ปลัดจังหวัดยะลาแจงปมฉาว “อมค่าเสบียงสนาม อส.” ยืนยัน “ค่าตอบแทน – เบี้ยเลี้ยง” ทุจริตไม่ได้ เพราะโอนตรงเข้าบัญชีกำลังพล ส่วนเสบียงสนาม ตามระเบียบไม่ได้ให้จ่ายเป็นเงินสด แต่ให้จ่ายเป็นสิ่งของหรือประกอบเลี้ยง ถ้าไม่ทำหรือไม่ตรงปกจึงจะถือว่า “โกง” ส่วนเบี้ยเลี้ยงสนาม ปลัดงานความมั่นคงปัตตานีย้ำเบิกซ้ำซ้อนไม่ได้หากต้องไปฝึกทบทวน
จากข่าวสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน หรือ อส.ชายแดนใต้ ทวงถามเงินค่าเสบียงสนาม คนละ 15 บาทต่อวัน เดือนหนึ่งจ่าย 25 วัน เท่ากับ 375 บาทต่อคน แต่กลับไม่ได้รับ โดยได้รับแจกเป็น “ถุงยังชีพ” แทน หนำซ้ำในถุงยังชีพยังมีเพียงข้าวสารบรรจุถุง 5 กิโลกรัม น้ำมันพืช 1 ขวด ปลากระป๋อง 3 กระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 ห่อ ซึ่งมูลค่าไม่น่าจะถึง 375 บาท จนเกิดกระแสวิจารณ์และตั้งคำถามว่ามีการทุจริตหรืออมเงิน อส.หรือไม่
โดย อส.ที่ออกมาโวยผ่านเพจ ชมรม STRONG ต้านทุจริต เป็น อส.ใน อ.กรงปินัง และ อ.ธารโต จ.ยะลา นั้น
ต่อมา “ทีมข่าวอิศรา” ได้ตรวจสอบข้อมูลจาก อส.ในพื้นที่ต่างๆ พบความคับข้องใจและการไม่ได้รับ “ค่าเสบียงสนาม” จริง โดยบางรายก็ไม่ได้รับไปเฉยๆ ส่วนบางรายได้รับเป็น “ถุงยังชีพ” แทนจริงๆ ตามที่มีการร้องเรียน รวมถึงพบประเด็นการหัก “เบี้ยเลี้ยงสนาม” สำหรับสมาชิก อส.ที่ถูกเรียกไปฝึกทบทวน โดยจะโดนหักวันละ 200 บาท ตามจำนวนวันที่ไปฝึกทบทวน ทำให้ อส.แต่ละคนได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนไม่เต็มจำนวนที่ควรจะได้รับ ส่งผลต่อขวัญกำลังใจ เพราะต้องทำงานหนักในพื้นที่เสี่ยงภัย
ด้วยเหตุนี้ “ทีมข่าวอิศรา” จึงได้ลงพื้นที่สอบถามข้อเท็จจริงจาก นายโอฬาร บิลสัน ปลัดจังหวัดยะลา ซึ่งรับผิดชอบงานกองอาสารักษาดินแดน ได้ข้อมูลว่า เงินของสมาชิก อส.มี 3 ส่วน คือ
1.ค่าตอบแทน ขั้นต่ำ 10,000 บาท 2.เบี้ยเลี้ยงสนาม 200 บาทต่อวัน คิดจาก 25 วันต่อเดือน เป็นเงิน 5,000 บาทต่อเดือน และ 3. เสบียงสนาม 15 บาทต่อวัน คิดจาก 25 วันต่อเดือน เป็นเงิน 375 บาทต่อเดือน
“ถ้าตรงนี้จะมีการทุจริต ข้อ 1 ค่าตอบแทน ทุจริตไม่ได้ เพราะมันโอนเข้าบัญชี ข้อ 2 เบี้ยเลี้ยงสนาม ทุจริตไม่ได้ มันก็โอนเข้าบัญชีเช่นกัน ถ้าจะหักก็หักตอนโอนเข้าบัญชี ยกเว้นไปหักกันเองโดยมิชอบ นั่นก็คือความผิด แต่ถ้าหักเข้าบัญชีมันก็เข้าหลวง แล้วต้องมีการไปอบรม ไปฝึกทบทวนจริง”
“ส่วนข้อ 3 ถ้าเป็นการทุจริต ก็คือ เขาไม่แจกเสบียงสนาม ถ้าเขาไม่แจกเสบียงสนาม หรือเขาไม่มีการประกอบเลี้ยงจริง นั่นแหละคือทุจริต เพราะเขาจะจ่ายเป็นเงินไม่ได้ เขาตีมูลค่า 15 บาทต่อวัน รวม 375 บาทต่อเดือน เป็นมูลค่าของเสบียงสนาม แต่ไม่ใช่มาเกิดคำถามว่า ทำไมไม่จ่ายเป็นเงิน เพราะตามระเบียบไม่ให้จ่ายเป็นเงิน ในระเบียบเขาให้ไปจัดประกอบเลี้ยง”
“ถ้าเป็น อส.ธุรการ เขาก็ให้เป็นของ ก็มูลค่า 375 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นฐาน ชคต. (ชุดคุ้มครองตำบล) กองร้อย อส.จังหวัด เขาก็จะจัดประกอบเลี้ยง เป็นอาหารวันละ 15 บาท ก็มื้อละ 5 บาท ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่หรอก เขาก็เฉลี่ยเงินกัน แต่ว่ามันได้ 15 บาทต่อวันต่อคนเหมือนกัน ถ้าเป็นของก็ต้องมีมูลค่าเท่านี้”
“แล้วมันมีประเด็นต่อคือ 3 เดือนจ่ายครั้ง ก็ทำได้ เพราะเขาจ่ายเงินเป็นงวด แต่ก็ต้องมีมูลค่า 375 บาทคูณ 3 (เดือน) ถ้าคิดก็ประมาณ 1,000 กว่าบาท แต่ทำไมอีก 2 เดือนไม่จ่าย เพราะงบประมาณมาเป็นงวด ตรงนี้ถ้ามีการทุจริตคือการไม่จ่ายเสบียงสนามจริง หรือสิ่งของที่หามาให้ มูลค่าไม่ได้ หรือไม่ได้ประกอบเลี้ยงจริง” ปลัดโอฬาร กล่าว (ฟังเสียงจากคลิปประกอบ)
@@ ย้ำ “เสบียงสนาม” ไม่ได้จ่ายเป็นเงิน แต่จ่ายเป็นของไปจัดประกอบเลี้ยง
ด้านเจ้าหน้าที่ปลัดงานความมั่นคงอีกรายในพื้นที่ จ.ปัตตานี กล่าวว่า จริงๆ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นพื้นที่ของ จ.ยะลา ส่วนที่ จ.ปัตตานี ยังไม่มีเรื่องนี้ คือ กรมการปกครองจัดสรรงบประมาณมาให้จัดซื้อเสบียงสนาม ซึ่งคำว่า “เสบียงสนาม” หมายความว่า อาหาร ข้าวสาร น้ำมัน ให้ สมาชิก อส.นำไปประกอบเลี้ยงในฐานปฏิบัติการ ไม่ได้ให้เป็นเงิน
“ทางกรมการปกครองให้อำเภอจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อของมาให้ สมาชิก อส. ตีเป็นรายหัว วันละ 15 บาทต่อคน ใน 1 เดือนให้ 25 วัน ตรงนี้จะให้อำนาจ แล้วแต่บางอำเภอจะไปเอาเครดิตกับร้านค้าในพื้นที่ ตามวงเงินงบประมาณที่จะได้รับการจัดสรรในแต่ละเดือน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปเอาของกินสำหรับมาประกอบเลี้ยงในฐานปฏิบัติการ ในวงเงินไม่เกินตามงบประมาณแต่ละเดือนของแต่ละพื้นที่”
“บางอำเภออาจจะไปเอาเป็นของมาทีเดียวเลย แล้วมาแจกให้เป็นรายหัว ไม่ได้หมายความว่า แปลงเป็นถุงยังชีพ เขาให้เอาเป็นของที่ใช้ในการประกอบเลี้ยง ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวสาร น้ำมัน ไข่ ปลากระป๋อง ถ้าบังเอิญร้านไหนหรืออำเภอไหนที่เครดิตกับร้านขายอาหารสดได้ ก็อาจจะเอาอาหารสดก็ได้ แต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน คือจะได้ของมาอย่างไร ขึ้นอยู่ที่แต่ละพื้นที่บริหารจัดการไปเลย” ปลัดงานความมั่นคงของปัตตานี อธิบาย
@@ โบ้ยร้านที่ไปเครดิตสินค้า บวกเพิ่มทำราคาแพง
เจ้าหน้าที่ปลัดงานความมั่นคงรายเดิม ตั้งข้อสังเกตว่า “ผมคิดว่าปัญหานี้น่าจะเกิดขึ้นตอนที่บางอำเภอหรือบางกองร้อยไปเครดิตของกับทางร้านก่อน สมมุติข้าวราคา 100 บาทต่อถุง พอเราไปเครดิต ทางร้านก็จะไปบวกเพิ่ม อาจจะแพงกว่าราคาปกติ เนื่องจากเราไปเครดิต เพราะการเบิกจ่ายเป็นการจัดซื้อจัดจ้างค่าอาหารอยู่แล้ว งบประมาณทั้งหมดก็จะโอนเข้าไปที่ร้านโดยตรงอยู่แล้ว มันไม่ได้เข้าบัญชีของหน่วย เข้าบัญชีของร้านที่จัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าที่เป็นปัญหาน่าจะมาจากร้าน
“ลูกน้องผมก็เคยมาถามว่า ทำไมเราไม่ได้ของมาตามจำนวนที่ควรได้ ก็บอกไปว่าจะไปนับว่าข้าวสารราคา 95 ไข่ราคาเท่านี้ๆ แต่ในความจริงร้านไหนที่เราไปเครดิต บางร้านเขาก็อาจจะมีส่วนต่างบวกราคาเข้าไปด้วย”
@@ เผยเบี้ยเลี้ยงสนาม เบิกซ้ำซ้อนไม่ได้หากต้องไปฝึก
เจ้าหน้าที่ปลัดงานความมั่นคงของปัตตานี กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องเบี้ยเลี้ยงสนามของสมาชิก อส. ทางกรมการปกครองก็จะจัดมาให้ กรณีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสนามเท่านั้น หมายถึงว่า เราปฏิบัติงานในอำเภอ ในกองร้อย กรมจึงจะมีเบี้ยเลี้ยงสนาม
แต่สำหรับ สมาชิก อส.บางคนที่อยู่ในห้วงการฝึก ซึ่งหมายถึงว่า ตัวเองไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ต้องไปฝึก ต้องออกนอกพื้นที่ เพื่อไปฝึก ก็ไม่สามารถที่จะเบิกเบี้ยเลี้ยงสนามนี้ได้ตามระเบียบ เพราะว่า สมาชิก อส.ไปอยู่กินที่ศูนย์ฝึกอยู่แล้ว และเราถือว่า สมาชิก อส.ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ เราก็ทำเบิกไม่ได้ ที่นี้ สมาชิก อส.บางคนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน
“ถ้าสมาชิก อส.ไปฝึก 10 วัน เราก็ไม่เบิกเบี้ยเลี้ยงสนาม 10 วัน แล้วก็ไม่ได้เบิกเสบียงสนาม 10 วัน เพราะสมาชิก อส.ไปเบิกงบอยู่กินที่ศูนย์ฝึกแล้ว ถ้าเราเบิกมันจะเป็นการเบิกซ้ำซ้อนของงบประมาณ”
เจ้าหน้าที่ปลัดงานความมั่นคงรายเดิม ยังบอกอีกว่า สมาชิก อส.ที่ออกมาโวยอาจไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ เพราะการเข้าทำงานเป็น อส.ไม่ได้มีการเซ็นสัญญาจ้าง เป็นการจ้างพิเศษตามพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน จะมีกฎหมายเฉพาะในการจ้างงานตรงนี้ ซึ่งในนั้นจะมีระเบียบที่เกี่ยวข้องเยอะแยะไปหมด ซึ่ง สมาชิก อส.ต้องเข้าไปอ่าน
“เรื่องแบบนี้เราบอกตอนปฐมนิเทศไปแล้ว สมาชิก อส.อาจจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เพราะบางคนไม่ได้ไปทบทวน ถ้าได้ทบทวนก็จะเข้าใจ และเรื่องแบบนี้ต้องไปอ่านเอกสารระเบียบที่แจกให้” ปลัดงานความมั่นคงของปัตตานี กล่าว
@@ เปิดระเบียบ “เงินเสบียงสนาม” ห้ามจ่ายเป็นเงินสด
“ทีมข่าวอิศรา” ยังตรวจสอบเรื่อง “เงินค่าเสบียงสนาม” จากระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทัพบก ซึ่งมีลักษณะเหมือนเป็นระเบียบกลาง ใช้กับกำลังพลทุกหน่วย
โดย “เงินเสบียงสนาม” หมายถึง เงินงบประมาณที่หน่วยได้รับสำหรับนำไปจัดหาเสบียงสนามให้กับกำลังพลที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยเสบียงสนาม ได้แก่ ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่พลเรือน เจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน และราษฎร ซึ่งเดินทางออกจากที่ตั้งปกติหรือค่ายพักประจำของหน่วย เพื่อปฏิบัติราชการสนามตามแผนคำสั่งยุทธการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจเยี่ยม เจ้าหน้าที่ส่งกำลัง หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ไปราชการ ณ ที่มีการเลี้ยงดูด้วยเสบียงสนาม
โดยผู้ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยเสบียงสนามไม่มีสิทธิที่จะเบิกจ่ายค่าเสบียงสนามเป็นเงินสดไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม โดยถือเป็นเงินประจำหน่วยที่ปฏิบัติการในสนาม ซึ่งมิใช่สิทธิของกำลังพล