อ่านทางคดีตากใบ หากแยกประเด็นความยุติธรรมออกไป ต้องบอกว่าทั้งในมิติส่วนตัวของจำเลยและผู้ต้องหา, มิติความมั่นคง และมิติทางการเมือง ล้วนบังคับวิถีให้จุดจบของคดีนี้ คือ “ขาดอายุความ” เท่านั้น ไม่มีคำตอบอื่น
ในความเข้าใจของฝ่ายรัฐ ไม่ว่าหน่วยงานใด เข้าใจว่าคดีตากใบ “ถึงที่สุดไปแล้ว” เพราะมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้วถึง 641 ล้านบาท เหลือเพียงช่องทางเดียวที่จะฟื้นคดีขึ้นมาได้ คือ ประชาชนผู้เสียหาย หรือทายาท ยื่นฟ้องคดีเองต่อศาล
แม้ผู้เสียหายหรือทายาทจะรับเงินเยียวยาไปแล้ว แต่โดยกฎหมายไทย จะไม่ตัดสิทธิ์การฟ้องร้องคดีด้วยตัวเอง
แต่ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ไม่มีญาติหรือครอบครัวผู้สูญเสีย หรือผู้ได้รับบาดเจ็บรายใดแสดงเจตจำนงยื่นฟ้องคดี แม้จะมีความพยายามไปเสนอแนะ และเสนอให้ความช่วยเหลือจากองค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรก็ตาม
ฉะนั้นการยื่นฟ้องคดีเองในปีสุดท้ายของฝ่ายครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงอยู่พอสมควร
แต่เมื่อมีการยื่นฟ้อง และมีการดำเนินการคู่ขนานเพื่อกดดันผ่านทางคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งคณะกรรมาธิการสามัญ และวิสามัญที่ตั้งขึ้นเป็นกรณีพิเศษ จึงเชื่อว่ามีการตระเตรียมทางหนีทีไล่สำหรับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้เอาไว้พอสมควร
เพราะปลายทางของคดีตากใบ ต้องขาดอายุความเท่านั้น โดยมีเหตุผลดังนี้
1.จำเลย 7 คนในสำนวนแรกที่ศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟัอง จากคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องเอง มีอายุเฉลี่ย 74-75 ปี จึงมีความลำบากหากจะต้องเทียวไปขึ้นศาล ซึ่งไม่ใช่แค่นัดเดียว แต่ต้องขึ้นศาลต่อเนื่องยาวนานเป็นปีๆ หนำซ้ำยังเป็นศาลจังหวัดนราธิวาส
- ต้องคิดหนักเรื่องความปลอดภัย
- ต้องคิดหนักเรื่องระยะทาง
- ต้องคิดหนักเรื่องผลกระทบสุขภาพ
- คดีลักษณะนี้มีแนวโน้มยืดเยื้อ และไม่จบในศาลเดียว อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 5-10 ปี บวกอายุปัจจุบันเข้าไป กว่าคดีจะจบ จำเลยอาจจะมีอายุถึง 85 ปี หรือเกือบ 90 ปี
หากคิดในมุมจำเลยทั้งหมด ย่อมไม่มีใครอยากขึ้นศาล และน่าจะต้องการให้คดีขาดอายุความมากกว่า ประกอบกับทุกคนเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง มีศักยภาพ มีลูกน้อง มีพรรคพวก จึงหลบหนีได้ไม่ยาก เพราะเหลือเวลาไม่มากคดีก็ขาดอายุความ (ศาลนราธิวาสประทับรับฟ้อง 23 ส.ค.64 ก่อนคดีขาดอายุความเพียง 2 เดือน 2 วัน)
ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่จำเลยทั้งหมดจะหายตัว หายหน้าไป ติดต่อไม่ได้ หาอย่างไรก็ไม่เจอ ราวกับนัดหมายกันไว้
2.คดีตากใบมีการจ่ายเยียวยา “กรณีพิเศษ” ในรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีเสียชีวิตรายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนบาดเจ็บ ทุพพลภาพ ก็ได้รับลดหลั่นกันลงไป แต่เป็นยอดเงินที่สูงกว่ากฎหมายกำหนด และยอดรวมการจ่ายเยียวยาเฉพาะกรณีตากใบกรณีเดียว เป็นเงินทั้งสิ้น 641 ล้านบาทเศษ
เป็นการจ่ายช่วยเหลือเยียวยาตามมติของคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้นเป็นประธาน โดยจ่ายงวดแรกจำนวน 3.5 ล้านบาท เมื่อวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2555
การจ่ายเยียวยากรณีพิเศษ ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี และคดีต้อง “ถึงที่สุดแล้ว” เท่านั้น ซึ่งในเอกสารแนบท้ายมติของคณะกรรมการเยียวยาฯ ก็มีการอ้างถึงคดีตากใบ 4 คดี ทั้งแพ่งและอาญาซึ่งสิ้นสุดทั้งหมดแล้วในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะคดี “ขาดอากาศหายใจ” ที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนระหว่างขนย้าย
เนื้อหาในส่วนนี้ระบุว่า “เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในสำนวนไต่สวนการตายว่า สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะขาดอากาศหายใจ ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ คือสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด”
ฉะนั้นหากคดีตากใบ “ยังไม่ถึงที่สุด” การจ่ายเยียวยา “กรณีพิเศษ” เมื่อปี 2555 ย่อมมีปัญหา ทั้งคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติ ทั้งคณะกรรมการเยียวยาฯชุดที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นประธาน และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะเลขาธิการ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะนั้น
คณะรัฐมนตรีในยุคนั้นมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ หรือ “นายกฯปู” เป็นน้องสาวของอดีตนายกฯทักษิณ และเป็น “อา” ของนายกฯแพทองธาร ชินวัตร นายกฯคนปัจจุบัน
รัฐมนตรีใน ครม.ชุดนั้น อย่างน้อยๆ 2-3 คน มีตำแหน่งใน ครม.ชุดปัจจุบันด้วย ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
น่าจะพอมองเห็นเค้าลางแล้วว่า เหตุใดคดีตากใบจึงไปต่อไม่ได้จริงๆ เพราะมิฉะนั้นอาจมี “มือดี” ไปยื่นสอยย้อนหลัง หรือดำเนินคดีอาญา ครม.ชุดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ได้เหมือนกัน
@@ เชื่อมีขบวนการ “สะกิดให้หนี”
เมื่อคดีตากใบถูก “บังคับวิถี” ให้ไปต่อไม่ได้ จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยและผู้ต้องหาจาก 2 สำนวนคดี รวม 14 คน พร้อมใจกันหายตัวไปทั้งหมด น่าจะมี “กระบวนการสะกิด นัดแนะกัน” โดยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แยกเป็น 2 กลุ่ม ได้ดังนี้
กลุ่มแรก จำเลย 7 คน จากสำนวนคดีแรกที่ศาลนราธิวาสประทับรับฟัอง คดีที่ประชาชนฟ้องเอง อาจจะต่างคนต่างไป เพราะล้วนมีศักยภาพ
กลุ่มที่ 2 ผู้ต้องหาอีก 8 คน ในสำนวนที่ 2 ซึ่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง (สำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม) ซึ่ง 1 ใน 8 ผู้ต้องหา เป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรก โดยอีก 7 คนที่เหลือ ส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย อีกส่วนหนึ่งเป็นพลเรือน
ผู้ต้องหากลุ่มนี้ไม่ได้มีศักยภาพในการ “หายตัวยาว” โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังรับราชการ อาจมีความผิดฐานขาดราชการ หรือหนีราชการได้
การที่ทั้งหมดหายตัวพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย จึงน่าจะมีรายการ “สะกิด” หรือ “ส่งซิกล่วงหน้า” ค่อนข้างแน่
@@ 2 ช่วง “สุญญากาศ” เปิดทางจำเลย/ผู้ต้องหาล่องหน
แต่เหตุปัจจัยที่ทำให้ทุกคนหายหน้าไปพร้อมกันได้ โดยกฎหมายเอื้อมมือไม่ถึง นอกเหนือจากรายการ “สะกิดล่วงหน้า” แล้ว ยังมีประเด็นช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพิสูจน์ยากว่า จงใจ หรือบังเอิญ
1.ศาลจังหวัดนราธิวาส มอบให้ “ตำรวจศาล” หรือ court marshal (คอร์ท มาแชล) ในการติดตามตัวจำเลย 7 คนที่ศาลประทับฟ้อง (ตามข้อมูลที่ผู้แทนตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวอ้าง)
เครือข่ายและศักยภาพของ “ตำรวจศาล” อาจไม่กว้างขวางเท่าตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และไม่ชัดเจนว่า มีการนำหมายจับเข้า “ระบบสืบจับ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะแจ้งไปยังทุกโรงพัก และทุกด่านตรวจคนเข้าเมืองหรือไม่
แนวโน้มน่าจะไม่มีการลิงค์ข้อมูลกัน จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้จำเลยหลบหนี
แม้จะมีข่าวว่ามีการประสานอัยการให้ตำรวจติดตามจับกุมจำเลยทั้งหมด แต่ผู้แทนตำรวจภูธรภาค 9 เคยยืนยันว่า ในขั้นตอนแรกใช้ “ตำรวจศาล” จึงอาจกลายเป็น “สุญญากาศ” ได้
2.คดีสำนวน 2 ที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องเมื่อ 18 ก.ย.67 เป็นคดีที่พนักงานสอบสวน “มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง” ฉะนั้นเมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างจากพนักงานสอบสวน จึงต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวนไปติดตามตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องคดี ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ต้องมีกระบวนการไปขออนุมัติศาลออกหมายจับ เหมือนเริ่มต้นใหม่ แตกต่างจากคดีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง แล้วส่งสำนวนไปยังอัยการ และอัยการก็สั่งฟ้องในทิศทางเดียวกัน
ประกอบกับคดีนี้ล่วงเลยเวลา “ผัดฟ้องฝากขัง” มานานมาก การติดตามตัวผู้ต้องหาหลังอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง จึงต้องเริ่มกันใหม่
ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่องว่าง หรือ “สุญญากาศ” ให้ผู้ต้องหาหลบหนี หรือหลบหน้าได้เช่นกัน
เมื่อทั้งสองขั้นตอนมี “สุญญากาศ” หรือ “ข้อจำกัด” ในการติดตามตัวจำเลยหรือผู้ต้องหา การจะไปฟ้องร้องตำรวจหรือผู้เกี่ยวข้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงเป็นไปได้ยาก หรืออาจไม่สามารถกระทำได้เลย
งานนี้คำตอบสุดท้ายของคดีตากใบจึงน่าจะขาดอายุความโดยสมบูรณ์ และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐรายใดไม่ได้อีก