ผ่าน 1 เดือน...นับจากคดีตากใบขาดอายุความ
สถานการณ์ชายแดนใต้แม้จะตึงเครียด และก็ไม่ได้ทะลักจุดเดือดอย่างที่บางฝ่ายคาดการณ์
การขยายผลในทางการเมืองลดระดับลงตามห้วงเวลา แต่ไม่ได้หยุดขับเคลื่อน
ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง สะบัดปากกาอีกครั้งในวาระ 1 เดือนหลังคดีตากใบ อาจารย์ประมวลหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วง 30 กว่าวันที่ผ่านมา กับข้อพิสูจน์หนึ่งที่ว่า รัฐไทยยังไม่ต่างอะไรจาก “รัฐอัมพาต” และ “คนหลงทาง”
รัฐอัมพาต หมายถึง ไม่สามารถขยับขับเคลื่อนสิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนและความมั่นคงได้เลย ทั้งในมิติเชิงรุก ตั้งรับ และมิติเชิงป้องกัน
คนหลงทาง หมายถึง ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเดินตามคำแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศ ยกระดับการพูดคุยเจรจากับบีอาร์เอ็น ทั้งๆ ที่ฝ่ายไทยเสี่ยงเสียเปรียบทุกประตู
อาจารย์สุรชาติ ตั้งคำถามว่า ในขณะที่รัฐไทย คือ “รัฐอัมพาต” แต่ บีอาร์เอ็น เหมือนขบวนการที่ได้ยาโด๊ปตลอดเวลา
ปัญหาที่ต้องขบคิดกันก็คือ ใคร? ส่งยาโด๊ปให้บีอาร์เอ็น!!
@@ 1 เดือนหลังคดีตากใบ
การสิ้นสุดของคดีตากใบ เดินทางมาเป็นเวลาครบ 1 เดือน พร้อมกับมีสถานการณ์ต่างๆ ตามมาอย่างน่าสนใจ บทความนี้จะขอทดลองนำเสนอเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1.คาดเดาได้ไม่ยากเลยว่า จะยังคงมีการนำประเด็นคดีตากใบมาใช้เปิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อเนื่อง แม้ตัวคดีความจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม
2.ไม่ว่าคดีตากใบจะยุติลงในแบบใด ก็จะเป็นประเด็นให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่แม้อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าจำเลยไม่มาศาล การเคลื่อนไหวจะเน้นในการเปิดประเด็นว่า รัฐไทยไม่ให้ความยุติธรรม แต่ถ้าจำเลยมาศาล ก็ใช้ตัวคดีในศาลเป็นประเด็นการเคลื่อนไหวในตัวเอง
3.การที่จำเลยไม่ปรากฏตัวในศาล ทำให้เกิดประเด็นเพื่อใช้ในการโฆษณาการเมืองว่า รัฐไทยไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่อำนวยความยุติธรรมในคดี ทั้งที่การรื้อฟื้นคดีเกิดในระยะช่วงปลายทางคดี ซึ่งมักกลายเป็นโอกาสให้จำเลยใช้เงื่อนเวลาที่เหลือน้อยเลือกวิธีหนีคดี มากกว่าสู้คดี
4.น่าสนใจอย่างมากว่า ทำไมการรื้อฟื้นคดีเพิ่งมาเกิดในช่วงปลายสุดที่แทบจะเป็นสุดปลายทางของคดี (ที่มีระยะเวลาเหลือน้อยมาก) และไม่มีความพยายามในการรื้อฟื้นในสมัยก่อนหน้านี้ ทั้งที่ยังมีเวลาเหลืออยู่มาก เช่น ในช่วงรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่มาก ซึ่งจะเป็นแรงบีบให้จำเลยอาจต้องยอมขึ้นศาล เพราะการหนีจะมีระยะเวลาอีกนานกว่าคดีจะสิ้นสุด
5.ในทำนองเดียวกัน มีการหลบหนีคดีของผู้ก่อเหตุที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม BRN เป็นจำนวนมาก แต่ดูจะไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะเท่าที่ควร และไม่ได้รับความสนใจในเวทีสาธารณะด้วย ซึ่งน่าจะมีเสียงเรียกร้องคู่ขนานให้ผู้ก่อเหตุที่หลบหนีเหล่านี้ เข้ามอบตัวและสู้คดี
6.ในการนี้ มีข้อเสนอให้นำคดีตากใบที่หมดอายุความแล้ว ไปฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีที่ลงนามในการเป็นสมาชิกของ ICC และกระบวนการฟ้องคดีก็มีขั้นตอนต่างๆ อยู่มากพอสมควร และแตกต่างจาก “คดีอิสราเอล-ฮามาส” อย่างมากด้วย
7.ความจริงแล้ว รัฐบาลไทยต่างหากที่ควรเป็นผู้ฟ้องคดีกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน BRN ในเวทีระหว่างประเทศ เพราะกลุ่มนี้ได้ปฏิบัติการก่อการร้าย ตลอดรวมถึงการสังหารประชาชน และเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมเป็นจำนวนมาก และหลายคดีเป็นการก่อเหตุอย่างรุนแรงและโหดร้าย
8.การเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมากนี้ ไม่ได้ถูกหยิบยกเป็นประเด็นสาธารณะ หรือกลุ่ม NGOs ที่ทำงานเรื่องนี้ กลับไม่มีท่าที และไม่ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วย จนเป็นดัง “การตายที่ไร้เสียง” เช่น คดีครูจูหลิง คดีการรุมสังหารนาวิกโยธิน 2 นายในหมู่บ้าน จนถึงกรณีนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ที่ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในที่ทำงานตัวเอง
9.ในอีกด้าน มีข้อเสนอจากกลุ่มที่เคลื่อนไหวว่า คดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลยในการทำความผิด ไม่ควรมีอายุความ ซึ่งดูจะเป็นการสร้าง “กฎหมายพิเศษ” ในอีกแบบ ทั้งที่มีการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ การออกกฎหมายที่ไม่มีอายุความจะกลายเป็นกฎหมายพิเศษในตัวเอง เพราะกฎหมายปกติทุกชนิดมีอายุความในตัวเอง
10.ถ้าคดีในลักษณะดังกล่าวไม่มีอายุความแล้ว คดีผู้ก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ควรจะไม่มีอายุความเช่นเดียวกันหรือไม่ เพราะญาติผู้เสียชีวิตที่เกิดจากการก่อเหตุของ BRN ก็รู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากปฏิบัติการทำลายล้างของ BRN เช่นกัน ผู้เสียชีวิตเหล่านี้กลายเป็นเหยื่อจากการก่อการร้ายที่ไม่รับผิดชอบของ BRN
11.ไม่ว่าคดีตากใบจะจบในรูปแบบใด ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้จะไม่ลดลง ดังจะเห็นได้จากการสังหารที่ยังเกิดต่อเนื่อง เช่นล่าสุด ในกรณีของนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความยอมรับจากคนในพื้นที่ที่เป็นทั้งไทยพุทธและมุสลิมว่า เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้สังคม แต่สุดท้าย เขาก็ถูกสังหาร เพียงเพื่อกวาดล้างบทบาทและอิทธิพลของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ที่เป็นไทยพุทธให้หมดไป (ภาพวีดีโอของการสังหารที่เกิดขึ้น บอกชัดเจนว่าเป็นปฏิบัติการสังหารที่มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี)
12.ในการเคลื่อนไหวกรณีตากใบ ยังมีการหยิบยกประเด็นเรื่องของกฎหมายและความยุติธรรมมาเป็นหัวข้อสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมว่า “กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์” ที่รัฐไทยหาทางประนีประนอมและยุติคดี เพื่อจะได้จ่ายเงินเยียวยาให้ได้อย่างรวดเร็วนั้น เป็นความพยายามที่สำคัญ เพราะถ้ายังต่อสู้คดีในศาลด้วยกระบวนดารตามปกติแล้ว คดีตากใบที่มีพยานเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันปากนั้น อาจจะใช้ระยะเวลาในศาลเกินกว่า 10 ปี และผู้เสียหายและญาติๆ ที่เป็นผู้ฟ้องคดี จะไม่ได้รับการเยียวยา
เนื่องจากหากคดีไม่ได้ยุติเด็ดขาด รัฐจึงไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ รัฐบาลจึงเลือกที่จะประนีประนอม เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐในเรื่องนี้ อันจะเอื้อให้ผู้ฟ้องคดีและญาติที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
13.กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ที่เริ่มผลักดันโดยนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และดำเนินการในช่วงถัดมาในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นภาพสะท้อน “นโยบายประนีประนอมของรัฐไทย” ไม่ใช่การดำเนินนโยบายปราบปรามดังเช่นที่ถูกนำมาใช้ในการโฆษณาทางการเมืองของฝ่ายต่อต้าน แม้ในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร ก็ไม่ได้มีนโยบายในลักษณะเช่นนั้น
14.ฝ่ายรัฐไม่ควรอยู่ด้วยความเชื่อว่า คดีตากใบจบลงแล้ว … ไม่ต้องใส่ใจอะไรแล้ว คดีอาจจะจบลงในทางกฎหมาย แต่ในทางการเมืองและการเคลื่อนไหวนั้น คดีตากใบจะถูกใช้เป็นเชื้อไฟของกระบวนการบ่มเพาะความรุนแรงที่ไม่จบ และถูกนำมาใช้สร้างวาทกรรมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนด้วย
15.ฝ่ายรัฐยังต้องถือเสมอว่า ยังคงมีภาระหน้าที่ในการชี้แจงและทำความเข้าใจกับเวทีสากล และเวทีประชาชนทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ถึงความเป็นมา ปัญหาและการแก้ปัญหาในขั้นตอนต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีใน 2 สมัย ได้ออกมากล่าวคำขอโทษ ตลอดรวมถึงความช่วยเหลือต่างๆ เช่น สิ่งที่ได้ดำเนินการโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น และรัฐควรยอมรับในบางส่วนที่เป็นข้อบกพร่องและความผิดพลาด ซึ่งจะต้องนำมาเป็นบทเรียนสำคัญเสมอ
16.ถ้ารัฐไทยใจแคบและไม่รับฟังเหตุผลของผู้เห็นต่าง และการสร้างวาทกรรมของบรรดา NGOs ในภาคใต้แล้ว รายการต่างๆ ที่ปรากฏหน้าทีวีของสถานีโทรทัศน์ในส่วนกลางบางช่องจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ทั้งที่สถานีโทรทัศน์ช่องนั้น ได้รับงบประมาณจากรัฐและไม่ต้องดิ้นรนหาโฆษณาเช่นสถานีทีวีช่องอื่นๆ
17.ความท้าทายที่สำคัญนั้น ไม่ว่าคดีตากใบจะสิ้นสุดลงในแบบใด การกำหนดยุทธศาสตร์ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องใส่ใจ เพราะการไม่มียุทธศาสตร์จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างไม่มีทิศทาง (ดังเช่น มีข่าวว่า ผู้บริหารระดับสูงของ สมช.ไทย “แอบ” เดินทางไปพบกับตัวแทนของ BRN 2 นายในประเทศยุโรป…ขอไม่เอ่ยชื่อประเทศ) ทั้งที่ สมช. ไม่ใช่หัวหน้าคณะผู้เจรจาในปัจจุบันแล้ว เพราะยังไม่มีการแต่งตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ เพราะไม่มีประเทศไหนใช้เจ้าหน้าที่ในระดับสูงเข้ามาทำภารกิจดังกล่าว เว้นแต่ปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายปฏิบัติ
18.มิติการต่อสู้ของ BRN มี “แนวร่วม” ทั้งในและนอกประเทศเป็นจักรกลที่สำคัญ แต่รัฐไทยดูจะไม่สันทัดในการจัดการปัญหาเช่นนี้ โดยเฉพาะปัญหาแนวร่วมจากต่างประเทศที่เข้ามาทำงานเคลื่อนไหวในพื้นที่
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้สะท้อนอะไรมากไปกว่า รัฐบาลในบริบทของการแก้ปัญหาภาคใต้ยังคงเป็นเหมือน “รัฐอัมพาต” ที่ขยับเขยื้อนไม่ได้…
ส่วน BRN เป็นเหมือนคนได้ “ยาโด๊ป” ออกวิ่งแรงดี (จนไปยุโรป) และทั้งมีคนคอยช่วยส่งยาโด๊ปให้ไม่หยุดด้วย!!