กระแสเรียกร้องให้ติดตามตัวจำเลยและผู้ต้องหาคดีตากใบที่เชื่อกันว่าหลบหนีไปต่างประเทศเรียบร้อยแล้วอย่างน้อย 2 คนนั้น ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการอาจไม่ง่ายแบบนั้น
หากฟังเสียงจากพรรคประชาชน หรืออดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล พูดง่ายๆ คือ “เครือข่ายสีส้ม” เสนอให้ทำ 2 อย่าง คือ
หนึ่ง ประสานตำรวจสากล หรือ “อินเตอร์โพล” เพื่อ “ออกหมายแดง” ประกาศสืบจับไปยังประเทศสมาชิกอินเตอร์โพล ทั่วโลก
สอง ขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
สองเรื่องนี้แม้จะเกี่ยวเนื่องกัน แต่มีกระบวนการแยกจากกัน และค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร แม้ล่าสุด พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตำรวจไทยดำเนินการครบขั้นตอนในการขอหมายแดงอินเตอร์โพลแล้วก็ตาม
แต่หากเข้าใจกระบวนการทั้งหมด จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้ตัวคนที่เราต้องการ
// การออก “หมายแดง” โดยอินเตอร์โพล //
- เริ่มจากการมีหมายจับในประเทศก่อน กรณีของไทย ถือว่าองค์ประกอบนี้มีแล้ว เพราะจำเลยและผู้ต้องหาคดีตากใบ มีหมายจับ หรือหมายเรียกครบทุกคน
- กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับ ผบ.ตร. จะประสานขอออก “หมายเเดง” กับอินเตอร์โพล เพื่อประกาศจับไปยังชาติสมาชิกอินเตอร์โพลทั้ง 194 ประเทศทั่วโลก
ขั้นตอนนี้ใช้ระยะเวลาไม่นาน เพราะเป็นระบบออนไลน์ที่จะขึ้น “หมายแดง และ ประกาศสืบจับ” ในประเทศสมาชิก
- แต่ขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาคือ “การแจ้งเบาะแส” ไปยังชาติสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่ฝ่ายไทยเชื่อว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีไปกบดานอยู่ ซึ่งต้องมีถิ่นที่อยู่ค่อนข้างชัดเจน
เพราะต้องไม่ลืมว่า นี่คือ “ปัญหาของเรา” ไม่ใช่ “ปัญหาของเขา” ฉะนั้นการจะให้เขาช่วยจับ ก็ต้องมีข้อมูลแม่นยำ และอำนวยความสะดวกถึงที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้น ไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่ได้มีอิทธิพลเหนือชาติอื่น ไม่ใช่ชาติมหาอำนาจ ฉะนั้นประเทศที่ได้รับการประสาน อาจจะไม่ได้เกรงใจไทยมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องรีบจับ โดยเฉพาะหากข้อมูลหลักฐานไม่ชัดเจนมากพอ
คำถามคือ ณ เวลานี้ เรามีข้อมูลอย่างชัดแจ้งหรือยังว่า จำเลยหรือผู้ต้องหาคดีตากใบ หนีไปกบดานอยู่ประเทศใด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เบาะแสหรือไม่ ได้ทำเอกสาร แปลเอกสารแล้วหรือยัง โดยเฉพาะการส่งเอกสารให้ชาติสมาชิกหลังออกประกาศสืบจับแล้ว (ต้องแปลภาษาให้เขาอ่านง่าย เข้าใจง่ายด้วย)
สรุปขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา คือ
1.หาเบาะแส และหลักฐานที่ชัดเจน
- ตำรวจมีหรือยัง (เบาะแส)
- ตำรวจจริงจังที่จะหาหรือไม่
2.แปลเอกสารหมายจับ ข้อกล่าวหา และเบาะแสหลักฐาน ส่งอินเตอร์โพล (ผบ.ตร.อ้างว่าทำหมดแล้ว)
3.รออินเตอร์โพลออกหมายแดง แล้วทำเอกสารส่งไปชาติสมาชิกที่เรามีเบาะแสว่า คนที่เราต้องการตัวหลบหนีไปอยู่ที่นั่น
4.ปัญหาที่พบประจำ คือ พอบุคคลที่ทางการไทยต้องการตัว รู้ว่ากำลังจะโดนออกหมายแดงของอินเตอร์โพล เขาก็จะย้ายที่อยู่ และกบดาน ทางการไทยไม่รู้ หรือตามไม่ทัน ก็จะหาเบาะแสส่งประเทศปลายทางไม่ได้ ทำให้ล่าช้าในการติดตามจับกุม
ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนอินเตอร์โพล
// ขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน //
ส่วนขั้นตอนขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจบขั้นตอนอินเตอร์โพลแล้ว โดยตำรวจของมิตรประเทศสามารถจับกุมคนที่เราต้องการตัวได้
ต้องหมายเหตุว่า ต้องจับกุมได้ภายในอายุความด้วย สำหรับคดีตากใบ ก็คือภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ เพราะถ้าขาดอายุความ ตำรวจของประเทศที่ไปจับ ก็อาจจะถูกฟ้องได้เหมือนกัน เพราะต้องไม่ลืมว่า คนที่หนีไปพำนักต่างประเทศได้ ย่อมไม่ธรรมดา ต้องมีศักยภาพพอสมควร
- สมมติว่าจับกุมได้เรียบร้อย อำนาจการเป็น “ผู้ประสานงานกลาง” จะโอนไปที่ “อัยการสูงสุด” เพื่อทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ผ่านทางช่องทางกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศปลายทางส่งตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย มาดำเนินคดีในไทย
- หลักเกณฑ์พื้นฐานของการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน คือ เป็นคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรงพอสมควร หรือมีความเสียหายมากพอสมควร หากเป็นคดีเกี่ยวกับการเงิน (คือหนีไปอยู่ที่ไหนก็เสี่ยงเป็นอันตรายต่อพลเมืองในประเทศนั้น) และเป็นคดีอาญาที่เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ แต่ต้องไม่เป็นคดีทางการเมือง หรือศาสนา
- การขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดน จะมีการขอได้ 2 เเบบ 2 กรณี คือ
หนึ่ง กรณีมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามเเดนระหว่างกัน ซึ่งข้อมูล ณ ปี 2563 ไทยมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ 14 ประเทศ คือ
สหราชอาณาจักร / เบลเยี่ยม / สหรัฐอเมริกา / อินโดนีเซีย / ฟิลิปปินส์ / จีน / เกาหลีใต้ / ลาว / บังคลาเทศ / กัมพูชา / ฟิจิ / มาเลเซีย / แคนาดา / และออสเตรเลีย
แต่แม้จะมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ไม่ได้แปลว่าประเทศปลายทางจะส่งผู้ต้องหา หรือจำเลยให้ทุกกรณี เพราะยังมีหลักการอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบกันด้วย เช่น เป็นคดีการเมืองหรือศาสนาหรือไม่ และที่สำคัญที่สุด คือเป็นสิทธิ์ของประเทศนั้นๆ ว่าจะส่งให้หรือไม่
ยกตัวอย่าง กรณีกัมพูชา เคยมีผู้ต้องหาคดีต่างๆ จากไทย หลบหนีไปพำนักอยู่จำนวนมาก หลายกรณีก็ไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งก็ขึ้นกับเหตุผลการพิจารณาของกัมพูชา อาจจะมองว่าเป็นคดีการเมืองก็ได้ ประเทศไทยจะไปแทรกแซงไม่ได้ เพราะในทางกลับกัน กรณีประเทศอื่นขอมาที่ไทย ฝ่ายไทยก็มีเอกสิทธิ์ในการพิจารณาเช่นกัน
สอง กรณีไม่มีสนธิสัญญาร่วมกัน จะใช้หลักการ “ต่างตอบแทน” โดยการทำคำมั่นสัญญาว่า หากส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมายังประเทศต้นทางในครั้งนี้แล้ว ก็จะดำเนินการต่างตอบแทนให้ หากประเทศปลายทางต้องการตัวผู้ร้ายของตนบ้าง
ขั้นตอนการประสานงานเหล่านี้ ล้วนใช้เวลามาก โดยเฉพาะการแปลเอกสารหลักฐาน ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณ
ประเทศไทยในอดีต บางคดี มีปัญหาไม่มีงบแปลเอกสาร หรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญแปลกด้วยซ้ำ จนทำเอกสารส่งผู้ร้ายข้ามแดนล่าช้ามาแล้ว เช่น กรณีที่เคยเกิดกับคดี “บอส รอดทุกข้อหา” จนเป็นข่าวเกรียวกราว
นอกจากนั้น หลายประเทศที่ยึดหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน เช่น ยุโรป เมื่อจับกุมผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ฝ่ายเราต้องการตัวได้ ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยยังสามารถต่อสู้คดีได้ โดยร้องต่อศาลของประเทศนั้น
ยกตัวอย่าง กรณี นายราเกซ สักเสนา พ่อมดการเงินที่หนีคดีจากไทย ไปกบดานที่แคนาดา ซึ่งแม้จะถูกจับกุมได้ แต่นายราเกซสู้คดีที่แคนาดา ใช้เวลาถึง 13 ปี กว่าที่ศาลแคนาดาจะสั่งให้ส่งตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย
ฉะนั้นหากมองระยะเวลาที่เหลือเพียง 14 วันในคดีตากใบ โอกาสที่จะใช้กลไกอินเตอร์โพล และขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีให้ทันอายุความ ต้องยอมรับว่าริบหรี่จริงๆ
-----------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี