดเวทีการคุยเรื่องเมียนมาในวันที่ 19-20 ธันวาคม ที่กรุงเทพฯ โดยมีผู้ที่เข้าร่วมการประชุม 6 ชาติ คือ บังคลาเทศ จีน อินเดีย ลาว เมียนมา และไทย
9.ประเด็นสำคัญในอีกส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับบนเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์ คือ การเปิดเวทีสันติภาพเมียนมายังจำเป็นต้องอาศัยความสนับสนุนและความร่วมมือของรัฐบาลไทย (จะเห็นได้จากข้อวิจารณ์ที่ต่อบทบาทของรัฐบาลไทยก่อนการเลือกตั้ง 2023 ที่มีไปในทางลบ จากการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมา)
10.คุณทักษิณเคยเดินงาน “การทูตแทร็ก 2” (Track 2 Diplomacy) มาแล้ว จากการเริ่มเปิดเวทีที่เชียงใหม่ในช่วงสงกรานต์ของปีปัจจุบัน แต่ต้องยุติไปด้วยเงื่อนไขทางการเมืองบางประการ การแต่งตั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามถึง บทบาทของ “แทร็ก 2” ของคุณทักษิณในอนาคต
11.การที่นายกฯ อันวาร์ ดึงคุณทักษิณให้มาช่วย ยังอาจมาจากประเด็นความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้นำทหารเมียนมาในปัจจุบัน (ในช่วงสมัยรัฐบาลไทยรักไทย) ซึ่งก็ท้าทายว่าจะดำเนินการได้จริงเพียงใด
12.คงต้องยอมรับในบริบทระหว่างประเทศว่า การมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในเมียนมาเป็น “บทบาทเชิงบวก” ของไทย แต่ต้องตระหนักเสมอถึงความซับซ้อนและความยุ่งยากของปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาที่ดำเนินต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักเสมอว่า ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมาแก้ไม่ง่าย และเป็นโจทย์ยากที่สุดชุดหนึ่งของเวทีการเมืองภูมิภาคและการเมืองโลก ซึ่งท้าทายทั้งต่อผู้นำมาเลเซียและไทยพอกัน!