ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง เขียนบทความถึงเหตุการณ์ตากใบ และคดีตากใบอีกครั้ง
ครั้งนี้เป็นการวิพากษ์บทบาทของกลไกรัฐทุกกลไก รวมถึงรัฐบาลแพทองธาร และพรรคเพื่อไทย ภายใต้บทสรุปสั้นๆ แต่ตรงไปตรงมาว่า... “รัฐอัมพาต!”
-------------------
ในท่ามกลางการขับเคลื่อน “กระแสตากใบ” ที่ทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลไทย และพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลอย่างมากนั้นกลับไม่มีถ้อยแถลง คำชี้แจงใดๆ ออกมาจากฝ่ายรัฐบาลไทยเลย จนต้องถือว่า กระแสตากใบสะท้อนให้เห็นถึงภาวะ “ถดถอย” ทางการเมืองของฝ่ายรัฐในการจัดการปัญหาการก่อการร้าย-การก่อความไม่สงบในภาคใต้อย่างเห็นได้ชัด
ขณะเดียวกัน ก็เห็นภาพของการ “ปลุกกระแส” อย่างหนัก โดยเฉพาะความพยายามในการสร้างวาทกรรม “ความโหดร้ายของรัฐไทย” ซึ่งดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในกรุงเทพฯ
อีกทั้งยิ่งใกล้วันที่คดีตากใบจะสิ้นสุดอายุความ การโหมปลุกกระแสทั้งในเวทีการเมือง และเวทีประชาสังคม ก็ดูจะรุนแรงมากขึ้น
ผลจากการปลุกกระแสชุดนี้ แทนที่เราจะเห็นถึง “ความเข้มแข็ง” ในการให้ข้อมูลของกลไกรัฐในส่วนต่างๆ เรากลับเห็นถึงสภาวะที่เป็น “อัมพาต” ของรัฐอย่างน่าตกใจ ดังนี้
1) รัฐบาล : น่าสนใจอย่างมากว่า เราไม่เห็นถึงความพยายามเท่าที่ควรในความเป็นรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการชี้แจงให้ประชาชนในสังคมได้ทราบถึงปัญหาตากใบที่เกิดขึ้นในปี 2547
รัฐบาลอาจจะไม่รู้สึกว่า ปัญหานี้กระทบสถานะของรัฐบาลมาก แต่ผลกระทบกับสถานะของรัฐมีค่อนข้างมาก จนหลายฝ่ายมีความรู้สึกว่า รัฐบาล “ละเลย” ต่อผลกระทบด้านความมั่นคงที่กระทบต่อสถานะของรัฐไทยในพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งที่รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ได้นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นจำนวน 4 ศาล มีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงในสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีการเอ่ยปากขอโทษและยุติคดีแกนนำในสมัยนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และการจ่ายเงินเยียวยาเพื่อแสดงความรับผิดชอบในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ข้อมูลในเบื้องต้นเช่นนี้ ประกอบกับการดำเนินการในรายละเอียดในส่วนอื่นๆ ที่รัฐบาลในชุดต่างๆ ได้ผลักดันออกมาเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้นั้น เป็นสิ่งรัฐบาลที่ควรแถลงให้สังคมไทยในภาคส่วนต่างๆ ได้รับทราบ
การไม่มีถ้อยแถลงใดๆ จากรัฐบาล จะยิ่งทำให้รัฐตกเป็น “จำเลยการเมือง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจต้องทำความเข้าใจและรับรู้ในปัญหาความมั่นคงภาคใต้ให้มากขึ้น เพราะปัญหาความมั่นคงเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ตัวนายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
2) กองงานโฆษกของรัฐบาล : อาการ “นิ่งเงียบ” ของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นด้านที่รัฐบาลอาจจะละเลย และไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ทีมงานโฆษกที่ทำเนียบรัฐบาลอาจต้องมีความ “ตระหนักรู้” ถึงปัญหาการเคลื่อนไหวที่ขยายวงออกไปผ่านแนวร่วมกลุ่มต่างๆ อย่างมากนั้น ทีมงานโฆษกควรที่จะมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลในสิ่งที่รัฐบาลในสมัยต่างๆ ได้ดำเนินการมาแล้วออกสู่สาธารณชน ตลอดรวมถึงการชี้แจงในกรณีของผู้ต้องหาที่หลบหนี ซึ่งทำให้รัฐบาลถูกมองว่าละเลยต่อปัญหานี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนีก่อนที่จะมีการออกหมายจับแล้ว
3) พรรคเพื่อไทย : พรรคเพื่อไทยดูจะอยู่ในอาการที่ “ไม่กล้าขยับ” ด้วยปัญหาความกลัวว่า การมี สส.บัญชีรายชื่อของพรรค ที่เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จะทำให้พรรคถูกข้อหาเรื่อง “ปัญหาจริยธรรม” ที่เคยทำให้นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถูกถอดถอนมาแล้ว ทั้งที่ สส. ท่านนี้ เข้ามารับตำแหน่งก่อนศาลจังหวัดนราธิวาส และสำนักงานอัยการสูงสุดจะฟื้นคดีในปีสุดท้าย
และพรรคยังแสดงท่าทีในแบบ “ปัดให้พ้นตัว” เพียงต้องการการลาออก เพื่อหวังว่าบุคคลจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคทั้งที่พรรคสามารถชี้แจงข้อมูลในส่วนต่างๆ ได้ แต่พรรคกลับเลือกแสดงอาการ “ปัดปัญหา” เพราะกลัวจะกระทบกับสถานะของตัวนายกฯที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง
อาการ “จริยธรรมผวา” จึงทำให้พรรคไม่กล้าขยับตัวในปัญหานี้ บางทีอดสงสัยไม่ได้ว่า พรรคเคยเรียกประชุม สส. เพื่อชี้แจงในปัญหาเช่นนี้หรือไม่ เพราะเป็นประเด็นที่มีผลต่อพรรค
4) สภาความมั่นคงแห่งชาติ : สังคมไทยคงคาดหวังอะไรกับ สมช.ไม่ได้มากนัก แม้องค์กรนี้จะมีความรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องของปัญหาความมั่นคงภาคใต้ เพราะที่ผ่านมา ผู้บริหาร สมช. บางส่วนมีท่าทีโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มก่อความไม่สงบ หรืออาจเป็นเพราะบทบาทของเอ็นจีโอทั้งภายนอกและภายในประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดใน สมช.มาก จนทำให้เจ้าหน้าที่และผู้บริหารบางส่วนของ สมช. ดูมีความเป็นเอ็นจีโอมากกว่าเป็นนักความมั่นคง
และขาดความตระหนักรู้ว่า สมช. เป็น “ฝ่ายอำนวยการในระดับสูงสุด” ของรัฐบาล แต่ในความเป็นจริง องค์กรกลับไม่เคยทำหน้าที่เช่นนั้น
5) กระทรวงกลาโหม : กระทรวงกลาโหมอาจจะไม่มีบทบาทโดยตรงในงานภาคใต้ แต่ในฐานะที่เป็น “ศูนย์กลางกองทัพ” ผู้นำและหน่วยงานในกระทรวงควรต้องตระหนักถึงปัญหานี้ให้มาก พร้อมกับควรมีการผลักดันทิศทางการใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ของกองทัพในการชี้แจงข้อมูล และการดำเนินการของรัฐบาลในอดีตให้สังคมได้รับรู้
และยิ่งเมื่อรองนายกฯ ความมั่นคง และรัฐมนตรีกลาโหมเป็นบุคคลคนเดียวกันแล้ว การสั่งการถึงส่วนต่างๆ ของกองทัพ และการสร้างความเข้าใจกับกำลังพลทหารในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก มิเช่นนั้นแล้ว กำลังพลจะรับรู้ข้อมูลตามที่เป็นกระแสในสื่อออนไลน์
6) กระทรวงยุติธรรม : เราไม่ได้ยินคำอธิบายจากกระทรวงยุติธรรมเลย นอกจากเห็นการฟื้นคดีตากใบของสำนักงานอัยการสูงสุดในปีสุดท้าย ทั้งที่ในความเป็นจริง คดีตากใบใน 4 ส่วนได้เข้าสู่กระบวนการทางศาล และมีคำตัดสินแล้วในแต่ละคดี
แต่เรื่องราวของคดีเหล่านี้ไม่ได้รับคำชี้แจงจากกระทรวงยุติธรรมเลยแม้แต่น้อย จนดูเหมือนการปราศจากคำชี้แจงจากกระทรวงนี้ คือ การช่วยทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า รัฐไทยไม่ช่วยอำนวยความยุติธรรมในคดี
อีกทั้งข้อมูลในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปรากฏชัดเจนในสำนวนการไต่สวนของศาล จึงน่าเสียดายว่า กระทรวงนี้ไม่ได้มีส่วนช่วยในการนำเอาข้อมูลเหล่านี้ออกมาชี้แจงให้สังคมได้รับทราบถึงการดำเนินการของรัฐในทางคดีทั้ง 4 แต่อย่างใด จนกลายเป็นข้อครหาเรื่อง “การละเลยความยุติธรรม”
7) กระทรวงการต่างประเทศ : กระทรวงต่างประเทศอาจจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่รัฐบาลควรต้องสั่งการให้กระทรวงต่างประเทศทำคำชี้แจงให้กับเวทีสากลและองค์กรมุสลิมระหว่างประเทศ เพราะเหตุเกิดนานถึง 20 ปีแล้ว จึงอาจทำให้เวทีสากลและองค์กรต่างๆ ไม่รับทราบถึงการดำเนินการของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการไต่สวนความจริง การขอโทษของนายกฯ การนำคดีเข้าสู่ศาล การจ่ายเงินเยียวยา รวมถึงข้อมูลการก่อเหตุร้าย และการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
สิ่งเหล่านี้จะช่วยยืนยันถึงความพยายามของรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ต้องการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามประชาชน
8) กองทัพบก : กองทัพบกไม่อาจปฏิเสธความรับรู้ที่ควรจะต้องมีในกรณีตากใบได้เลย เพราะเป็นเรื่องที่กำลังพลของ ทบ. ตั้งแต่ผู้บังคับบัญชาในระดับแม่ทัพภาค และ ผบ.พล. ลงไปจนถึงทหารระดับล่างที่เป็นพลขับรถบรรทุก ได้ถูกสำนักงานอัยการสูงสุดกล่าวหาและออกหมายจับ
ทบ. จะมองว่าเป็น “การกล่าวหาในคดีส่วนตัว” ไม่ได้ เพราะปัญหานี้มีผลกระทบกับ ทบ.โดยตรง เป็นแต่เพียงในครั้งนี้ การเคลื่อนไหวมุ่งกระทำต่อรัฐไทยและรัฐบาลเป็นเป้าหมายหลัก และไม่กล่าวโจมตีกองทัพบก จนเสมือนกองทัพ “ลอยตัว” จากปัญหานี้ได้ จึงไม่เห็นถึงคำชี้แจงใดๆ
แต่หากมองในแง่ดี ผู้นำตลอดรวมถึงฝ่ายอำนวยการใน ทบ. ห่างจากเหตุการณ์นี้ด้วยอายุ และความรับรู้ จนมองไม่เห็นปัญหาและผลกระทบด้านความมั่นคงที่เกิดกับรัฐ และคิดว่า “ไม่เป็นไร” เพราะการเคลื่อนไหวไม่ได้พาดพิงถึงกองทัพบกโดยตรงแต่อย่างใด
9) กองทัพภาคที่ 4 : กองทัพภาคที่ 4 ต้องถือเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงของกรณีตากใบ แต่เป็นองค์กรที่ไม่มีปฏิกิริยา หรือแสดงท่าทีใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จนอาจต้องกล่าวว่า ทภ. 4 เหมือน “คนนอนหลับสบาย” ในความร้อนแรงของสถานการณ์ตากใบ
แต่ผลที่ตามมาก็ทำให้เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ รู้สึกถูกผู้บังคับบัญชาทอดทิ้ง และมีความรู้สึกผู้บังคับบัญชาเอาตัวรอด ไม่กล้าที่จะออกมาอธิบายถึงปัญหาที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบในวันนั้น จึงทำให้โอกาสที่ผู้บังคับบัญชา จะแสดงบทบาทของการเป็น “ผู้นำที่รับผิดชอบ” ลอยหายไปกับสถานการณ์อย่างน่าเสียดาย มีแต่ความนิ่งเงียบจาก บก. กองทัพภาค
10) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในฯ : กอ.รมน. เป็นอีกส่วนที่เงียบหายไป กอ.รมน. อาจจะดูมีพลังในเรื่องของงานในด้านต่างๆ แต่เมื่อเผชิญกับการโหมกระแสตากใบแล้ว ความคาดหวังที่จะเห็นการชี้แจงข้อมูลและข่าวสารต่างผ่านเครือข่ายที่มีอยู่กลับไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด จนอาจต้องกล่าวจากกรณีตากใบในปัจจุบันว่า ความสามารถในการประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลของ กอ.รมน. ดูจะหมดสภาพไปอย่างสิ้นเชิง เห็นแต่งาน “IO” จากทางอีกฝ่ายหนึ่ง
ในอีกมุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กอ.รมน. ทัพภาค 4 ส่วนหน้า ดูจะสิ้นสภาพไปงานประชาสัมพันธ์และชี้แจงประชาชนไปแล้ว แม้ที่ผ่านมา จะได้รับงบประมาณจำนวนมากก็ตาม
ความชะงักงันที่เกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ ดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า รัฐไทยกลายเป็น “อัมพาต” จากกรณีตากใบ จนหลายฝ่ายกังวลอย่างมากถึง “การถดถอยทางการเมือง” ของรัฐในกรณีนี้ !