“ต้องทำงานเลี้ยงลูกคนเดียว...ดิฉันก็ยอมค่ะ บางวันในครอบครัวของดิฉันอดบ้าง หาเช้ากินค่ำบ้าง ฉันอยากบอกว่า ดิฉันลำบากในทุกๆ เรื่องค่ะ สามีติดยาเสพติด”
นี่คือความจริงจากปากเหยื่อความรุนแรงคนหนึ่งจากนราธิวาส
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่พื้นที่ที่มีปัญหานี้หนักมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง คือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยปัญหาที่พบมาก คือ ผู้หญิงมุสลิมถูกกระทำรุนแรงจากสามี หลายครอบครัวสามีไม่ยอมทำงาน หลายคนติดยาเสพติด ทำให้ผู้หญิงต้องรับบทหนัก ต้องทำหน้าที่เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งพ่อ คือเลี้ยงดูลูก และหารายได้มาจุนเจือครอบครัว
ไม่ต่างจากชีวิตของหญิงสาวคนนี้ แม้จะมีสามีอยู่ แต่ก็ต้องทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “แม่เลี้ยงเดี่ยว” เนื่องจากสามีติดยา ไม่ยอมทำงาน แถมยังทำร้ายเธออีกต่างหาก
เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กับครอบครัวเป็นพันๆ ครอบครัวในพื้นที่ปลายด้ามขวาน...
ที่ผ่านมาเธอไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร จะขอหย่าขาดจากสามีก็ไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขทางศาสนา ซึ่งคดีเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก ต้องได้รับการชี้ขาดจากผู้นำศาสนา คือ โต๊ะอิหม่าม หรือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชาย สุดท้ายฝ่ายหญิงจึงต้องยอมทน
ยังโชคดีที่จังหวัดนราธิวาสมี “ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส” ตั้งอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส โดยมี ซารีนา เจ๊ะเลาะ ทำหน้าที่เป็นประธานชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส
ชมรมนี้ได้รวบรวมภรรยาผู้นำศาสนาในจังหวัด โดยเฉพาะภรรยากรรมการอิสลามทุกระดับในจังหวัด มาตั้งเป็นกลุ่มดูแลช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว
เมื่อเร็วๆนี้ พล.ท.สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.5 กอ.รมน.) นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง ลงพื้นที่ไปเยี่ยมศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีฯแห่งนี้
และหญิงที่ตกเหยื่อความรุนแรง คือกรณีตัวอย่างที่ได้บอกเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายในชีวิตของเธอและลูกๆ ให้คณะสื่อมวลชนและ กอ.รมน.ได้รับฟัง
จากการพูดคุยกัน พบข้อมูลน่าตกใจ คือหลังจากเปิดศูนย์มาตั้งแต่ปี 58 ยังไม่ถึงสิบปี มีผู้หญิงมุสลิมในนราธิวาสมาขอความช่วยเหลือมากกว่า 3,000 คน แต่ศูนย์ฯ ไม่มีงบประมาณ ไม่เคยได้งบอุดหนุนจากรัฐ ต้องของบผ่านการทำโครงการเป็นครั้งๆ ครั้งหนึ่งก็ได้เงินไม่กี่หมื่นบาท ไม่เพียงพอกับการให้ความช่วยเหลือ และไม่มีแม้แต่เงินทำงาน ต้องเรี่ยไรกันเอง
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการคือ...
1.อยากให้มีการตั้ง “กองทุน” เพื่อช่วยเหลือคนที่ลำบากในระยะยาว ทั้งเงินช่วยเหลือฉุกเฉินและฝึกอาชีพ
2.สนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กๆ ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ
ซารีนา เจ๊ะเลาะ ในฐานะประธานชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส เปิดใจให้ฟังถึงปัญหาและแรงกดดันที่ต้องเผชิญจากการทำงานช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ซึ่งกลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่นั่น
“กว่า 20 ปี พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีสตรีที่ประสบปัญหา ต้องช่วยเหลือกว่า 3,000 เคส แต่สตรีที่มีปัญหาเหล่านี้จะไม่กล้าไปปรึกษากับผู้นำชุมชนหรือผู้นำทางศาสนาซึ่งเป็นผู้ชาย ดังนั้นบทบาทการให้คำปรึกษาในด้านนี้ จึงอยู่ที่ภรรยาของคณะกรรมการอิสลาม
ปัจจุบันได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การสร้างเครือข่ายศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีไปยังระดับชุมชนกว่า 22 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส เพื่อช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และลดค่าใช้จ่ายให้สตรีที่ประสบปัญหา เช่น ค่าใช้จ่ายเดินทางเข้ามายังศูนย์หลักฯ, จัดตั้งศูนย์พักพิงให้สตรีที่ถูกทำร้ายได้หลบจากปัญหา”
แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ที่สุด คืองบประมาณในการทำงานและขับเคลื่อนดูแลผู้ได้รับผลกระทบ
ปัจจุบัน ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส ทำงานแบบจิตอาสา ล่าสุดปิ๊งไอเดียทำ “น้ำพริกบูดู” ออกขาย และกำลังคิดทำเครื่องจักสาน เป็นกระทงรูปเรือ ใช้ใส่ขนมเสิร์ฟตามงานประชุม ซึ่งเป็นงานฝีมือ เพื่อนำเงินมาใช้ขับเคลื่อนการทำงานต่อไป
ด้าน พล.ท.สุรเทพ เมื่อได้ฟังข้อมูลแล้ว ก็รับปากว่าจะหาทางช่วยเหลืองานของศูนย์ฯโดยเร็ว
“ขอชื่นชมในความเสียสละเพื่อส่วนรวม ขอบคุณสตรีทุกท่านที่กล้าลุกขึ้นสู้ ร่วมกันสร้างความสวยงามและสร้างสันติสุขในพื้นที่ เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัว และนำมาซึ่งความรุนแรง ฉะนั้น เมื่อครอบครัวมีความรุนแรง ชุมชนก็จะมีความรุนแรง และส่งผลทำให้สังคมและจังหวัดนั้นมีความรุนแรงตามไปด้วย” ผอ.ศปป.5 กอ.รมน.ระบุ
และย้ำว่า รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการยุติความรุนแรง และก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ ในฐานะหน่วยงานความมั่นคงพร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนทุกภารกิจของศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส เพื่อร่วมบูรณาการสร้างพื้นที่ให้สงบ บ้านเมืองน่าอยู่ นำสันติสุขกลับสู่พื้นที่อย่างมั่นคง ยั่งยืนต่อไป