แม้นายกฯแพทองธาร จะยังไม่ตัดสินใจ “ลงใต้” เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมด้วยตัวเอง จนเกิดเสียงวิจารณ์ให้แซ่ด แต่ก็ไม่เป็นไร
เพราะในมุมมองของผู้ที่ติดตามสถานการณ์ความไม่มั่นคงที่ชายแดนใต้มาเนิ่นนาน ซึ่งอาจเรียกว่า “ขาประจำ” มองว่า ยังมีอีกหลายปัญหาที่รอนายกฯหญิงแก้ไข นอกเหนือจากการฟื้นฟูหลังอุทกภัยใหญ่
โดยเฉพาะนายกฯหญิงมือใหม่ป้ายแดงทั้งการบริหารประเทศ และใหม่อย่างยิ่งกับปัญหาซับซ้อนอย่างไฟใต้
อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเคยตั้งกลุ่มประชาสังคมทำงานด้านสิทธิและความเป็นธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ ในนาม “คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ” กล่าวว่า นอกจากการแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้แล้ว เรื่องอื่นที่นายกฯแพทองธาร ควรให้ความสำคัญด้วย ได้แก่
1.นโยบายการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้
ภายหลังรัฐสภาเห็นชอบยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 รัฐบาลต้องยึดหลักนโยบายการเมืองนำการทหาร เร่งตั้งสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนา ตามโครงสร้างเดิมที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนในการกำกับนโยบาย
2.ควรพิจารณายกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เปิดโอกาสให้มีการควบคุมประชาชนได้ 30 วันโดยไม่มีความผิด
3.รัฐบาลควรแก้ไขพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และสิทธิมนุษยชน
4.ควรรีบเร่งแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ เช่น การบังคับบุคคลให้สูญหาย (อุ้มหาย) การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม
นายกฯแพทองธารควรไปพบครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้พิการกรณีตากใบ และต้องให้คำมั่นว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดซ้ำอีก
ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง และอดีตที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลในอดีต กล่าวว่า ในทุกรัฐบาล สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อยากจะเห็น คือ
1.รัฐบาลที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในเรื่องการป้องกันการก่อความไม่สงบและการก่อการร้าย โดยเฉพาะขบวนการที่หลบอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและข้ามเข้ามาก่อเหตุ รวมทั้งคนร้ายที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่และในเมือง
2.ปราบปรามขบวนการผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เช่น การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ของเถื่อน น้ำมันเถื่อน และอื่นๆ โดยเฉพาะที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง
3.สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างโอกาสให้คนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชน
4.แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
5.สร้างแนวทางร่วมมือใหม่ๆ กับภาคประชาชนและนานาชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการพัฒนาพื้นที่