ประเด็นจริยธรรม ซึ่งอาจมี “นักร้อง” ยื่นสอยทั้งพรรคเพื่อไทย และนายกฯแพทองธาร ชินวัตร โดยอาศัย “คดีตากใบ” เป็นสารตั้งต้น คือประเด็นที่ “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอเป็นสื่อแรกๆ ตั้งแต่มีปมคดีตากใบและหมายจับที่จับใครไม่ได้
กระทั่งล่าสุด นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่า คดีตากใบมีความอ่อนไหวต่อสถานะของรัฐบาลมากกว่า “คำร้อง” อีกหลายๆ คำร้องที่บรรดา “นักร้อง” ประเคนเข้าใส่นายกฯแพทองธาร และพรรคเพื่อไทยเสียอีก
จึงไม่แปลกที่วันนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนเริ่มออกมา “ลอยแพ” พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ในท่วงทำนอง “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต”
นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี : เมื่อวันที่ 13 ต.ค. พรรคเพื่อไทยพยายามเร่งรัดให้ พล.อ.พิศาล เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาล และในวันที่ 15 ต.ค. จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทย ก็จะทราบว่าคณะกรรมการพรรคจะมีมติในการดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
“หาก พล.อ.พิศาลไม่ลาออกจากการเป็น สส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะมีการขับออก เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาส่วนตัวของ พล.อ.พิศาลที่มีมานาน และพรรคเพื่อไทยพยายามรักษาความเป็นพรรคการเมืองอยู่ และจะไม่ปล่อยปะละเลยให้ใครทำผิด”
นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย : พรรคอ้อนวอนขอ อยากให้ พล.อ.พิศาล กลับมาสู้คดี แต่ถ้าเขากลับมาหลังจากที่คดีขาดอายุความแล้ว ตนยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะมีมาตรการออกมาแน่นอน อาจจะต้องขับออก
@@ ขู่ขับตอนนี้ ดูดีหรือช้าไป?
จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ มีกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่าย ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ก็เคยนำมาเสนอไว้ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ
// ในฐานะพรรคการเมือง //
- ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ พล.อ.พิศาล พร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายบ้านเมืองในการติดตามตัวมาขึ้นศาลตามหมายจับอย่างเต็มที่
- ออกมาตรการลงโทษ พล.อ.พิศาล เช่น ขับออกจากพรรค
- ประกาศมาตรการที่ชัดเจนว่า หากคดีขาดอายุความแล้ว พล.อ.พิศาล กลับมาประชุมสภา พรรคจะดำเนินการอย่างไร
// ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล //
- รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องสั่งการเร่งรัดให้ตำรวจติดตามจับกุม พล.อ.พิศาล โดยด่วน พร้อมปิดทางการหลบหนีไปต่างประเทศ
- รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลกระทรวงกลาโหม ต้องสั่งการเร่งรัดให้หน่วยต้นสังกัดคุมตัวผู้ต้องหาบางรายที่ยังรับราชการทหารอยู่ ส่งให้ตำรวจหรือศาล
- นายกฯแพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหัวหน้ารัฐบาล ควรแสดงจุดยืนหรือท่าทีที่ชัดเจนกว่านี้กับเรื่องที่เกิดขึ้น
แต่ที่ผ่านมาทั้งพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเพื่อไทย รวมถึงนายกฯแพทองธาร ไม่ได้ออกแอคชั่นอะไร การมาประกาศจะขับ พล.อ.พิศาล ออกจากพรรคในตอนนี้ จึงไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะทุกคนตั้งคำถามตรงกันว่า “สายเกินไปแล้วหรือเปล่า”
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ สส.เท้ง หัวหน้าพรรคประชาชน : สิ่งที่สำคัญคือการติดตามจำเลยกลับมาดำเนินคดีให้ทันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ การที่ยังไม่ดำเนินการอย่างเต็มที่ ปล่อยให้คดีขาดอายุความ แล้วค่อยมาขับออกทีหลัง สังคมก็สามารถตั้งข้อสงสัยได้ว่ารัฐบาลจริงใจกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
นางสาวภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคประชาชน : “วันนี้ท่านจะขับหรือไม่ขับ พล.อ.พิศาล เป็นเรื่องของท่าน แต่ท่านจะจับตัวจำเลยมาได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ หรือสุดท้ายจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไร้ความรับผิดรับชอบต่อคดีตากใบ ปล่อยจำเลยหลบหนีไปจนคดีหมดอายุความโดยไม่ทำอะไรเลย”
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : ใน 10 วันนี้ ถ้าหากรัฐบาลไม่ทำอะไรออกมาตามที่ควรจะเป็นตามความคาดหวังของประชาชน หลัง 25 ต.ค.นี้จะเป็นเรื่องที่กระทบกับรัฐบาลได้ เพราะปล่อยให้อายุความขาดไปโดยไม่ทำอะไร จะจับตัวได้หรือไม่ เอามาขึ้นศาลได้หรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องแสดงออกว่าได้กระทำเต็มที่แล้ว หาไม่แล้วเรื่องนี้จะถูกมองทันที และจะนำไปโยงกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ด้วยว่ามีเจตนาในการช่วยเหลือลูกน้อง หรือช่วยเพื่อนหรือไม่
@@ เอ็นจีโอ - พรรคส้ม รุมถล่มข้อมูลอีกด้านของตากใบ
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลจากบางฝ่าย รวมถึงพรรคเพื่อไทย ที่ยังคงพยายามอธิบายบทบาทการจัดการปัญหาตากใบของรัฐบาล ทั้งในอดีตและปัจจุบัน กล่าวคือ
รัฐบาลไทยรักไทยที่นำโดย อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีบทสรุปและข้อเสนอออกมาชัดเจน
รัฐบาลเพื่อไทยที่นำโดย อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จ่ายเยียวยากรณีพิเศษให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ รวมเป็นเงินถึง 641 ล้านบาท และยังมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่มีความสูญเสียในภาคใต้ทุกเหตุการณ์ได้รับเยียวยาด้วย ย้อนหลังถึงเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547
รัฐบาลเพื่อไทยปัจจุบันที่นำโดยนายกฯเศรษฐา ทวีสิน และนายกฯแพทองธาร ชินวัตร ก็ไม่ได้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และสนับสนุนให้มีกระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ผ่านกลไกกรรมาธิการ
แต่ปรากฏว่าฝ่ายที่เคลื่อนไหวเรียกร้องกรณีตากใบว่ารัฐยังไม่ให้ความเป็นธรรม ได้ออกมาโพสต์วิจารณ์ท่าทีของรัฐบาล รวมถึงนักวิชาการที่ออกมาเสนอข้อมูลอีกด้าน และพาดพิงถึงสื่อมวลชนบางแขนง อย่างศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา
เช่น โพสต์ข้อความของ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้ประสานงานให้ประชาชนฟ้องคดีตากใบต่อศาลนราธิวาส และโพสต์ข้อความของ นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
@@ ปมเยียวยาสุดอ่อนไหว สร้างกระแสรื้อคดีได้ใครต้องรับผิดชอบ
ประเด็นตากใบเริ่มมีความอ่อนไหว และเปิดขัอมูลอีกด้านขึ้นมาตอบโต้มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะข้อมูล “จ่ายเยียวยา 641 ล้านบาท” เริ่มมีการนำมาตั้งคำถามหลายข้อ เช่น
- การจ่ายเยียวยา “กรณีพิเศษ” ด้วยจำนวนเงินมากเป็นพิเศษ การจะจ่ายได้ คดีต้องถึงที่สุดแล้ว เหตุใดคดีตากใบจึงยังไม่ถึงที่สุด มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอะไรหรือไม่
- หากในอนาคตคดีตากใบถูกรื้อขึ้นมาได้จริงๆ และศาลตัดสินให้มีคนผิด จะส่งผลอย่างไรต่อเงินเยียวยาที่มีการจ่ายไปแล้ว จะต้องมีใครรับผิดชอบหรือไม่ และกระทบกับประชาชนที่รับเงินเยียวยาไปแล้วหรือไม่
- เรื่องนี้จะเป็นปัญหาเชิงความรู้สึกต่อไปด้วยหรือเปล่า โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่มีชื่อถูกฟ้องในคดีนี้เช่นกัน ทำให้อาจส่งผลต่อขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ทั้งระดับสั่งการและระดับปฏิบัติที่ยังทำงานในพื้นที่อยู่ในปัจจุบัน