ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่ง คสช. 14/2559 ปลดล็อก กอ.รมน.ครอบสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาชายแดนใต้ เปิดทางแต่งตั้งชุดใหม่ภายใน 120 วัน อีกด้านประกาศใช้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสกัดหนุนเงินก่อการร้าย
วันจันทร์ที่ 18 พ.ย.67 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ.2567
โดยเนื้อหาในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559
มาตรา 4 ให้แต่งตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้กระบวนการคัดเลือกผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ดำเนินการใหม่ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้
อนึ่ง การยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2559 เป็นไปตามความมุ่งหมายของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมองว่าคำสั่งดังกล่าว ทำให้สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชนภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่กลับทำให้สภาที่ปรึกษาฯ กลายเป็นกลไกภายใต้การกำกับและควบคุมของ กอ.รมน.หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีกองทัพบกเป็นหน่วยนำ
@@ บังคับใช้กฎหมายใหม่ “สกัดหนุนเงินก่อการร้าย”
นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่พระราชบัญญัติอีกฉบับ คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2559
สาระสำคัญมีการแก้ไขมาตรา 25 โดยปรับแก้เนื้อหาขยายขอบเขตการเอาผิดผู้ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ไม่จำเป็นต้องรู้อยู่แล้วว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนนั้น เป็น “บุคคลที่ถูกกำหนด” ว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย
ส่วนระวางโทษของผู้สนับสนุนทางการเงินยังเท่าเดิม คือ จำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
@@ ย่อส่วน “กองส่งเสริมกิจการฮัจย์”
อีกด้านหนึ่ง จากกรณีที่มีคำสั่งกรมการปกครอง ลงนามโดย ร.ต.ท.ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง ให้ยุบเลิกหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายใน เมื่อวันที่ 18 ต.ค.67
ในคำสั่งระบุว่า ตามที่กรมการปกครองได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 26 ก.ย.62 เรื่องการจัดโครงสร้างส่วนราชการและการแบ่งงานภายในกรมการปกครอง โดยได้กำหนดให้ “กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์” เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายในนั้น
เพื่อให้การบริหารราชการของกรมการปกครองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และมติ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ในการประชุม เมื่อวันที่ 23 ก.ย.67 จึงให้ยุบเลิกกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ ในฐานะหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเป็นการภายใน และให้กำหนดเป็นหน่วยงานภายในระดับส่วน (ต่ำกว่ากอง 1 ระดับ) สังกัดสำนักกิจการความมั่นคงคงภายใน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.67 เป็นต้นไป
@@ ขาดอัตรากำลัง-ลดงบรายจ่ายบุคลากร
จากการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ภายในกรมการปกครอง ได้รับคำอธิบายถึงสาเหตุของการออกคำสั่งดังกล่าวว่า มีเหตุผลความจำเป็นในการการยุบเลิก “กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์” ให้เป็นหน่วยงานภายในระดับ “ส่วน” ของสำนักกิจการความมั่นคงภายใน ซึ่งกรมการปกครองได้รับการถ่ายโอนภารกิจการส่งเสริมกิจการฮัจย์ จากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้กรมการปกครองมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการฮัจย์
แต่การถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว กรมการศาสนาไม่ได้ตัดกรอบอัตรากำลังของกองส่งเสริมกิจการฮัจย์มากำหนดเป็นกรอบอัตรากำลังของกรมการปกครอง
ต่อมากรมการปกครองได้มีคำสั่ง ที่ 1275/2559 ลงวันที่ 13 ธ.ค.59 และที่ 1752/2562 ลงวันที่ 26 ก.ย.62 เรื่อง การจัดโครงสร้างส่วนราชการและการแบ่งงานภายในกรมการปกครอง โดยได้จัดตั้ง “กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์” มีฐานะเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเป็นการภายใน ไม่สังกัดสำนัก/กอง และไม่ใช่ส่วนราชการที่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2559 รวมทั้งไม่มีกรอบอัตรากำลังของหน่วยงาน โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามและส่งเสริมกิจการฮัจย์
แต่ปัจจุบันการปฏิบัติงานของหน่วยงานดังกล่าวยังไม่มีกรอบอัตรากำลังของหน่วยงาน ทางกรมการปกครองจึงได้มีคำสั่งให้ข้าราชการทั้งในสังกัดส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมาช่วยราชการ ณ กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ ส่งผลให้หน่วยงานในส่วนภูมิภาคขาดแคลนอัตรากำลังในการปฏิบัติงานและให้บริการประชาชน
นอกจากนี้ยังทำให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากบุคลากรมีการโยกย้ายอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับรัฐบาล คณะกรรมการกำหนดนโยบายและเป้าหมายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีนโยบายลดขนาดหน่วยงานและกำลังคนภาครัฐ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายงบบุคลากร ทำให้มีข้อจำกัดในการขอจัดตั้งกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ ให้เป็นส่วนราชการระดับสำนัก/กอง
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น และเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามและส่งเสริมกิจการฮัจย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมการปกครองจึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งงานภายในของสำนักกิจการความมั่นคงภายใน โดยกำหนดให้กองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ เป็นหน่วยงานภายในระดับส่วน (ต่ำกว่ากอง 1 ระดับ) ของสำนักกิจการความมั่นคงภายใน โดยใช้ชื่อหน่วยงานว่า “ส่วนส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์” เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวมีโครงสร้างและอัตรากำลังที่ชัดเจนในการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายให้ยกฐานะหน่วยงานดังกล่าวเป็นส่วนราชการระดับสำนัก/กองตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมการปกครองจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เจ้าหน้าที่กรมการปกครองรายเดิม ยังกล่าวอีกว่า แม้คำสั่งจะมีผลในเดือน ธ.ค.นี้ แต่ในระดับปฏิบัติยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมีการประชุม วางแผนงานมิติต่างๆ อยู่
@@ นายกสมาคมแซะห์ เชื่อไม่กระทรวงการฮัจย์
ด้าน นายเอกพงษ์ ยีหล๊ะ นายกสมาคมแซะห์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพิ่งมีการประชุมผู้ประกอบกิจการฮัจย์นัดแรก หลังจากกรมการปกครองมีคำสั่งย่อส่วนกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อวงการฮัจย์
สำหรับการประชุมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ หรือ “แซะห์” จัดขึ้นที่ห้องประชุม อาคารเฉลิมพระเกียรติ สำนักจุฬาราชมนตรี คลอง 9 เป็นการประชุมผู้ประกอบกิจการฮัจย์ทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการปกครอง 104 บริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมนำฮุจญาจ หรือ ผู้แสวงบุญชาวไทย ที่ลงทะเบียน ณ วันที่ 6 พ.ย.2567 มีประมาณ 6,200 คน เป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องสายการบิน เรื่องที่พัก ตลอดจนถึงการอำนวยความสะดวก สุขภาพ ความเป็นอยู่ขณะอยู่ เมืองมักกะฮ์ มาดีนะห์ ตลอดเทศกาลฮัจย์ ปี 2568