ท่ามกลางกระแสตากใบที่ถูกโหมกระพือกันอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนหลายฝ่ายกังวลว่า จะทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่รุนแรงขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่คดีตากใบกำลังจะขาดอายุความ
วันที่ 21 ต.ค.67 พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีตากใบเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้รับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็นนายทหารระดับคุมกำลังในกองทัพคนแรกที่ออกมาพูดเรื่องนี้
พล.ท.ไพศาล กล่าวว่า อยากเรียนให้ทราบว่า เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้นมานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแค่วันที่ 25 ต.ค.2547 แต่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 19 ต.ค.2547 แต่สุดท้ายแล้วคนเหล่านั้นก็ถูกดำเนินคดีแจ้งความเท็จและยักยอกอาวุธปืน แล้วก็นำไปสู่การชุมนุม 25 ต.ค.ที่เป็นการจัดตั้ง มีการเตรียมการมา แล้วก็มีการจัดการความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่ก็ยอมรับว่า ผิดพลาดที่ทำให้เกิดความสูญเสีย
“แล้วการดำเนินคดีต่างๆ เราแยกออกเป็น 3 ห้วง คือปี 2549 มี 3 คดี คดีแรก เป็นคดีเสียชีวิตในระหว่างการชุมนุม พนักงานอัยการสั่งงดการสอบสวน เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ
คดีที่สอง คือคดีแกนนำผู้ชุมนุม 59 รายอัยการสั่งไม่ฟ้อง เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขทางความขัดแย้ง
คดีที่สาม คือคดีทางแพ่ง ญาติผู้เสียหายฟ้องและผู้พิการทุพลภาพฟ้อง ก็ได้รับค่าเสียหาย”
พล.ท.ไพศาล กล่าวต่อไปว่า ห้วงที่ 2 ปี 2562 เป็นคดีของการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม ซึ่งศาลมีคำสั่งว่าระบุว่า การตายเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ไม่มีผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ตามหน้าที่ ศาลสั่งไม่ฟ้อง
ต่อมา ปี 2566 มีการฟ้องอีก 2 ครั้ง ซึ่งมีข้อสังเกตว่า คดีเพิ่งหยุดไป 14 ปี แล้ววันนี้ก็มีคดีญาติผู้เสียหายฟ้อง เคสนี้อัยการสั่งฟ้องไป 8 ราย อีกคดีหนึ่งศาลรับฟ้อง 7 ราย ซึ่งทั้ง 2 คดีนี้ 15 หมาย ผู้ต้องหา 14 คน
“คดีนี้เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลก็ไม่นิ่งเฉย มีการเร่งรัด เมื่ออัยการสั่งฟ้องก็เร่งออกหมายจับทั้ง 15 หมาย 14 คน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจค้นบ้านทั้ง 15 รายตามที่อยู่อาศัย ตามภูมิลำเนา แล้วนำเข้าระบบของตำรวจสากลด้วย แสดงว่าทางรัฐไม่ได้นิ่งเฉยในการติดตามคดี”
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวยืนยันด้วยว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นทุกอย่างเป็นขบวนการหมดตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืน 4 ม.ค.2547 ตามด้วยเหตุการณ์ 28 เม.ย.2547 (เหตุการณ์กรือเซะ) ที่อุสตาซ ผู้นำศาสนาหลอกเยาวชนไปโจมตีฐานเจ้าหน้าที่ต่างๆ จนมีผู้เสียชีวิต 100 กว่าราย เหตุเกิดที่สงขลา ปัตตานี ยะลา ซึ่งไม่เกิดที่นราธิวาส
“แต่ขบวนการก็มาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ที่ตากใบขึ้นมา ตามที่บอกไปว่ามีการจัดตั้ง มีขบวนการขึ้นมา เราก็ผิดพลาดในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งฝ่ายขบวนการเองก็ได้มากกว่าที่คิด ซึ่งรัฐบาลเองก็ห่วงใยเหมือนกันว่าเหตุการณ์ปัจจุบันได้มีกลุ่มมวลชนพยายามออกมาเคลื่อนไหว กรณีตากใบ ถ้ามองข้อเท็จจริงแล้ว คดีต่างๆ รัฐก็ไม่ได้เพิกเฉย ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว”
แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวอีกด้วยว่า ในการดูแลพื้นที่ได้เน้นย้ำหน่วยว่า ฝ่ายตรงข้ามอาจมีการสร้างสถานการณ์ แต่รัฐก็มีการควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุอยู่แล้ว แต่ก็จะมีการยกระดับมากขึ้น ผู้นำในพื้นที่ก็ต้องร่วมมือกันแล้ว อย่าตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีในการสร้างสถานการณ์ให้รุนแรงมากขึ้น
“ผมคิดว่าประเทศไทยเราบอบช้ำมา 20 ปีแล้วเราน่าจะมองไปข้างหน้ามากกว่า ไม่ควรย้อนไปในอดีต”
@@ เอ็นจีโอมองต่างมุม เยียวยาแลกยุติคดี เป็นข้ออ้างไม่ชอบ
วันเดียวกัน มูลนิธิศักยภาพชุมชน ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการพิจารณาคดีตากใบ ซึ่งมีเนื้อหาใจความสำคัญกล่าวถึงการที่ทางภาครัฐอ้างว่ามีการจ่ายค่าชดเชย เยียวยาให้กับญาติแล้ว เป็นอันยุติคดี
การอ้างแบบนี้เป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบ นั่นเป็นค่าชดเชยตามคดีแพ่ง ตามนโยบายของรัฐเพื่อลดความตึงเครียด ไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม ส่วนการพิจารณาสาเหตุการตายเป็นคดีทางอาญา การพิจารณาว่าขาดอากาศหายใจยังไม่ประจักษ์ว่า ใครเป็นผู้ทำให้ขาดอากาศหายใจ ซึ่งการฟ้องต่อศาลเป็นความพยายามของประชาชนที่ต้องการความเป็นธรรมจากกระบวนการพิจารณาคดีของศาล เพื่อให้เห็นประจักษ์แจ้งในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์กรณีตากใบที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ที่เสียชีวิต ผู้พิการ และผู้ที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่ และเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในกระบวนการพิจารณาคดีความต่อไป
ส่วนบรรยากาศในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางองค์กรภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมชายแดนใต้ ได้จัดกิจกรรม Challenge ร้อยความรู้สึก : การเดินทางของความรู้สึกจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน การแบ่งปันความรู้สึก ความคิดกับความสูญเสีย “โศกนาฏกรรมตากใบ” โดยกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ได้ใช้ผ้าเป็นสื่อในการถ่ายทอดและแสดงความคิดเห็น ในหัวข้อ “ตากใบตลอดระยะเวลา 20 ปี และทิศทางของคดีกับเวลาที่เหลือ“ ซึ่งได้มีการรวมตัวกันจุดต่างๆในพื้นที่ พร้อมป้ายข้อความที่แสดงถึงความรู้สึกกรณีตากใบ และเดินสายไปตามจุดสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อแสดงจุดยืนเชิงสัญลักษณ์