วาทกรรม กิจกรรม และการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีตากใบ เทไปในทิศทางเดียวกันหมด
นั่นก็คือ โจมตีรัฐบาล, เรียกร้องให้ทำบางอย่างเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ
และรุมประณามถึง “ความอยุติธรรม” ในเหตุการณ์นี้ ตลอดถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วง 20 ปีที่ผ่านมาด้วย
ทุกคำพูด คำอภิปราย ทุกกิจกรรม ทุกวาทกรรม และทุกความเคลื่อนไหว มักจะมีวลีต่อท้ายเอาไว้เสมอว่า ปัญหาชายแดนใต้คือความอ่อนไหว เต็มไปด้วยประเด็นละเอียดอ่อน ฯลฯ
ฉะนั้นจึงยอมไม่ได้เลยที่คดีตากใบจะถูกปล่อยให้ขาดอายุความ ด้วยเหตุที่ไม่มีจำเลยหรือผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อสู้คดีในชั้นศาล ตามที่ศาลประทับรับฟ้อง และอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง
บางเสียงเสนอถึงขั้นให้ตราพระราชกำหนด ต่ออายุความคดีนี้เป็นพิเศษ เพื่อทำความยุติธรรมให้เกิดขึ้นให้ได้
ท่ามกลางสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ก็มีเสียงปืน เสียงระเบิดดังรัวถี่ขึ้นในพื้นที่ ราวกับนัดกันเอาไว้
ผมไม่ได้เชื่อว่ามีการนัดกัน แต่มองว่าเป็นการฉวยจังหวะสร้างความได้เปรียบเหนือฝ่ายรัฐที่กำลังเพลี่ยงพล้ำจากกรณีตากใบมากกว่า
ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ประเด็นตากใบโหมแรงขึ้น มีเพียงเสียงเล็กๆ บางเสียงที่คอยให้ข้อมูลอีกด้านของเหตุการณ์ตากใบ และเตือนให้ระวังถึง “ความอ่อนไหว” ที่พูดๆ กัน เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้นี่แหละ คือความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในอีกมุมหนึ่งด้วยเหมือนกัน
หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ซึ่งสังคมรู้จักกันอยู่แล้วเป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้ทัศนะของอาจารย์ได้รับการยอมรับสูงมาก แต่พออาจารย์เสนอประเด็นตากใบไปขัดใจ ขัดความรู้สึกใครหลายๆ คน ก็ทำเอาอาจารย์โดนทัวร์ลงพอสมควรเหมือนกัน
ผมเองในฐานะนักข่าวคนหนึ่งที่รับผิดชอบข่าวชายแดนใต้มานานพอสมควร ก็เลือกอยู่ข้าง “เสียงเล็กๆ” ด้วยการพยายามให้ข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อลดทอนความอ่อนไหวที่จะกระทบกับสถานการณ์ภาพใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
และผมก็โดนตั้งคำถามพอสมควรเหมือนกัน แม้จะไม่ได้โดนทัวร์ลง เพราะไม่ได้โด่งดังเป็นที่รู้จักเหมือนอาจาย์สุรชาติก็ตาม
ผมจึงอยากใช้พื้นที่ตรงนี้สื่อสารแบบกระชับและตรงประเด็นอีกครั้ง โดยขอออกตัวก่อนล่วงหน้าว่า ไม่ได้มีเจตนาช่วยเหลือ หรือสรุปว่าการหนีคดีของจำเลยและผู้ต้องหา 14 คนในคดีตากใบคือความถูกต้อง และผมไม่ได้คัดค้านที่คดีนี้ถูกนำขึ้นสู่ศาล
เพียงแต่คำว่า “อ่อนไหว” ที่พูดกัน มันมีหลายมิติที่ต้องพิจารณา ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น ผมจะจาระไนให้ฟัง และจะมีข้อเสนอไปยังทุกฝ่ายด้วย ส่วนจะผิดถูกอย่างไร ก็แล้วแต่คุณผู้อ่านจะตัดสิน
ความอ่อนไหวที่ 1 การเรียกร้องให้มีมาตรการพิเศษเกี่ยวกับคดีตากใบ เช่น ออกกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อต่ออายุความ หรือทำให้เป็นคดีซ้อมทรมาน จะได้ไม่มีอายุความ จริงๆ แล้วข้อเรียกร้องที่ไม่เหมาะสม เหตุผลคือ
- ขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เพราะเป็นการเลือกปฏิบัติกับบางคดี และการกระทำในเหตุการณ์ตากใบ เกิดก่อนที่กฎหมายซ้อมทรมานจะบังคับใช้ ฉะนั้นหากจะบังคับย้อนหลัง ก็ต้องสรุปให้ได้ก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นการซ้อมทรมาน ตรงตามนิยามของกฎหมาย
ความอ่อนไหวที่ 2 คดีความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีคดีตากใบคดีเดียว แต่ยังมีคดีที่ประชาชนกลุ่มอื่นถูกกระทำ โดยเฉพาะกลุ่มชาวพุทธในพื้นที่ ซึ่งเป็น “ชนกลุ่มน้อย” หรือแม้แต่พระ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และกองกำลังประจำถิ่น อีกจำนวนมาก
- การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเฉพาะคดีตากใบคดีเดียว เป็นการมองข้ามความรู้สึกของผู้สูญเสียคดีอื่นหรือไม่
- กรุณาอย่าโต้ว่าเป็นเพราะคดีตากใบกำลังขาดอายุความ คดีอื่นยังไม่ขาด หรือคดีอื่นมีคนตายน้อยกว่า หรือคดีอื่นไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ก่อ
เพราะจริงๆ มีคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดอายุความไปแล้ว 140 คดี หลายคดีมีคนตายหลายศพ ผู้ต้องหาบางคนที่หนีหมายจับ หรือหมายจับขาดอายุความไปแล้ว ก่อเหตุฆ่าผู้บริสุทธิ์มากเป็นสิบๆ ศพก็มี เกิดคำถามว่าเราควรต่ออายุความให้ผู้สูญเสียกลุ่มอื่นๆ ด้วยหรือไม่
ตัวเลขคดีที่ผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับและยังไม่ขาดอายุความ มีอีก 1,789 คดี (เฉพาะคดีความมั่นคงชายแดนใต้) ผู้ต้องหา 1,067 ราย ในจำนวนนี้มีบางรายก่อเหตุฆ่าพระ ฆ่าเด็ก ฆ่าผู้หญิงท้องแก่ ฆ่าคนชราที่เปิดร้านขายของชำอยู่ในหมู่บ้าน ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต ฯลฯ ทำไมเราจึงไม่พูดถึง หรือเรียกร้องความยุติธรรมให้พวกเขาเหล่านี้บ้าง
กรุณาอย่าโต้ว่า คดีตากใบจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องกรณีอื่น เพราะอีก 140 คดีที่ขาดอายุความไปก่อนตากใบ ก็ไม่เห็นมีใครออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้สูญเสียเลย
ความอ่อนไหวที่ 3 การใช้ประเด็นตากใบโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐแบบเหมารวม เพราะต้องไม่ลืมว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ก็เสียชีวิตจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเป็นพันๆ ชีวิตเช่นกัน
- ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวหลายท่านอาจจะไม่เคยไปตามวัดวาอารามในพื้นที่ภาคเหนือ หรือภาคอีสาน ลองไปดูแล้วท่านจะพบเจดีย์หรือสถานที่บรรจุอัฐิของเจ้าหน้าที่ที่ไปสละชีวิตที่ชายแดนใต้ มากมายกระจายอยู่ทั่วไป
เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไปปฏิบัติงานภายใต้ภารกิจสร้างสันติสุข ตามความเชื่อ ตามนโยบาย หรือตามคำสั่งที่ได้รับ แต่กลับต้องไปตาย คิดว่าญาติพี่น้องของพวกเขาจะรู้สึกอย่างไร ที่ผ่านมามีใครเคยเรียกร้องความยุติธรรมให้พวกเขาบ้าง
กรุณาอย่าเถียงว่า เจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต ก็ได้รับเงินชดเชย เงินสวัสดิการ และบำเหน็จบำนาญดูแลครอบครัวมากพอแล้ว เพราะหากพูดอย่างนั้น ก็ต้องบอกว่าคดีตากใบก็ได้แล้วเหมือนกัน มาตรฐานความยุติธรรมจึงไม่ควรต่างกัน
และเจ้าหน้าที่ีรัฐบางรายที่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการ เช่น อาสาสมัครทหารพราน จึงไม่ได้รับเงินชดเชยมากเท่าที่บางฝ่ายเข้าใจ
ที่สำคัญครอบครัวของเจ้าหน้าที่เหล่านี้กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ ความรู้สึกลบต่อพื้นที่ชายแดนใต้จึงต้องเกิดขึ้นแน่นอน ฉะนั้นยิ่งสร้างวาทกรรมให้บางเหตุการณ์สำคัญกว่าอีกหลายๆ เหตุการณ์ ย่อมก่อ “สงครามความรู้สึก” โดยไม่รู้ตัว
และ “สงครามความรู้สึก” ที่ว่านี้เองที่ทำให้ไฟใต้ดับยากขึ้นทุกที แม้จะมีเวทีพูดคุยสันติภาพ สันติสุขมานานกว่า 1 ทศวรรษแล้วก็ตาม
ความอ่อนไหวที่ 4 ว่าด้วยความอยุติธรรม จริงๆ แล้วคดีตากใบมีหลายคดี และมีการแก้ปัญหาหลายมิติ ทั้งการถอนฟ้องแกนนำผู้ชุมนุมทั้ง 58 ราย, ไกล่เกลี่ยคดีแพ่ง จ่ายค่าเสียหาย รวมถึงจ่ายเยียวยากรณีพิเศษด้วยยอดเงินสูงเป็นประวัติการณ์ 7.5 ล้านบาท และยังมีการเยียวยาจิตใจ ไปทำฮัจย์ ไปทำอุมเราะห์ ที่ซาอุดิอาระเบีย
- ผมไม่ได้สรุปว่ารับเงินเยียวยาแล้วตองจบ แต่อยากบอกถึงคนที่วิจารณ์ว่า ความอยุติธรรมที่โจมตีกัน มันร้ายแรงขนาดนั้นจริงหรือ รัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐทุกหน่วย ละเลยกับประชาชนมากขนาดนั้นจริงหรือเปล่า
- แน่นอนว่าคดีที่เพิ่งขาดอายุความไป เป็นความอยุติธรรมแน่นอน แต่ความอยุติธรรมนี้ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการแก้ไขปัญหาตากใบตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ความอ่อนไหวที่ 5 การตัดสินเหตุการณ์ตากใบด้วยข้อเท็จจริงปัจจุบัน โดยไม่สนใจถึงสถานการณ์และสภาพพื้นที่ในอดีต
- ชายแดนใต้เมื่อปี 2547 ไม่ได้เป็นแบบนี้ ทุกย่างก้าวของเจ้าหน้าที่...พลาดคือตาย คนไทยพุทธก่อนออกจากบ้าน ถึงขั้นต้องร่ำลากันในครอบครัว เพราะไม่รู้ตอนเย็นจะได้กลับมาเจอหน้ากันหรือไม่ ตำรวจ ทหารก็เช่นกัน หญิงหม้ายเกิดขึ้นมากมาย เพราะหัวหน้าครอบครัวออกจากบ้านไปแล้วไม่กลับมา ถึงขั้นต้องตั้งหมู่บ้านสำหรับพวกเธอที่นราธิวาส ฯลฯ
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง มีข่าว มีข้อเขียน มีบันทึกที่ระบุถึงบรรยากาศและภาพชีวิตในขณะนั้นมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่มเพาะความไม่ไว้วางใจ และมีส่วนทำให้สถานการณ์ตากใบ รวมถึงไฟใต้ในภาพรวมลุกลาม
จากความอ่อนไหว 5 ข้อหลักๆ ผมมีข้อเสนอถึงฝ่ายต่างๆ ดังนี้
1.รัฐบาล - ยังทำอะไรได้มากกว่านายกฯออกมาขอโทษ (จริงๆ ก่อนจะมีนายกฯในอดีตออกมาขอโทษ ก็เคยมีกระแสเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลขอโทษอย่างเป็นทางการ แต่พอวันนี้นายกฯขอโทษแล้ว และน่าจะเป็นนายกฯคนที่ 2 หรือ 3 ที่ขอโทษ ฝ่ายที่เรียกร้องก็เปลี่ยนวาทกรรมใหม่ บอกว่าได้ยินคำขอโทษมาหลายครั้งแล้ว ต้องการให้แก้ปัญหาแบบอื่นมากกว่า)
- สิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็เช่น คาดโทษข้าราชการที่หนีคดี หาช่องทางไม่ให้กลับมารับราชการได้อีก คือต้องถือว่าผิดวินัยร้ายแรง แล้วให้ออกจากราชการไปเลย โดยรัฐบาลหรือกระทรวงต้นสังกัด โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงมหาดไทย ต้องประกาศเป็นนโยบายออกมาให้ชัดเจน อย่าเงียบ
กรุณาอย่างเถียงว่า ไม่มีระเบียบกฎหมายให้อำนาจมากขนาดนั้น เพราะรัฐบาลควรไปขอคำชี้แนะจาก “กูรูกฎหมายของประเทศ” อย่าง อาจารย์วิษณุ เครืองาม ให้หาช่องทางทำให้ได้ กำจัดคนเหล่านี้ไม่ให้มีที่ยืนในระบบราชการอีกต่อไป (ล่าสุดมีกลับมาปฏิบัติงานปกติคนหนึ่งแล้ว ต้องรอดูว่าต้นสังกัดจะดำเนินการอย่างไร)
- อีกกลุ่มหนึ่งคือข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้ว นั่นก็คือจำเลย 7 คนในคดีตากใบสำนวนแรก นำโดยอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 รัฐบาลจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ ซึ่งถือเป็นการลงโทษ ไม่ให้กินเงินหลวงอีกต่อไป เพราะทำให้หลวงเสื่อมเสีย และสร้างปัญหาความมั่นคงตามมา ร้ายแรงถึงขั้นสุ่มเสี่ยงเสียดินแดนในอนาคต
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ - ต้องตั้งกรรมการสอบกระบวนการสอบสวนคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดีวิสามัญฆาตกรรม ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้คดียืดเยื้อยาวนานมาถึง 19 ปีกว่า จึงส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด หนำซ้ำอัยการสูงสุดยังมีความเห็นเด็ดขาดให้สั่งฟ้องด้วย
หากพบว่าใครผิด ละเลย ประมาท เลินเล่อ หรือปล่อยให้สำนวนคดีหาย จนสุดท้ายคดียืดเยื้อ ต้องได้รับการลงโทษ
3.กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย - ต้องหาทางเอาผิดข้าราชการที่หลบหนีคดีอย่างจริงจัง อย่าให้สมกับคำปรามาส หรือข้อสันนิษฐานที่ว่ามีขบวนการ “สะกิดให้หนี” รอจนกว่าคดีขาดอายุความ ก็เนียนๆ กลับมารับราชการต่อ
สถานการณ์นี้ต้องไม่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด และต้องทำให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพื่อไม่ให้เกิดการเลียนแบบอีก
และต้องสอบสวนให้ได้ความว่า มีขบวนการ “สะกิดให้หนี” จริงหรือไม่ ถ้ามี คนที่เกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษ
4.ทุกฝ่ายที่ให้ความสนใจปัญหาภาคใต้ - ปัญหานี้เกิดมานาน จริงๆ นานกว่า 20 ปีที่เป็นไฟใต้ระลอกใหม่นับจากเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ด้วยซ้ำ เพราะมีความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ และความรุนแรงต่อเนื่องมาก่อนหน้านั้นนานมาก
ปัญหาจึงมีหลายมิติ โดยเฉพาะในห้วง 20 ปีมานี้ เป็นสถานการณ์ “สงครามความไม่สงบ” เพื่อยั่วยุ สร้างความเกลียดชัง แบ่งแยก แบ่งฝ่าย เป็นเป้าหมายของผู้ก่อการอยู่แล้ว
ฉะนั้นการจะวิจารณ์ แสดงจุดยืน หรือประณามอะไรใคร กลุ่มไหน ควรคำนึงถึงมิติความหลากหลายของเหตุการณ์ และความหลากหลายของผู้ได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากผู้ถูกกระทำไม่ได้มีกลุ่มเดียว
สถานการณ์ไฟใต้ ณ เวลานี้ หากมองในเชิงยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายรัฐ และนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน หรืออย่างน้อยก็ตั้ง “เขตปกครองพิเศษ” ให้ได้นั้น ถือว่าฝ่ายผู้ก่อการมีความก้าวหน้าไปไกลมาก แต่ฝ่ายรัฐไทย โดยเฉพาะภาคราชการดูจะยังละเลย ไม่ตระหนักถึงความน่ากลัวและความแหลมคมของเหตุการณ์มากพอ
ยิ่งได้รัฐบาลที่อ่อนด้อยในมิติความมั่นคงอย่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทยด้วยแล้ว ทำให้ปัญหายิ่งหนักหน่วง
ขณะที่ฝ่ายการเมือง และสื่อบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นสื่อบุคคล สื่อทางเลือก หรือสื่อกระแสหลักบางแขนง บางราย หากยังเคลื่อนไหวเพื่อหวังเรตติ้ง ชิงคะแนนเสียง นอกจากจะไม่ช่วยให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นจริงแล้ว ยิ่งทำให้ภาคใต้ห่างไกลจากสันติสุขมากขึ้นกว่าเดิม
------------------------
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ เขียนขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ต.ค.67 เพื่อตีพิมพ์ในคอลัมน์โหมโรง ปกหลังหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ต.ค.67