“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบ “มาตรฐานจริยธรรม” ของข้าราชการพลเรือน เพื่อดูว่ามีช่องทางเอาผิดข้าราชการที่ลางานอย่างไม่สุจริต มีเป้าหมายที่แท้จริงเพื่อหลบหนีหมายจับคดีอาญา บ้างหรือไม่
เราพบว่าปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง ชื่อว่า พระราชบัญญัติมาตรฐานจริยธรรม พ.ศ.2562 บังคับใช้ในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในกฎหมายมีการบัญญัติ “มาตรฐานจริยธรรม” ที่เป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ เอาไว้ 7 ประการ ซึ่งทุกหน่วยงานได้นำไปประกาศในเว็บไซต์ของหน่วยงานตนแทบทั้งสิ้น
1.ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
3.กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
4.คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ
5.มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
6.ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
7.ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
กฎหมายกำหนดให้แต่ละหน่วยงานที่มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคล ไปจัดทำประมวลจริยธรรมของตนเอง
สำหรับมาตรฐานจริยธรรมกลาง ให้มี “คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม” หรือ ก.ม.จ. เป็นผู้รับผิดชอบดูแล โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯที่นายกฯมอบหมาย เป็นประธาน
น่าสังเกตว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทลงโทษสำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม แต่กลับมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่จัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานตน เป็นผู้กำหนด
เราสืบค้นต่อไปถึงรายละเอียดมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.
มีการยกตัวอย่างพฤติกรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานจริยธรรม หรือที่น่าจะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
หากดูเชิงลึก มาตรฐานจริยธรรมข้อ 3 “กล้าตัดสินใจ และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม” มีการยกตัวอย่างพฤติกรรม เช่น “ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่ใช้ช่องทางทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น”
น่าสนใจว่าการกระทำของปลัดอำเภอหรือข้าราชการที่หนีหมายจับ ขัดมาตรฐานจริยธรรมข้อนี้หรือไม่ แล้วจะมีการลงโทษอย่างไร หรือแค่ตักเตือนแล้วจบไป
ศรัทธาของประชาชนต่อข้าราชการ อาจพิสูจน์กันด้วยเรื่องนี้นี่เอง
@@ “กูรูราชการ” ชี้ชัด ขรก.ไม่ไปศาล ผิดจริยธรรมแน่
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ข้อมูลจากอดีตข้าราชการระดับสูงที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานบุคคลภาครัฐ และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับที่ปรึกษาในรัฐบาลหลายชุด
อดีตข้าราชการระดับสูงรายนี้ บอกว่า กรณีข้าราชการหนีคดี ไม่ยอมไปขึ้นศาล เข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมแน่นอน เพราะข้าราชการไม่ไปศาล ไม่ได้
การตรวจสอบเรื่องนี้ ต้องย้อนไปดูว่า มีการส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการรายนั้นหรือไม่ อย่างไร
กรณีของปลัดอำเภอท่าอุเทน ต้องตรวจสอบว่าปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือผู้บังคับบัญชาลำดับต้นของปลัดอำเภอ รู้เรื่องนี้หรือไม่ ต้นสังกัดทราบเรื่องหรือไม่ เมื่อใด
และต้องย้อนไปที่กระทรวงยุติธรรมด้วยว่า เมื่อมีการดำเนินคดีกับข้าราชการประจำที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ มีระเบียบในการประสานกับหน่วยงานต้นสังกัดหรือไม่ ถ้ามี ได้ทำหรือไม่ อย่างไร
@@ กางระเบียบโดนคดีอาญาต้องรายงานผู้บังคับบัญชา
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังบอกว่า เมื่อข้าราชการตกเป็นผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา ยังมีระเบียบราชการที่ต้องปฏิบัติตาม คือ “ระเบียบการรายงานตนเมื่อต้องคดีของข้าราชการพลเรือน”
โดยการรายงานตัวเมื่อข้าราชการพลเรือนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี มีการกำหนดระเบียบไว้อย่างชัดเจน อยู่ภายใต้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการพลเรือน
ระเบียบฉบับนี้ กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ข้าราชการต้องปฏิบัติตาม เมื่อเกิดกรณีที่อาจส่งผลต่อสถานะทางหน้าที่ราชการ โดยมีข้อกำหนดครอบคลุมการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทันทีเมื่อมีคดีความ, การตรวจสอบข้อเท็จจริง, การพักงานในกรณีที่ร้ายแรง และการพิจารณาโทษทางวินัยตามผลของคดี
ระเบียบนี้ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. มีรายละเอียดหลักๆ ที่ข้าราชการต้องทราบและปฏิบัติ คือ
1.การแจ้งรายงานตัวเมื่อมีคดี
- ข้าราชการจะต้องรายงานผู้บังคับบัญชาทันทีเมื่อทราบว่าตนเองเป็นผู้ต้องหา หรือถูกกล่าวหาในคดีอาญา รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และตำแหน่งงาน
2.การตรวจสอบข้อเท็จจริง
- ผู้บังคับบัญชาต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้ข้อมูลอย่างถูกต้องและครอบคลุม
3.การพักงานชั่วคราว
- หากกรณีเป็นคดีที่ร้ายแรง ข้าราชการอาจถูกสั่งพักงานชั่วคราวจนกว่าผลการตรวจสอบและการพิจารณาคดีจะสิ้นสุด เพื่อรักษามาตรฐานและภาพลักษณ์ของหน่วยงาน
4. การพิจารณาโทษทางวินัย เมื่อสิ้นสุดกระบวนการทางกฎหมาย
- หากข้าราชการถูกตัดสินว่ามีความผิด จะต้องเข้ากระบวนการพิจารณาโทษทางวินัยที่กำหนดโดยกฎหมายและระเบียบราชการ
5. การรายงานผลการดำเนินคดี
- ข้าราชการมีหน้าที่ต้องรายงานผลการดำเนินคดีให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เช่น การบันทึกข้อมูลและส่งต่อให้ผู้เกี่ยวข้อง
คำถามคือ ปลัดอำเภอท่าอุเทน และข้าราชการรายอื่นที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีตากใบ ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่ว่านี้หรือไม่ และหากไม่ปฏิบัติ จะมีความผิดอย่างไร
----------------------------
ขอบคุณ : อินโฟกราฟิกจากศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สำนักงาน ก.พ.